CEO กรุงไทย โชว์ศักยภาพขับเคลื่อนนวัตกรรมดิจิทัล “ปิดช่องว่าง สร้างอนาคต” เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นสำหรับคนไทย ในเวทีประชุมระดับโลก ICIS 2024

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เข้าร่วมงานประชุมระดับโลก International Conference on Information Systems (ICIS 2024) โดยประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ระหว่างวันที่ 15-18 ธันวาคม 2567 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการจัดการประชุมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีนักวิชาการ นักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และ นิสิต นักศึกษา ลงทะเบียนเข้าร่วมกว่า 1,700 คน จาก 46 ประเทศทั่วโลก ณ โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค

นายผยง ได้ร่วมเวทีเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในหัวข้อ “ดิจิทัลแฟลตฟอร์มสำหรับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ : ปิดช่องว่าง สร้างอนาคต” ร่วมกับ Mr.Balaji Ganapathy Chief Social Responsibility Officer Tata Consultancy Service ว่า ธนาคารได้ปรับตัวปรับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงได้ตัดสินใจพัฒนา Mobile Banking ซึ่งเป็นระบบปิด พร้อมกับพัฒนาระบบเปิด หรือ Open Finance ในเวลาเดียวกัน เพื่อให้สามารถเติบโตแบบก้าวกระโดด และก้าวนำคู่แข่งได้ โดยนำ Cloud Technology มาใช้เพื่อรองรับปริมาณการใช้งานจำนวนมาก และรองรับการใช้งานที่มีการประมวลผลข้อมูลในแบบเรียลไทม์ พร้อมเรียนรู้กรณีศึกษาจากต่างประเทศ ทั้ง Concept ของ Open Finance ที่ได้จากกรณีศึกษาของ Santander Bank และ BBVA ในยุโรป รวมถึงกรณีศึกษาในประเทศจีน ที่ออกแบบระบบรองรับการใช้งานจำนวนมากได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ธนาคารสามารถปรับโครงสร้างระบบให้ทันสมัย และรองรับการใช้งานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ การพัฒนาระบบเปิด ทำให้ธนาคารสามารถเชื่อมต่อข้อมูล และสร้าง Ecosystem ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของ COVID-19 ธนาคารใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลช่วยรัฐบาลในการแจกจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลและกลุ่มผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการธนาคารได้ โดยใช้ระบบ Digital ID เชื่อมต่อประชาชนกับบริการของรัฐบาล ช่วยให้การจ่ายเงินช่วยเหลือเป็นไปอย่างรวดเร็วและโปร่งใส อีกทั้ง ยังช่วยจัดการในเรื่องการฉีดวัคซีน COVID-19 และช่วยเหลือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากภาคการท่องเที่ยวที่ลดลง ทำให้สามารถเพิ่มผู้ใช้งาน จาก 3.5 ล้านคน เป็น 40 ล้านคน ได้ในเวลา 3 ปี

นายผยง กล่าวว่า การขับเคลื่อนนวัตกรรมในองค์กรไม่ใช่แค่เรื่องการออกแบบหรือเริ่มต้นให้ถูกต้อง แต่ต้องมีการเรียนรู้และปรับตัวอย่างต่อเนื่องผ่าน Lesson Learned ซึ่งจะช่วยให้สามารถพัฒนาเทคโนโลยีหรือบริการใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ได้ตรงจุด นอกจากนี้ ต้องมีแพลตฟอร์ม ที่สามารถใช้งานได้จริง ดึงดูดผู้ใช้งาน และรักษาผู้ใช้งานไว้ได้ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในระยะยาว โดยกุญแจสำคัญในการเปลี่ยนแปลงคือ Operating Model ซึ่งต้องมีการปรับและเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตามความต้องการและพลวัตของเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล หากไม่แน่ใจว่า ทั้งองค์กรและชุมชนที่เกี่ยวข้องสามารถตามทันการเปลี่ยนแปลงนี้ อาจส่งผลให้เกิด Digital Divide หรือความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยี ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมในสังคม ธนาคารจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนา Ecosystem ที่ทุกฝ่ายสามารถร่วมมือกันอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยี

“ธนาคารกรุงไทย เป็นผู้ใช้งานเทคโนโลยี ไม่ใช่เจ้าของเทคโนโลยี จึงมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ตามวัตถุประสงค์ของธนาคาร และได้นำเทคโนโลยี AI มาใช้ประโยชน์ ทั้ง Automation, Predictive AI, Machine Learning และ Generative AI เพื่อให้การดำเนินงานในธนาคารมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเสริมสร้างชีวิตที่ดีขึ้นสำหรับคนไทยทุกคน ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ของธนาคารกรุงไทย”

นายผยง กล่าวว่า ภาคธนาคารเผชิญความท้าทายต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่า ในอีก 5-7 ปี ข้างหน้าอย่างน้อย 30% ของแรงงานในภาคธนาคาร จะได้รับผลกระทบจากการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ คำถามสำคัญคือ ธนาคารจะสามารถ Reskill พนักงานให้สามารถปรับตัวทันกับการเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ นอกจากนี้ การปรับกระบวนการทำงานและโครงสร้างพื้นฐานด้าน IT ให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงได้ในเวลาที่รวดเร็วจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ธนาคารสามารถแข่งขันและเติบโตได้ในอนาคต อีกทั้งการจัดหาทุนสำหรับการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำให้เสร็จสิ้นอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต