ซีเมนส์ เฮลท์ธิเนียร์ส ตอกย้ำผู้นำนวัตกรรมการดูแลสุขภาพ พร้อมยกระดับอุตสาหกรรมการแพทย์ด้วยนวัตกรรม “Patient Twinning”

ซีเมนส์ เฮลท์ธิเนียร์ส เผยเทคโนโลยีดิจิทัลจะเข้ามามีบทบาทในการยกระดับการรักษาพยาบาลให้มีประสิทธิภาพและล้ำสมัยยิ่งขึ้น พร้อมตอกย้ำจุดยืนความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมการแพทย์ เปิดตัว “Patient Twinning” นวัตกรรมล่าสุดที่สามารถจำลองระบบภายในร่างกายของผู้ป่วยด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ช่วยให้แพทย์สามารถตรวจสอบความผิดปกติของอวัยวะภายในได้อย่างละเอียด ทั้งยังจำลองการตอบสนองของร่างกายผู้ป่วยต่อการรักษาและให้ความแม่นยำในการวินิจฉัยโรค พร้อมเดินหน้าต่อยอดเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สร้างความรุดหน้าให้อุตสาหกรรมการแพทย์เติบโตแบบก้าวกระโดดต่อไปในอนาคต

นายบีเยิร์น โบเด็นสไตน์ กรรมการผู้จัดการบริษัทซีเมนส์ เฮลท์ธิเนียร์ส ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งการปรับตัวของตลาดเข้าสู่โลกดิจิทัล และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์เพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นสวนทางกับจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ รวมไปถึงความคาดหวังของผู้ป่วยต่อผลลัพธ์การรักษาที่สูงขึ้น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) จึงเข้ามามีบทบาทในการรักษาพยาบาลมากขึ้น ด้วยความสามารถในการประมวลผลสูง และการมีหน่วยความจำที่มีประสิทธิภาพ สามารถเชื่อมต่อเข้ากับระบบโครงข่าย และขยายขีดความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ความท้าทายของการรักษาในปัจจุบัน ซึ่ง ซีเมนส์ เฮลท์ธิเนียร์ส ได้นำเทคโนโลยีนี้เข้ามาตอบโจทย์ความรุดหน้าทางการแพทย์ และช่วยผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพทั่วโลกเตรียมความพร้อม สำหรับแนวโน้มที่ของเทรนด์การดูแลสุขภาพที่จะเปลี่ยนไปในอนาคต

“ซีเมนส์ เฮลท์ธิเนียร์ส เราเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมทางการแพทย์จากประเทศเยอรมัน มีเป้าหมายที่จะเป็นผู้บุกเบิกนวัตกรรมการดูแลสุขภาพเพื่อผู้คนทั่วโลก โดยบริษัทฯ มุ่งมั่นพัฒนาสินค้าและบริการทางการแพทย์อย่างต่อเนื่องด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และผลิตภัณฑ์ดิจิทัล ล่าสุดได้เปิดตัวผลงานนวัตกรรมต้นแบบที่จะมายกระดับวงการแพทย์ให้รุดหน้าไปอีกขั้น ด้วยมาตรฐานการรักษารูปแบบใหม่ที่เรียกว่านวัตกรรม “Patient Twinning” หรือการรักษาแบบเสมือนจริง ด้วยการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์อันเป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของ ซีเมนส์ เฮลท์ธิเนียร์ส ในการสร้างอวัยวะในโลกเสมือนจริงเปรียบได้กับการสร้างฝาแฝดของผู้ป่วยขึ้นมาเพื่อวิเคราะห์และหาต้นตอของการเกิดโรค ในขณะที่เทคโนโลยี AI จะทำหน้าที่ขจัดความซับซ้อนที่เป็นอุปสรรคต่อการวิเคราะห์ผู้ป่วยและจำลองการตอบสนองของร่างกายต่อการรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ บนคอมพิวเตอร์ก่อนลงมือรักษาจริง ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถตรวจสอบความผิดปกติของอวัยวะภายในได้อย่างละเอียด และสามารถวินิจฉัยโรคได้แม่นยำมากขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยลดขั้นตอนการรักษาที่ไม่จำเป็น รวมไปถึงลดความเสี่ยงในการรักษาที่ผิดพลาด ทำให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถวางแผนการรักษาล่วงหน้าเพื่อผลลัพธ์การรักษาที่ดีที่สุดเพื่อผู้ป่วยของพวกเขาได้อีกด้วย” นายบีเยิร์น กล่าว

สำหรับนวัตกรรม Patient Twinning ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาโมเดลต้นแบบ ซึ่งในอนาคตอาจมีความเป็นไปได้ที่จะนำเข้ามาจำหน่ายในไทยเพื่อตอบโจทย์การรักษาผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมดังกล่าวถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของวงการแพทย์ในไทย เพื่อส่งเสริมการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนให้ผลลัพธ์การรักษาผู้ป่วยที่ดียิ่งขึ้นด้วย ซึ่งนอกจากเทคโนโลยี Patient Twinning ที่เป็นไฮไลท์สำคัญของปีนี้ ซีเมนส์ เฮลท์ธิเนียร์ส ยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ

  • AI-Rad Companion -ระบบฐานข้อมูล (Big Data) ที่รวบรวมภาพผลการวินิจฉัยโรคของซีเมนส์ เฮลท์ธิเนียร์ส ที่มีอยู่ทั่วโลก เพื่อช่วยกำหนดทิศทางให้แพทย์วินิจฉัยแนวโน้มรอยโรคของผู้ป่วยได้แม่นยำยิ่งขึ้น จากการเทียบเคียงภาพของผู้ป่วยและผลการวินิจฉัยในคลังข้อมูล ทำให้วิเคราะห์โรคได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น และเพิ่มความครอบคลุมในการวินิจฉัยโรคของแพทย์ผู้รักษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย
  • syngo Virtual Cockpit – ระบบเชื่อมต่อทางไกลระหว่างแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับอุปกรณ์ทางการรักษา ที่ช่วยลดช่องว่างการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์เฉพาะทางในการเข้าถึงการรักษาผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล โดยเทคโนโลยีนี้จะช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้ทุกที่ทุกเวลาไม่ว่าจะอยู่มุมใดของโลกผ่านการเข้าระบบ Virtual Cockpit ทำให้แพทย์สามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างละเอียดทุกขั้นตอนเสมือนไปวินิจฉัยโรคอยู่ตรงหน้าผู้ป่วย โดยยังคงได้ผลลัพธ์การวินิจฉัยที่ถูกต้องละแม่นยำที่สุด
  • Cinematic Reality – การนำเสนอภาพทางการแพทย์ที่สมจริงที่สุด ผ่านเทคโนโลยี Cinematic Rendering ในทางการแพทย์จะใช้ในการสร้างภาพอวัยวะหรือร่างกายของผู้ป่วยขึ้นมาบนโลกเสมือนจริง หรือการทำให้ภาพเอกซเรย์อวัยวะในร่างกายธรรมดาๆ กลายเป็น ภาพที่สามารถเคลื่อนไหวหรือจับต้องได้ ด้วยมุมมองภาพ 3 มิติ สามารถปรับเปลี่ยนทิศทางได้ตามความต้องการของแพทย์ และขจัดข้อจำกัดการมองเห็นสำหรับการวินิจฉัยอวัยวะและระบบภายในร่างกายที่ผิดปกติได้ ซึ่งให้ความละเอียดสูง สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และภาพจะชัดเจนและมีมิติสมจริงยิ่งขึ้นเมื่อดูผ่านเทคโนโลยีความเป็นจริงแบบเสมือน (VR)

“ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานที่ผ่านมา เรายังคงเดินหน้าที่จะพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ จากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าอีกขั้นของ ซีเมนส์ เฮลท์ธิเนียร์ส ซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลงแห่งอุตสาหกรรมเครื่องมือทางการแพทย์ โดยนวัตกรรมของเรามีจุดเด่นด้านการผสานโลกดิจิทัลและโลกกายภาพเข้าไว้ด้วยกัน การันตีจากสิทธิบัตรเทคโนโลยี Machine Learning กว่า 700 ชิ้น สิทธิบัตร Deep Learning อีกกว่า 275 ชิ้น รวมไปถึงยังเป็นเจ้าของแอปพลิเคชัน AI-based อีกกว่า 60 แอปฯ ซึ่งทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาเทคโนโลยีของเราเพื่อพัฒนาคุณภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตลอดจนสามารถขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพไปสู่ยุคดิจิทัลที่สมบูรณ์แบบต่อไปในอนาคต” นายบีเยิร์น กล่าวสรุป

ที่มา: เจซีแอนด์โค คอมมิวนิเคชั่นส์