หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เปิดตัวโครงการสนับสนุนทุนวิจัยพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ที่เข้าใจและสามารถประมวลผลภาษาไทย “โอเพ่นไทยจีพีที” หรือ LLM (Large Language Model) ที่สามารถประมวลผลภาษาไทยได้เร็วกว่า ChatGPT ถึง 10 เท่า ด้วยการพัฒนาฐานข้อมูล Dictionary ภาษาไทยมากกว่า 25,000 คำ ตอบโจทย์การสืบค้นข้อมูล แปลภาษา และสร้างข้อมูลอัตโนมัติภาษาไทย จัดการความซับซ้อนของการแบ่งคำ การใช้วรรณยุกต์ไทย
งานสัมมนา “Generative AI (OpenThaiGPT): the Challenges and Opportunities for Thailand” โดย บพข. แผนงานดิจิทัลแพลตฟอร์ม
ร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล
สมาคมผู้ประกอบการ ปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIEAT) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.)
คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) Amazon Web Services (Thailand) Ltd
และ Prof. William Sanders คณบดี College of Engineering จาก Carnegie Mellon University
โดย “โอเพ่นไทยจีพีที” เป็น Opensource ที่ร่วมกันพัฒนาจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนด้านเอไอของไทย จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ และสร้างโอกาสแก่นักพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ Generative AI และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านดิจิทัลได้อย่างยั่งยืน
รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ บพข. ได้เป็นประธานเปิดงานสัมมนา “Generative AI (OpenThaiGPT): the Challenges and Opportunities for Thailand” โดย บพข. แผนงานดิจิทัลแพลตฟอร์ม ร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล สมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIEAT) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) Amazon Web Services (Thailand) Ltd และ Prof. William Sanders คณบดี College of Engineering จาก Carnegie Mellon University ร่วมหารือและให้ข้อคิดเห็นถึงแนวโน้มในการแข่งขัน (Competitiveness) ของประเทศ ด้าน Generative AI ที่ Victor Club สามย่านมิตรทาวน์
ดร.ธงชัย กล่าวว่า บพข. เป็นหน่วยงานซึ่งทำหน้าที่จัดสรรทุนวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและภาคบริการ รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มนวัตกรรม และบุคลากรชำนาญการสูงด้านปัญญาประดิษฐ์ ด้านอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สุขภาพการแพทย์ ที่มีศักยภาพในระดับสากล และตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตามแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม พ.ศ. 2566 – 2570 ยุทธศาสตร์ที่ 1 tech เพิ่มความสามารถภาครัฐ และภาคเอกชน
“วันนี้ ถือเป็นการปักหมุดที่ บพข. และหน่วยงานชั้นนำด้านปัญญาประดิษฐ์ของไทย จะร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนา Generative AI การสร้างระบบนิเวศและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ต่อยอดการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีอยู่เดิมให้มีประสิทธิภาพอย่างเป็นระบบ โอเพ่นไทยจีพีที จะเป็นการเริ่มต้นที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ” ดร.ธงชัย กล่าว
รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ บพข. และ ผศ.ดร.วรรณรัช สันติอมรทัต ประธานหน่วยบูรณาการ
ประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ ววน. (SAT) ด้านดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ สกสว.
ผศ.ดร.วรรณรัช สันติอมรทัต ประธานหน่วยบูรณาการประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ ววน. (SAT) ด้านดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และประธานคณะอนุกรรมการแผนงานดิจิทัลแพลตฟอร์ม บพข. กล่าวว่า สกสว. และ บพข. ทำหน้าที่เชื่อมโยงทุกภาคส่วนให้เกิดการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ของประเทศให้ทัดเทียมนานาประเทศ ตามแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565 – 2570) ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีเอไอของประเทศเพื่อสร้างความสามารถให้แก่ เครื่องจักรและคอมพิวเตอร์ ด้วยอัลกอริทึมและกลุ่มเครื่องมือทางสถิติ เพื่อสร้างซอฟต์แวร์ทรงปัญญา ที่สามารถเรียนรู้ เลียนแบบความสามารถของมนุษย์ที่ซับซ้อนได้ ในบางกรณีอาจไปถึงขั้นเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มีบทบาทสำคัญที่จะช่วยยกระดับการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศอย่างยั่งยืน
Prof. William Sanders คณบดี College of Engineering จาก Carnegie Mellon University ได้บรรยายในหัวข้อ “AI Engineering : A Transformative Paradigm for Engineering” ว่า จากปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ ในอดีตซึ่งถูกกล่าวถึงในหนังไซไฟ มาถึงการพัฒนาอัลกอริทึม จนปัจจุบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI Engineering) กลายเป็นระบบที่มีอิทธิพลกับทุกสิ่งในโลกปัจจุบัน การพัฒนาศักยภาพของวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความล้ำสมัยในอัลกอริทึมและเทคโนโลยีของปัญญาประดิษฐ์ แต่วิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ต้องถูกพัฒนาตั้งแต่ต้นทาง โดยผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ที่จะทำให้ระบบมีประสิทธิภาพสูงสุด และมีความน่าเชื่อถือ ดังนั้นควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคคลากรด้านวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์
Prof. William Sanders คณบดี College of Engineering จาก Carnegie Mellon University
ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร นายกสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIEAT) ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า โอเพ่นไทยจีพีที ปัจจุบันได้เปิดตัวไปถึง 3 โมเดล ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 โดยโมเดลล่าสุด ที่สามารถประมวลผลภาษาไทยได้เร็วกว่า ChatGPT ถึง 10 เท่า ด้วยการพัฒนาฐานข้อมูล Dictionary ภาษาไทยมากกว่า 25,000 คำตอบโจทย์การสืบค้นข้อมูล แปลภาษา และสร้างข้อมูลอัตโนมัติภาษาไทย จัดการความซับซ้อนของการแบ่งคำ การใช้วรรณยุกต์ไทย โดย โอเพ่นไทยจีพีที ปัจจุบันได้มีนักพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ดาวน์โหลดโค้ดต้นฉบับได้ฟรี ในการนำโค้ดไปพัฒนาต่อยอดทางธุรกิจไปกว่า 3,000 ครั้ง และจากการสนับสนุนทุนวิจัย บพข. ให้พัฒนา LLM ภาษาไทย และปรับปรุงประสิทธิภาพด้วย Reinforcement learning from Human Feedback (RLHF) ซึ่งเป็นเทคนิคหนึ่งในการฝึกฝนโมเดล โดยมีการใส่ความคิดเห็นของมนุษย์เข้าไปเหมือน ChatGPT ทำให้โอเพ่นไทยจีพีทีใหม่ ที่มีความฉลาดมากขึ้น ให้สามารถผ่านการสอบโอเน็ตระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยมีฐานข้อมูลชุดโดยเตรียมเปิดตัวโมเดลใหม่ในต้นปีหน้า
ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร นายกสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIEAT)
หัวหน้าโครงการวิจัย