30 พฤศจิกายน 2566 กรุงเทพฯ -สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือ ทีเอ็มเอ (TMA) เผยผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศโดย World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development หรือ IMD สวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2566 โดยปีนี้ไทยมีอันดับดีขึ้น 5 อันดับมาอยู่ในอันดับที่ 35 จาก 64 เขตเศรษฐกิจ จากการปรับตัวดีขึ้นของปัจจัยที่ใช้ในการจัดอันดับทั้ง 3 ด้าน
จากปัจจัยหลักที่ IMD ใช้ในการจัดอันดับ 3 ด้าน ด้านเทคโนโลยี (Technology) เป็นปัจจัยที่มีอันดับดีที่สุด โดยอยู่ในอันดับที่ 15 ดีขึ้นกว่าปี 2565 ถึง 5 อันดับ ในขณะที่ด้านความรู้ (Knowledge) และด้านความพร้อมสำหรับอนาคต (Future Readiness) มีอันดับดีขึ้น 4 และ 7 อันดับ ตามลำดับแต่ยังคงอยู่ในอันดับที่ไม่สูงนัก คือ อันดับที่ 41 และ 42 ตามลำดับ
ในระดับอาเซียนที่ IMD มีการจัดอันดับเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้รวม 5 เขตเศรษฐกิจ ไทยอยู่ในอันดับที่ 3 ของอาเซียนรองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย โดยสิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 3 และมาเลเซียอยู่อันดับที่ 33 โดยมีปัจจัยที่เป็นจุดเด่นได้แก่ ความพร้อมด้านเทคโนโลยี ส่วนอินโดนีเซียมีอันดับดีขึ้นถึง 6 อันดับมาอยู่ที่ 45 และฟิลิปปินส์มีอันดับลดลง 3 อันดับ มาอยู่ที่อันดับที่ 59
เมื่อมองภาพรวมในระดับโลก เขตเศรษฐกิจที่มีอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลสูงที่สุด 10 อันดับแรกในปี 2566 มีประเทศในทวีปยุโรปถึง 5 ประเทศ อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกากลับขึ้นมาอยู่อันดับ 1 ในปีนี้ จากการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านความรู้ เทคโนโลยี และความพร้อมสำหรับอนาคต ตามมาด้วย เนเธอร์แลนด์ ที่อันดับ 2 ปรับตัวดีขึ้นถึง 4 อันดับจากปีที่ผ่านมา
สำหรับประเทศ/เขตเศรษฐกิจอื่นที่ได้รับการจัดอันดับใน 10 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 3 สิงคโปร์ อันดับ 4 เดนมาร์ก อันดับ 5 สวิตเซอร์แลนด์ อันดับ 6 เกาหลีใต้ อันดับ 7 สวีเดน อันดับ 8 ฟินแลนด์ อันดับ 9 ไต้หวัน ซึ่งเข้ามาอยู่ใน 10 อันดับเป็นครั้งแรก และอันดับ 10 ฮ่องกง ซึ่งจะเห็นได้ว่าในปีนี้ มี 4 ประเทศในทวีปเอเชียที่มีขีดความสามารถสูงติดใน 10 อันดับแรกของการจัดอันดับในปีนี้
นายธีรนันท์ ศรีหงส์ ประธานศูนย์เพื่อการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA Center for Competitiveness) กล่าวว่า “นับเป็นแนวโน้มที่น่ายินดีที่ไทยมีอันดับดีขึ้นถึง 5 อันดับในปีนี้ โดยดีขึ้นในทุกๆปัจจัย ถึงแม้ว่าใน 2 ปัจจัยที่มีความสำคัญต่อความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวโดยเฉพาะในยุคที่ AI และเทคโนโลยีอื่น ๆ กำลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว คือด้านความรู้ (Knowledge) และด้านความพร้อมสำหรับอนาคต (Future Readiness) จะยังอยู่ในอันดับที่ไม่ดีนัก อย่างไรก็ตามก็นับว่ายังมีแนวโน้มในทางบวก เช่นในเรื่องของการสร้างกำลังคนที่มีศักยภาพ (Talent) ที่นอกเหนือจากความพยายามทั้งในภาครัฐและเอกชนในการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล ยังมีการปรับปรุงกฎระเบียบที่ช่วยดึงดูด Talent จากภายนอกประเทศเข้ามาทำงานในประเทศไทยง่ายขึ้น รวมถึงบทบาทของหน่วยงานภาครัฐที่ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการพัฒนาประเทศให้เป็นเศรษฐกิจฐานดิจิทัล (Digital Economy) ซึ่งภาคธุรกิจได้สะท้อนผ่านการสำรวจความคิดเห็นอีกด้วย ทั้งนี้ประเด็นสำคัญที่ประเทศไทยจะต้องให้ความสำคัญในขณะนี้ คือ การก้าวให้ทันเทคโนโลยีด้าน AI ในขณะเดียวกันก็ต้องยกระดับความสามารถในด้าน Cyber Security และ Privacy Protection เป็นอย่างมาก ซึ่งสะท้อนผ่านการจัดอันดับในด้าน Government cyber security capacity ที่อยู่ในอันดับที่ 58 และ Privacy protection by law content ที่อยู่ในอันดับที่ 43”
ทั้งนี้ สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) เห็นความสำคัญของการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงทั้งในภาครัฐและเอกชน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพขององค์กรและบุคลากรในด้านการบริหารจัดการโดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การสร้างความสามารถในการติดตามและคาดการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและตั้งเป้าหมายเชิงรุกผ่านกิจกรรมต่างๆ ของ TMA และในวันที่ 13 ธันวาคม 2566 เวลา 14.00-15.30 น. ณ ห้องบอลรูม โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ จะมีการจัดสัมมนา Executive Forum on Competitiveness ที่จะมีวิทยากรจาก IMD มานำเสนอถึงข้อค้นพบจากการจัดอันดับ World Digital Competitiveness Ranking ประจำปี 2566 และข้อมูลเกี่ยวกับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยอย่างเจาะลึกในการสัมมนาดังกล่าว