บนเส้นทางชีวิต การบรรลุสู่จุดหมายที่แท้จริง สำคัญที่ “การเลือก” โดยเฉพาะอย่างยิ่งโลกยุคดิจิทัลที่ไร้พรมแดน ที่ต้องติดปีก “นักเดินทาง” ด้วย “ภาษาคอมพิวเตอร์”
เพื่อให้ “การเลือก” เส้นทางชีวิตของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งเปรียบเสมือน “นักเดินทางสู่อนาคตของมวลมนุษยชาติ” เป็นไปอย่างมีทิศทาง และยั่งยืน จำเป็นต้องมีการวางแผนที่ครอบคลุมการแก้ปัญหาในภาพรวมอย่างเป็นระบบ
ประเทศไทยจึงได้บรรจุทักษะการคิดเชิงคำนวณ(Computational Thinking) ไว้ในกลุ่มการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของเยาวชน ในยุทธศาสตร์ชาติด้านการเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ยุทธศาสตร์ 20 ปี(พ.ศ.2561 – 2580)
อาจารย์ ดร.ชัยยงค์ รักขิตเวชสกุล อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงความสำคัญของวิธีคิดแบบวิทยาการคำนวณว่า เป็นปัจจัยสำคัญของการเขียนโปรแกรมด้วยภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding)
ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาสู่การเป็น “นักพัฒนาซอฟต์แวร์” (Software Developer) อาชีพที่มีบทบาทสำคัญในโลกยุคดิจิทัลซึ่งขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของการบ่มเพาะบัณฑิตของคณะฯ เพื่อให้ตอบโจทย์โลกในศตวรรษที่ 21
ในการเขียนโปรแกรมด้วยภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) นั้นไม่สำคัญเพียงการมีความรอบรู้ทางคอมพิวเตอร์(Computer Literacy) แต่จะต้องมีความสามารถในการคิดและการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบด้วย โดยสามารถประยุกต์ใช้ได้ในทุกด้านที่ขับเคลื่อนด้วยซอฟต์แวร์ ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของการคิดคำนวณ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน การลงทุน เศรษฐกิจ หรือสุขภาพ ฯลฯ
พลวัตของการเขียนโปรแกรมด้วยภาษาคอมพิวเตอร์(Coding) เริ่มต้นจากการสร้าง “Source Code” หรือการเขียนโปรแกรมที่อิงตามขั้นตอนวิธี (Alogoritm) ที่คิดเอาไว้เพื่อให้ได้ตามผลลัพธ์ที่ต้องการ ก่อนเดินหน้าพัฒนาสู่การใช้งานจริง
บ่อยครั้งผู้พัฒนาโปรแกรมเลือกที่จะใช้การสร้างโค้ดโคลน”Code Clone” หรือการคัดลอกชุดคำสั่งที่เขียนไว้แล้วจากแหล่งข้อมูลโค้ดขนาดใหญ่ เช่น เว็บไซต์ Stack Overflow หรือ GitHub มาใช้ในซอฟต์แวร์ที่ตนพัฒนา เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่วางแผนไว้ แต่ต้องพบกับความเสียหายในภายหลัง เมื่อที่เลือกนำมาใช้นั้นมีลิขสิทธิ์ และมีใบอนุญาต(License) ที่ไม่ตรงกับซอฟต์แวร์ที่ตนพัฒนา หรือมาพร้อมกับปัญหาต่างๆ เช่น บั๊ก หรือปัญหาด้านความปลอดภัย
จากปัญหาอุปสรรคดังกล่าว อาจารย์ ดร.ชัยยงค์ รักขิตเวชสกุล จึงได้ริเริ่มวิจัย เรื่อง “การตรวจวัดความเหมือนของโค้ดและการค้นหาโค้ดโคลนในข้อมูลโค้ดขนาดใหญ่” (Code Similarity and Clone Search in Large-Scale Source Code Data) ตั้งแต่เมื่อครั้งยังศึกษาในระดับปริญญาเอก ณมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (University College London) สหราชอาณาจักร ด้วยทุนพัฒนาอาจารย์ของคณะICT และของมหาวิทยาลัยมหิดล
โดย อาจารย์ ดร.ชัยยงค์ รักขิตเวชสกุล ประสบผลสำเร็จจากการสร้างสรรค์และพัฒนาเครื่องมือตรวจสอบการนำโค้ดข้อมูลมาใช้ซ้ำจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการนำเครื่องมือมาใช้เพื่อศึกษา Code Clone ที่อาจทำให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์ หรือมีปัญหาความปลอดภัยได้เครื่องมือดังกล่าวสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อช่วยเหลือนักพัฒนาในระหว่างการพัฒนาโปรแกรมได้
จากความโดดเด่นของผลงานการวิจัยที่มากด้วยคุณค่าทางวิทยาการคำนวณ ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อไปในวงกว้าง ส่งผลให้ในเวลาต่อมา อาจารย์ ดร.ชัยยงค์ รักขิตเวชสกุล สามารถคว้ารางวัลการวิจัยแห่งชาติ รางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดีมาก สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ ประจำปีงบประมาณ 2564 จาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และได้รับการตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ อาทิ “Empirical Software Engineering” ถึง 2 เรื่อง และ “Transactions on Software Engineering” อีก1 เรื่อง ไปได้อย่างภาคภูมิ
หากสนใจงานศึกษาวิจัยของอาจารย์สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์กลุ่มวิจัยวิศวกรรมซอฟต์แวร์ ของคณะ ICT ที่ https://www.muict-seru.org
ภาษาคอมพิวเตอร์เป็นภาษาที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ขอเพียงไม่ละความเพียรพยายามที่จะใฝ่หาความรู้อยู่ตลอดเวลา เชื่อว่าจะสามารถทำให้ทุกเส้นทางชีวิตของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ดำเนินไปโดยมีเป้าหมาย จากการเลือกได้อย่างถูกทิศทาง
“นักพัฒนาซอฟต์แวร์” (Software Developer) แม้จะไม่ใช่อาชีพที่เกิดจากพรสวรรค์ที่มีมาตั้งแต่กำเนิด ด้วยทักษะแห่งความรอบรู้ ความสามารถในการคิดที่เป็นระบบ และรอบคอบนี้ ไม่ว่าจะเจอปัญหาใดๆ เชื่อว่าจะสามารถแก้ไขจนบรรลุเป้าหมาย ให้โลกได้มีสิ่งใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการให้ได้มากที่สุดในที่สุด
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210
ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล