ในระหว่างการประชุมอัลตราบรอดแบนด์ ฟอรัม ประจำปี 2565 (UBBF 2022) นายไซมอน หลิน (Simon Lin) รองประธานอาวุโสของหัวเว่ย และประธานกรรมการบริหาร หัวเว่ย ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “สร้างการเติบโตด้วยการเชื่อมต่อขั้นสูง” (Advanced Connectivity, Boost Growth) โดยเผยถึงแผนงานในการช่วยให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมปลดล็อกมูลค่าของการเชื่อมต่อได้อย่างเต็มศักยภาพทั้งในสภาพแวดล้อมการใช้งานที่บ้านและในระดับองค์กร ตลอดจนการใช้เครือข่ายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาสีเขียวของอุตสาหกรรมต่าง ๆ
การเชื่อมต่อในบ้าน: รองรับการเชื่อมต่อระบบสมาร์ทโฮมกับเครือข่ายบรอดแบนด์ด้วยความเร็วระดับกิกะบิต เพื่อสร้างรายได้จากการให้บริการเชื่อมต่อภายในบ้าน
การอัปเกรดเครือข่ายในบ้านและการเกิดขึ้นของบริการใหม่ ๆ เช่น การไลฟ์สตรีม ทำให้การเชื่อมต่อด้วยความเร็วระดับกิกะบิตเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้น โดยบริการกิกะบิตบรอดแบนด์สามารถมอบประสบการณ์การใช้งานที่หลากหลาย สร้างโมเดลธุรกิจใหม่สำหรับผู้ให้บริการเครือข่าย และสนับสนุนการสร้างรายได้จากการเชื่อมต่อ ซึ่งนายไซมอน หลิน ได้แนะนำ 3 วิธีในการสร้างรายได้จากการเชื่อมต่อเครือข่ายในบ้าน ได้แก่
- บริการกิกะบิต ทู โฮม (Gigabit to Home): การติดตั้งใช้งานไฟเบอร์ออปติกในวงกว้างและรวดเร็วเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างวงจรธุรกิจที่ดีสำหรับผู้ให้บริการเครือข่าย เนื่องจากสามารถลดต้นทุนต่อสาย (cost per line) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้ผู้ให้บริการเครือข่ายสามารถเปิดตัวบริการกิกะบิตโดยมีรายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้ (ARPU) สูงขึ้น
- บริการกิกะบิต ทู รูม (Gigabit to Room): โซลูชัน Fiber to the Room (FTTR) แบบออปติคัลทั้งหมดของหัวเว่ย สามารถแก้ปัญหาการเชื่อมต่อจากบริการกิกะบิตในบ้านที่ให้แบนด์วิดท์เพียง 100 Mbps โดยโซลูชันดังกล่าวสามารถรองรับการเชื่อมต่อด้วยความเร็วระดับกิกะบิตในแต่ละห้อง อีกทั้งยังรองรับการตั้งค่าเครือข่ายในบ้านจากระยะไกล และลดต้นทุนการบำรุงรักษาและการดำเนินงาน (O&M) ของผู้ให้บริการลงได้มากกว่า 50% ทั้งนี้ ประสบการณ์การใช้บริการและเครือข่ายที่ดีทำให้ผู้ให้บริการเครือข่ายสามารถคิดค่าบริการในอัตราพิเศษ (premium rate) และทำยอดขายได้สูงขึ้น
- บริการกิกะบิต พลัส (Gigabit + Services): ผู้ให้บริการเครือข่ายสามารถรวมบริการกิกะบิตในบ้านเข้ากับบริการใหม่ ๆ เช่น การให้บริการบรอดแบนด์ตามลักษณะการใช้งาน บริการอินเทอร์เน็ต และบริการอุปกรณ์สมาร์ทโฮม เพื่อเพิ่ม ARPU โดยปัจจุบัน ผู้ให้บริการเครือข่ายเพิ่งเริ่มนำแนวทางดังกล่าวไปปรับใช้ และขยายบริการใหม่ ๆ จากเครือข่ายไฟเบอร์ออปติกในบ้าน พร้อมสำรวจความเป็นไปได้ใหม่ ๆ เพิ่มเติมในอนาคตอย่างไร้ขีดจำกัด
การเชื่อมต่อระดับองค์กร: รองรับการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลขององค์กร เพื่อสร้างรายได้จากการให้บริการเชื่อมต่อแบบส่วนตัว (private Line) และเครือข่ายแบบส่วนตัว (private network)
การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมส่งผลให้ต้องมีการอัปเกรดการเชื่อมต่อ ซึ่งอุตสาหกรรมต่าง ๆ มีความต้องการระบบเชื่อมต่อที่แตกต่างกัน ผู้ให้บริการเครือข่ายจึงต้องจัดหาโซลูชันการเชื่อมต่อให้ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายขององค์กร โดยปัจจุบัน บริการต่าง ๆ พากันโยกย้ายไปยังระบบคลาวด์ จึงเป็นโอกาสให้ผู้ให้บริการเครือข่ายสามารถขยายพื้นที่ทางธุรกิจได้ ซึ่งในกรณีนี้ นายไซมอน หลิน กล่าวว่า ผู้ให้บริการเครือข่ายสามารถสร้างรายได้จากการให้บริการเชื่อมต่อสำหรับองค์กรได้ 3 วิธี ดังนี้
- การอัปเกรดแบนด์วิดท์สำหรับบริการเชื่อมต่อแบบส่วนตัว: บริการเชื่อมต่อแบบส่วนตัว (private line) สำหรับองค์กร เป็นตลาดที่มีมูลค่าสูง โดยครอบคลุมทั้งเครือข่ายแคมปัสและเครือข่ายศูนย์ข้อมูลขององค์กร แบนด์วิดท์ของบริการเชื่อมต่อส่วนตัวได้รับการอัปเกรดจาก Gbps เป็น 10 Gbps เพื่อมอบการเชื่อมต่อคุณภาพสูงทั้งในและนอกเครือข่ายแคมปัสและศูนย์ข้อมูล
- โซลูชันที่แตกต่างกันตามลักษณะการใช้งาน: การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลขององค์กรต้องการบริการเชื่อมต่อเครือข่ายที่หลากหลาย ผู้ให้บริการสามารถให้บริการเชื่อมต่อแบบ private line ตามลักษณะการใช้งานเพื่อเพิ่มรายได้ ตัวอย่างเช่น การให้บริการ private line ที่มีแบนด์วิดท์สูงเป็นพิเศษสำหรับอุตสาหกรรมสื่อ และที่มีความหน่วงต่ำระดับมิลลิวินาที หรือบริการคลาวด์ที่เน้นความปลอดภัยสำหรับบริษัทหลักทรัพย์
- อัปเกรดจากบริการ private line เป็น private network: เนื่องจากองค์กรที่มีสาขาจำนวนมากจำเป็นต้องเข้าถึงระบบคลาวด์หลายระบบ จึงจำเป็นต้องใช้การเชื่อมต่อในรูปแบบ N x N โดยผู้ให้บริการเครือข่ายสามารถใช้เทคโนโลยี multi-cloud backbone และเทคโนโลยีการแบ่งส่วนเครือข่าย (network slicing) เพื่ออัปเกรดการเชื่อมต่อจาก private line เป็น private network ซึ่งให้บริการเครือข่ายที่คาดการณ์ได้สำหรับองค์กร
โซลูชันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม: เครือข่ายแบบออปติคัลทั้งหมดที่ใช้งานง่าย ชาญฉลาด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยผลักดันการพัฒนาสีเขียวในอุตสาหกรรมต่าง ๆ
นายไซมอน หลิน กล่าวว่า หัวเว่ยกำลังร่วมมือกับผู้ให้บริการเครือข่ายเพื่อช่วยหน่วยงานกำหนดมาตรฐานอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union-Telecommunication Standardization Sector หรือ ITU-T) กำหนดมาตรฐาน และร่วมกันกำหนดระบบตัวบ่งชี้ความเข้มข้นของคาร์บอนของเครือข่าย (Network Carbon Intensity energy หรือ NCIe)
“ในหินอ่อนแต่ละก้อนมีประติมากรรมซ่อนอยู่ แต่มีเพียงศิลปินที่ยิ่งใหญ่เท่านั้นที่จะสามารถแกะสลักหินออกมาเป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่ได้” นายไซมอน หลิน กล่าว โดยชี้ให้เห็นว่าผู้ให้บริการเครือข่ายมีความได้เปรียบด้านการเชื่อมต่อ และจะสร้างมูลค่าจากบริการเชื่อมต่อได้อย่างไร้ขีดจำกัด หากพวกเขาสามารถปลดล็อกการเชื่อมต่อได้อย่างเต็มศักยภาพ นอกจากนี้ เขายังระบุด้วยว่า หัวเว่ยจะยังคงสำรวจเทคโนโลยีการเชื่อมต่อและโซลูชั่นต่าง ๆ ร่วมกับลูกค้าและคู่ค้า และทำงานร่วมกับผู้ให้บริการเครือข่ายเพื่อส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจต่อไป
รูปภาพ – https://mma.prnewswire.com/media/1932719/Simon_Lin_Senior_Vice_President_Huawei_President_Huawei_Asia_Pacific_Region.jpg
คำบรรยายภาพ – นายไซมอน หลิน รองประธานอาวุโสของหัวเว่ย และประธานกรรมการบริหาร หัวเว่ย เอเชียแปซิฟิก