Infor คาดการณ์แนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มในปี 2566

จะมีการใช้ระบบอัตโนมัติและการปรับใช้ AI/ML, ความคล่องตัวและต้นทุนของซัพพลายเชน, นวัตกรรมด้านอาหาร และความต้องการของผู้บริโภคในด้านความโปร่งใสและความยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น

บทความโดย นายเทอร์รี สมา, รองประธานอาวุโสและผู้จัดการทั่วไป ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น, อินฟอร์

ในปี 2566 อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มต่างพากันแสวงหาช่องทางใหม่ ๆ สำหรับผลิตภัณฑ์ การคัดเลือกซัพพลายเออร์เพื่อสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ รวมถึงเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อให้ธุรกิจมีความพร้อมมากขึ้นสำหรับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อุตสาหกรรมฯ ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งได้กระตุ้นและผลักดันให้ธุรกิจต้องเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในปีนี้บริษัทอาหารและเครื่องดื่มจะยังคงพึ่งพาโซลูชันคลาวด์เพื่อทำให้สถานการณ์ต่าง ๆ ดีขึ้น และจะขยายธุรกิจเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ในขณะเดียวกันก็ต้องรับมือกับแรงกดดันจากความไม่แน่นอนของซัพพลายเชนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศด้วย

แนวโน้มและการคาดการณ์ในปี 2566 ที่บริษัทอาหารและเครื่องดื่มควรคำนึงถึง ได้แก่:

  1. ความคล่องตัวและต้นทุนของซัพพลายเชน: การเปลี่ยนแปลงคือเรื่องปกติ สิ่งที่แน่นอนเพียงหนึ่งเดียวสำหรับซัพพลายเชนทั่วโลกคืออนาคตที่ไม่สามารถคาดเดาได้ กอปรกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้นและปัจจัยภายนอกอื่น ๆ เช่น ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และการขาดแคลนชิปทั่วโลก ซัพพลายเชนด้านอาหารและเครื่องดื่มจึงต้องมีความคล่องตัวในการวางแผน เพื่อให้สามารถตรวจพบปัญหาได้ตรงจุดตั้งแต่เนิ่น ๆ อีกทั้งยังต้องยืดหยุ่นและมีแผนรับมือกับสิ่งที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิดจากความผันผวนด้านอุปสงค์และอุปทานที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง รวมทั้งต้องคอยจับตาดูผลกระทบที่เกิดกับการผลิตอย่างใกล้ชิด สำหรับปี 2566 นี้ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มจะเพิ่มทางเลือกด้านวัตถุดิบและซัพพลายเออร์มากขึ้น เพื่อชดเชยกับการหยุดชะงักของอุปทาน ดังนั้น องค์กรจะต้องตอบสนองความต้องการให้ถูกต้องแม่นยำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้มั่นใจในการดำเนินงานที่ราบรื่นและประสิทธิภาพสูงสุดในการผลิต
  2. ระบบอัตโนมัติสำหรับการผลิต: แน่นอนว่าการขาดแคลนแรงงานทั่วโลกได้กลายเป็นปัญหาหลังการแพร่ระบาดที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เนื่องจากแรงงานรุ่นใหม่สนใจอาชีพที่ตอบโจทย์ความต้องการของตนมากกว่าการจ้างงานตลอดชีพ อนึ่ง จากแรงกดดันที่ต้องรักษาอุปทานให้สอดคล้องกับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น บริษัทอาหารและเครื่องดื่มจะต้องลงทุนในเทคโนโลยี Industry 4.0 เพื่อทดแทนแรงงานที่ขาดแคลน เช่น การใช้แมชชีนเลิร์นนิง (ML) ในการจดจำภาพ (image recognition) เพื่อให้กระบวนการต่าง ๆ ซึ่งเดิมต้องใช้พนักงานจำนวนมากในการตรวจคัดเลือกสามารถดำเนินการได้โดยอัตโนมัติ เช่น ในการคัดแยกขนาด, การคัดคุณภาพ, การตัดชิ้นและการฝาน เป็นต้น บริษัทอาหารและเครื่องดื่มที่นำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เหล่านี้มาใช้ก่อนก็มีแนวโน้มจะขึ้นแท่นครองตลาดได้ในอนาคต
  3. การใช้ AI และ ML เพิ่มขึ้น: ธุรกิจที่ใช้คลาวด์จะนำปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) และแมชชีนเลิร์นนิง (Machine Learning: ML) มาใช้งานเพิ่มขึ้นอีกมาก เช่น บริษัทที่ทำผลิตภัณฑ์จากนมแห่งหนึ่งได้นำแมชชีนเลิร์นนิงมาใช้งาน เพื่อเพิ่มผลผลิตและลดของเสียในการผลิตชีสให้เหลือน้อยที่สุด ในอดึตเมื่อเกิดปัญหา บริษัทฯ ทำได้เพียงย้อนกลับไปตรวจสอบผลผลิตและพารามิเตอร์ที่เกี่ยวข้องไม่กี่ชนิด เช่น โปรตีน ไขมันเนย และอุณหภูมิ ซึ่งก็สายเกินไปแล้วที่จะปรับปรุงผลผลิตให้ดีขึ้น ทว่าทุกวันนี้ บริษัทที่ทำผลิตภัณฑ์จากนมสามารถใช้พารามิเตอร์ที่เกี่ยวข้องอีกมากมายมาปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง โดยอัตราผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น 1% จะประหยัดค่าใช้จ่ายของบริษัทได้ถึง 500,000 เหรียญสหรัฐฯ และเราจะได้เห็นวิธีการประหยัดค่าใช้จ่ายอย่างชาญฉลาดเหล่านี้มากขึ้นในปีหน้า
  4. เร่งความเร็วนวัตกรรมด้านอาหาร: การเปลี่ยนแปลงส่วนผสม การจัดหาจากซัพพลายเออร์รายอื่น ตลอดจนการลดขนาดบรรจุภัณฑ์เพื่อรองรับการขาดแคลนและการปรับขึ้นราคาจะเป็นเทรนด์ใหม่ที่ได้รับความนิยมมาก ยิ่งไปกว่านั้น นวัตกรรมด้านอาหารที่แท้จริงกำลังจะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ ด้วยแรงหนุนจากผู้บริโภคและความเต็มใจของบริษัทอาหารขนาดใหญ่ที่จะลงทุนในนวัตกรรมเหล่านี้ ส่งผลให้สตาร์ทอัปจำนวนมากที่ทำธุรกิจด้านโปรตีนทางเลือก เช่น เนื้อสัตว์ในห้องแล็บ หรือผลิตภัณฑ์จากนมสังเคราะห์เติบโตอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังมีการเร่งความเร็วของนวัตกรรมผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคโดยนำเสนอในบรรจุภัณฑ์ขนาดต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงส่วนผสม หรือจัดหาจากซัพพลายเออร์รายอื่น ๆ
  5. ความโปร่งใสเพื่อผู้บริโภค: บรรดาผู้บริโภคต่างต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ตนซื้อ เช่น แหล่งที่มา, วิธีการปฏิบัติต่อเกษตรกรและสัตว์เลี้ยง, ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม, ประโยชน์ที่จะได้รับ เป็นต้น สำหรับการเรียกร้องของผู้บริโภคนอกจากจะเป็นโอกาสให้ผู้แปรรูปอาหารและเครื่องดื่มได้บอกเล่าเรื่องราวผ่านบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะที่แสดงให้เห็นถึงการตรวจสอบย้อนกลับและความสดใหม่ของสินค้าหรืออื่น ๆ แล้ว ยังทำให้ผู้ผลิตสามารถเชื่อมต่อและมีส่วนร่วมกับผู้บริโภคในรูปแบบดิจิทัลได้อีกด้วย เพราะสามารถรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ที่มีอยู่มากมาย เพื่อนำไปใช้ในการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ปัจจุบันและ/หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ของบริษัท
  6. ความยั่งยืนและความโปร่งใส: เมื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกลายเป็นปัญหาที่รุนแรงมากขึ้น อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มก็ย่อมได้รับผลกระทบอย่างไม่ต้องสงสัย บริษัทจะต้องคำนึงถึงทางเลือกในการจัดหาผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น และใช้ประโยชน์จากแมชชีนเลิร์นนิงเพื่อลดการใช้พลังงาน น้ำ และอาหารเหลือทิ้ง ส่วนภาคการผลิต ธุรกิจจะให้ความสำคัญกับการลดของเสียเป็นหลัก (น้ำ, พลังงาน, อาหาร) เฉกเช่นเดียวกับการขยายซัพพลายเชนทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ เช่น แนวทางปฏิบัติด้านการเกษตร การปฏิบัติตามมาตรฐานรับรอง และการขนส่ง เป็นต้น

ดังนั้น การประเมินซัพพลายเออร์โดยพิจารณาจากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดจึงเป็นสิ่งสำคัญ เช่น ปริมาณมลพิษที่เกิดขึ้นระหว่างการผลิตและการขนส่ง เป็นต้น ส่วนการจัดหาวัตถุดิบในท้องถิ่นไม่เพียงแต่จะเป็นการสนับสนุนชุมชนเท่านั้น แต่ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมอีกด้วย นอกจากนี้ การทำให้ธุรกิจมีความยั่งยืนมากขึ้นด้วยการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นำกลับมาใช้ซ้ำได้หรือเป็นวัสดุที่รับประทานได้ก็สามารถช่วยลดของเสียและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เช่นกัน ดังนั้น การที่ภาครัฐและสาธารณะกดดันให้องค์กรรายงานความคืบหน้าด้านความยั่งยืนและความโปร่งใส แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่าความโปร่งใสของซัพพลายเชนทั้งระบบยังคงเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรก

สำหรับประเทศไทย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ เผยภาพรวมของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มมีประเด็นที่น่าจับตามองในด้าน (1) แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงเปราะบาง ซึ่งจะทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคในตลาดอาจจะปรับลดและส่งผลกระทบถึงเรื่องค่าใช้จ่ายที่รวมถึงด้านอาหารและเครื่องดื่มได้ ซึ่งอาจส่งผลให้ยอดขายเกิดการชะลอตัวในระยะต่อไป (2) ต้นทุนการผลิตยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง เนื่องจากต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นในหลาย ๆ ส่วนตลอดห่วงโซ่การผลิต ในฐานะผู้บริโภคปลายน้ำจะสังเกตเห็นได้ว่าราคาสินค้าหลายอย่างแพงขึ้น ส่งผลกระทบให้ค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อในประเทศเพิ่มสูงขึ้นด้วย (3) การให้ความสำคัญเรื่องอาหารปลอดภัย (Food safety) ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญมาก ดังนั้นผู้ผลิตฯ จะต้องยกระดับมาตรฐานการผลิตให้มีความปลอดภัยและตรวจสอบย้อนกลับได้เพื่อให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้น (4) แนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลายและเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น ปัจจุบันกลุ่มผู้บริโภค Gen Y หรือ Gen Z ที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น จะชอบเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่ปรุงแต่งน้อยลง และยังมีแนวโน้มที่จะบริโภคเนื้อสัตว์น้อยลงด้วย ส่วนอีกกลุ่มที่ไม่สามารถมองข้ามได้คือ กลุ่มผู้สูงอายุที่เติบโตและขยายตัวมากขึ้น เนื่องจากประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคม Aging Society ดังนั้นผู้ผลิตฯ จะต้องปรับตัว ปรับสูตรผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มนี้ให้มากขึ้นด้วย และสุดท้าย (5) แนวโน้มการแข่งขันจากสินค้าทดแทนหรือสินค้านวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม plant-based หรือโปรตีนทางเลือกจากพืช หรือกลุ่มของ lab-grown meat ซึ่งเป็นเนื้อสัตว์เทียม แม้ว่าปัจจุบันสินค้ากลุ่มนี้จะยังไม่อยู่ในกระแสหลักของตลาด แต่จะเริ่มเห็นพัฒนาการที่ก้าวหน้าและชัดเจนขึ้น ทำให้เชื่อได้ว่าในอนาคตสินค้ากลุ่มนี้จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในตลาดอาหารอย่างแน่นอน

จากประเด็นท้าทายทั้งห้าเรื่องด้านบน ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มจะต้องคิดใหม่ทำใหม่ ปรับกลยุทธ์เพื่อให้ตอบโจทย์เทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อรับมือกับความท้าทายและการแข่งขันในตลาดต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น

ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับนวัตกรรมซอฟต์แวร์ระบบคลาวด์ที่เราให้บริการแก่ของธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม

ที่มา: เอฟเอคิว