การยกระดับคุณภาพชีวิตสู่เมืองอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยีAI

เมืองอัจฉริยะทำหน้าที่เสมือนสนามและพื้นที่ทดลองสำหรับเทคโนโลยีและหลักการสำคัญต่างๆ ที่มีส่วนช่วยในการผลักดันเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหม่ หรือ “ยุคอุตสาหกรรม 5.0” นั่นเอง สำหรับยุคนี้นั้นถือเป็นการก้าวผ่านจากยุคอุตสาหกรรม 4.0 ที่ได้มุ่งเน้นไปที่การทำงานของระบบอัตโนมัติเป็นหลัก สู่การทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างมนุษย์และเครื่องจักรผ่านระบบอัจฉริยะ วันนี้ OPEN-TEC ศูนย์รวมองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี (Tech Knowledge Sharing Platform) ภายใต้การดูแลของ TCC TECHNOLOGY GROUP จะพาไปทำความเข้าใจถึงบทบาทสำคัญของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการยกระดับคุณภาพชีวิตสู่เมืองอัจฉริยะ

การพัฒนาสภาพแวดล้อมของเมืองอัจฉริยะนั้นจำเป็นต้องพึ่งพาปัจจัยหลายอย่างที่จะช่วยให้สามารถก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 5.0 อาทิเช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI), ระบบผสานการควบคุมทางกายภาพกับระบบคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกัน(cyber-physical systems), โมเดลการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์และเครื่องจักร (human-machine collaboration models), การมุ่งเน้นถึงความยั่งยืน และการดำเนินงานที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (data-driven operations)เป็นต้น ซึ่งโดยพื้นฐานแล้ว เมืองอัจฉริยะมีสภาพแวดล้อมและกรณีศึกษาที่สามารถใช้พัฒนา ทดสอบ และปรับปรุงโดยเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนด้วย AI ซึ่งเป็นรากฐานของยุคอุตสาหกรรม 5.0

ถึงแม้ว่า AI ได้ถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องมาหลายปี ความแม่นยำยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการประสบความสำเร็จ และยังมีอีกแรงที่ขับเคลื่อนความก้าวหน้าของ AI ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของความพร้อมใช้งานของข้อมูลและการเพิ่มขึ้นของกำลังในการประมวลผล โดย Cloud Computing ถือเป็นรากฐานอันดับต้นของการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ที่ช่วยให้สามารถเข้าถึงบริการและทรัพยากรต่างๆได้ทั่วโลก ซึ่งสำหรับเมืองอัจฉริยะ สมองส่วนกลางของ AI (Centralized AI brain) นั้นสามารถที่จะรับรู้ ทำความเข้าใจ และรวบรวมข้อมูลจากการเลียนแบบประสาทสัมผัสของมนุษย์ อาทิเช่น การมองเห็น การได้ยิน การดมกลิ่น และอุณหภูมิได้ เป็นต้น อีกทั้งยังเสริมด้วยโครงสร้างเครือข่ายที่แข็งแกร่งที่จะช่วยส่งต่อข้อมูลไปถึงสมอง AI (AI brain) เพื่อส่งเสริมให้เกิด “Smart Visibility” หรือ การรับรู้สถานการณ์แบบภาพรวมที่สามารถให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมของพลเมืองได้ ในขณะเดียวกันก็ยังคงปฏิบัติตามกฎระเบียบและข้อกำหนดของการใช้ข้อมูลได้อย่างเหมาะสม

นอกจากนี้ ความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือยังเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญเช่นกัน ซึ่ง ระบบ AI ควรที่จะสามารถตรวจสอบและตรวจจับภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นได้ พร้อมตอบสนองผ่านการวิเคราะห์ขั้นสูง รวมไปถึงการระบุความผิดปกติและทำการแจ้งเตือน โดยปัจจุบัน บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่หลายแห่งกำลังให้ความสนใจกับการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อขยายขอบเขตการทำงานของ AI โดยมุ่งเน้นในการสร้างระบบอัจฉริยะที่มีศักยภาพสูงมากขึ้น ทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายได้ อย่างเช่น การรับรู้ระยะไกล เพื่อการตัดสินครอบคลุมและขับเคลื่อนด้วยข้อมูลในทุกขั้นตอนของการดำเนินการของเมือง เป็นต้น ซึ่งหลักการสำคัญของเมืองอัจฉริยะนั้นจะมีตั้งแต่

  • ออนไลน์: การเชื่อมต่อและเข้าถึงบริการและข้อมูลออนไลน์ได้ทุกที่ทุกเวลาสำหรับพลเมืองและการดำเนินงานของเมือง
  • AI อันดับแรก: ระบบ AI ทำหน้าที่เสมือนสมองอัจฉริยะสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูล การดำเนินการอัตโนมัติ และการตัดสินใจในทุกฟังก์ชันของเมือง
  • ครอบคลุมทุกการเชื่อมต่อ: การเชื่อมต่อที่ไร้รอยต่อของเซ็นเซอร์ อุปกรณ์ ระบบ แพลตฟอร์ม และฐานข้อมูลทั่วเมืองผ่านการเชื่อมต่อ IoT
  • โครงสร้างพื้นฐาน: ชั้นพื้นฐานสำคัญที่ประกอบด้วยเครือข่ายความเร็วสูง การประมวลผลบนคลาวด์ มาตรการความปลอดภัยทางไซเบอร์ และความสามารถในการจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ
  • Digital Twin: การจำลองแบบ 3 มิติของทรัพย์สินทางกายภาพของเมืองเพื่อจำลอง ทำนาย และเพิ่มประสิทธิภาพที่สูงขึ้น

ความเชี่ยวชาญด้าน Digital Twin: การจำลองเสมือนอย่างมีจุดมุ่งหมาย

แกนหลักของ Digital Twin ที่จะมีประสิทธิภาพได้นั้นต้องเกิดจากวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน ข้อมูลที่แข็งแกร่ง การโคลนนิ่งเสมือนอย่างถูกต้อง และเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย

โดยวัตถุประสงค์จะเป็นตัวขับเคลื่อนการทำงานทั้งหมดของ Digital Twin ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของการวางแผนเมือง การปรับปรุงประสิทธิภาพของการดำเนินงาน หรือการยกระดับประสบการณ์ของพลเมือง ดังนั้น การมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนจะเป็นแนวทางที่สำคัญในการรวบรวมข้อมูลจากระบบ sensor ที่มีอย่างแพร่หลายทั่วทั้งเมือง เพื่อนำมาออกแบบโลกความเป็นจริงได้อย่างครอบคลุมทุกมิติ

ยิ่งไปกว่านั้น กระบวนการโคลนนิ่งได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีต่างๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) การพัฒนาอัลกอริทึมที่สามารถเรียนรู้จากข้อมูลและปรับปรุงประสิทธิภาพของตัวเองโดยไม่ต้องถูกเขียนโปรแกรมโดยตรง (Machine Learning)และการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง (advanced data analytics) เพื่อนำมาสร้างแบบจำลองเสมือนที่แม่นยำอย่างมากของทรัพย์สินและระบบในเมือง โดยแบบจำลองเหล่านี้จะเชื่อมต่อและปรับข้อมูลให้ตรงกันอย่างต่อเนื่องกับข้อมูลแบบเรียลไทม์ที่กำลังไหลเข้ามาอย่างสม่ำเสมอ

อีกทั้ง ในมุมมองด้านสภาพแวดล้อมเสมือน นักวางแผนเมืองและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถจำลองสถานการณ์ต่างๆ โดยระบุปัญหาที่อาจเกิดขึ้น และประเมินแนวทางแก้ไขก่อนที่จะนำไปใช้ในโลกความเป็นจริง ซึ่งการวางแผนจำลองเหตุการณ์เสมือนของแต่ละเมืองไว้ก่อนนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ

นอกจากนี้ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนยังเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพ เนื่องจากผู้ให้บริการเทคโนโลยีต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในท้องถิ่น ซึ่งการทำงานร่วมกันนี้ช่วยให้ Digital Twin สามารถจับภาพความซับซ้อนที่จับต้องได้ และความละเอียดอ่อนของสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่จับต้องไม่ได้ที่มันสะท้อนได้อย่างแม่นยำ โดยการร่วมมือกับผู้ให้บริการโซลูชั่นเทคโนโลยีที่เชื่อถือได้สามารถสร้างคุณค่ามหาศาลได้ในระหว่างกระบวนการนี้

ท้ายที่สุดแล้ว พลังของ Digital Twins เกิดจากการรวมกันอย่างเชี่ยวชาญของวัตถุประสงค์ ข้อมูล ความสามารถในการโคลนนิ่งจำลองเสมือน และเทคโนโลยีอัจฉริยะ เมื่อจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านความร่วมมือ แบบจำลองเสมือนเหล่านี้จะสามารถกระตุ้นการพัฒนาได้ในด้านการวางผังเมือง การจัดการทรัพยากร ประสิทธิภาพการดำเนินงาน และประสบการณ์ของพลเมือง

จากที่กล่าวไปข้างต้น จะเห็นได้ว่าหลักการต่างๆชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของข้อมูลที่มีบทบาทในชีวิตประจำวันและการวิเคราะห์เชิงปริมาณจากแพลตฟอร์มต่างๆ ในการเชื่อมโยงข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ

การแพร่ระบาดของ Covid-19 เร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมตั้งแต่การทำธุรกรรมแบบไร้เงินสด การโต้ตอบทางออนไลน์ และการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลอย่างรวดเร็วในทุกภาคส่วน ซึ่งทำให้เป็นจุดกำเนิดของเมืองอัจฉริยะที่ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน จำเป็นต้องร่วมมือกันพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับพลเมือง นอกจากนี้ อีกหนึ่งตัวช่วยอย่าง AI ด้านภาษาที่สามารถรองรับได้มากกว่า 50 ภาษา ได้ถูกพัฒนาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของเมืองอัจฉริยะด้วยเช่นกัน โดยจะอำนวยความสะดวกและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการได้อย่างยั่งยืนครอบคลุมภาษาและวัฒนธรรมให้แก่พลเมืองอย่างหลากหลาย

อีกทั้ง ยังพัฒนาต่อยอดสู่ “Super Apps” รุ่นใหม่ที่จะเข้ามาทำหน้าที่รวบรวมตั้งแต่ข้อมูลส่วนบุคคล การยินยอมในการใช้ข้อมูล การจัดการสาธารณูปโภค และอื่นๆ ผ่านการรักษาความปลอดภัยด้วย Blockchain โดยระบบ AI ขั้นสูงจะช่วยยกระดับการประมวลผลบนคลาวด์ ให้สามารถขับเคลื่อนบริการอัจฉริยะของภาครัฐ ภาคการเงิน การขนส่ง การตอบสนองเหตุฉุกเฉิน และการพยากรณ์อากาศ การเรียนรู้และการเพิ่มประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้โซลูชั่น AI เหล่านี้มีความแม่นยำสูงสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานผ่านการตรวจจับและป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ผู้นำด้านเทคโนโลยีระดับโลกส่วนใหญ่ได้ทำดำเนินออกแบบโครงการเมืองอัจฉริยะจำนวนมากในหลากหลายพื้นที่ทั่วโลก ผ่านการดำเนินงานบนระบบคลาว์และศูนย์บัญชาการเพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลที่แข็งแกร่ง ซึ่งเป้าหมายโดยรวมคือการสร้างสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืน ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ นำไปสู่ “City Intelligent Twin” ที่ผสานผสานโลกเสมือนและโลกความจริงเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน และนำไปสู่การพัฒนาบริการสาธารณะและสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับทุกคน

สุดท้ายนี้ ในขณะที่เมืองอัจฉริยะยังคงพัฒนาให้เป็นห้องปฏิบัติการในชีวิตจริง ผู้นำทั้งหลายก็จะเร่งพัฒนาเทคโนโลยีให้พร้อมเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 5.0 ในขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ทดสอบเพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์และ AI และกระบวนการสำหรับสภาพแวดล้อมของเมืองในยุคถัดไป

เนื้อหาข้างต้นถูกรวบรวมโดย OPEN-TEC ศูนย์รวมองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี (Tech Knowledge Sharing Platform) ภายใต้การดูแลของ TCC TECHNOLOGY GROUP โดยอ้างอิงจากข้อมูลจากคุณสุรศักดิ์ วนิชเวทย์พิบูล CTO of Huawei Thailand Cloud Business บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ภายในงาน TMA: Digital Dialogue 2024 และ Open Talk EP. 30 กับ ผศ.ดร. สรรพวัฒน์ จตุพัฒน์วรางกูร ตอน Transforming new way of Building Management with Digital Twin [Link]

บทความโดย OPEN-TEC