ปิดฉากกันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วกับโครงการ Samsung Innovation Campus ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด และสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านหลักสูตรโค้ดดิ้งออนไลน์สำหรับเยาวชนไทยที่เข้มข้นขึ้น สอดคล้องกับเนื้อหาวิชาวิทยาการคำนวณระดับมัธยมต้น พร้อมต่อยอดการฝึกภาคปฏิบัติกับการผลักดันให้เยาวชนได้ประยุกต์ใช้ความรู้ด้านโค้ดดิ้งและความคิดสร้างสรรค์ในการนำเสนอไอเดียนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เพื่อวางรากฐานความคิดและทักษะพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในสังคมดิจิทัล
สำหรับคอร์สอบรมโค้ดดิ้งออนไลน์ในครั้งนี้ ได้แบ่งออกเป็น 4 หัวข้อ ที่เน้นการสร้างความเข้าใจถึงวิวัฒนาการของเทคโนโลยีและการออกแบบนวัตกรรม โดยเยาวชนจะได้รับการปูพื้นฐานโค้ดดิ้ง เริ่มตั้งแต่
- การฝึกทักษะการคิดเชิงตรรกะ (Logical Thinking) ควบคู่ไปกับการสร้างชิ้นงานผ่านโปรแกรมภาษา อย่าง Scratch เพื่อให้นักเรียนสามารถเข้าใจปัญหาและจัดลำดับความคิดเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเป็นขั้นตอน มีเหตุผล และยืดหยุ่นตามสถานการณ์
- การเรียนรู้พื้นฐานภาษา C ซึ่งเป็นภาษาโปรแกรมมิงที่สำคัญ โดยศึกษากระบวนการทำงานหลักๆ เช่น การรับและการแสดงผลข้อมูล ตัวแปร การคำนวณ การตัดสินใจ การทำซ้ำ ทดลองเขียนฟังก์ชันเพื่อใช้งานเอง รวมถึงการแก้ไขปัญหาข้อผิดพลาดในการเขียนโปรแกรม
- การเรียนรู้พื้นฐานภาษา Python ซึ่งเป็นหนึ่งในภาษาโปรแกรมมิงที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน โดยนักเรียนจะได้ศึกษากระบวนการทำงาน และทดลองเขียนโปรแกรมเช่นเดียวกับภาษา C
- การเรียนรู้ด้าน AI โดยนำไปประยุกต์ใช้ควบคู่กับการเขียนภาษา Python โดยนักเรียนจะได้เรียนรู้ตั้งแต่ประวัติและความสำคัญของ AI ตลอดจนทดลองสร้าง AI ในรูปแบบต่างๆ ด้วยตนเอง เช่น Face Recognition, Hand Writing Recognition และ Object Detection
โดยหลังจากที่เข้าร่วมคอร์สอบรมโค้ดดิ้งออนไลน์ จำนวน 75 ชั่วโมง นักเรียนทุกคนจะต้องผสานความรู้ในด้านต่างๆ เพื่อนำมาต่อยอดพัฒนาไอเดียในการสร้างสรรค์นวัตกรรม ภายใต้หัวข้อ “นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยในยุคปัจจุบัน” โดยความพิเศษของกิจกรรมในปีนี้คือการที่ซัมซุงเปิดโอกาสให้พนักงานจากหลากหลายแผนก เช่น Digital Analytics, Customer Service และ Human Resource ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการทำงานจริง มาร่วมให้คำแนะนำในการค้นหาไอเดียและเทคนิคการนำเสนอนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ให้กับนักเรียนในรุ่นนื้อีกด้วย
ทั้งนี้ จากผลลัพธ์ของการระดมความคิดกันอย่างเข้มข้น และการผสานความรู้ด้านกระบวนการคิดเชิงตรรกะ รวมถึงการประยุกต์ใช้เทคนิคด้าน AI และความรู้ด้านการเขียนโค้ดดิ้งภาษาต่างๆ ทำให้เกิดเป็นผลงานต้นแบบนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์สุดสร้างสรรค์โดยนวัตกรรุ่นเยาว์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะนำความรู้ด้านโค้ดดิ้งมาใช้ให้เกิดประโยชน์และช่วยพัฒนาสังคมในแต่ละมิติ เช่น
- AI Traffic Control ระบบควบคุมสัญญาณไฟจราจร โดยใช้ AI ตรวจจับปริมาณรถและจำนวนคนรอข้ามถนน เพื่อนำมาคำนวณระยะเวลาการปล่อยรถที่เหมาะสมกับสภาพการใช้งานจราจรจริง
- Driver Monitoring using AI ระบบแจ้งเตือนคนขับเมื่ออยู่สภาวะที่อาจส่งผลต่ออันตรายบนท้องถนน เช่น ง่วง เมา หมดสติ ใจลอย
- Simple Shinri AI Chatbot ที่ช่วยตอบคำถามด้านจิตวิทยาในเรื่องต่างๆ
- Language Station & language Pocket อุปกรณ์แปลภาษามือสำหรับผู้พิการทางการได้ยินแบบ real-time ด้วย AI
น้องข้าวปั้น เด็กชายชิตวัน เธียรเอี่ยมอนันต์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กับการค้นพบตัวเองหลังจากเข้าร่วมการอบรม เล่าว่า “โครงการ Samsung Innovation Campus ได้จุดประกายความฝัน ทำให้ผมรู้ว่าอยากเป็นนวัตกร คิดค้นสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมใหม่ๆ และเมื่อได้เข้าร่วมโครงการมาตลอดหนึ่งเดือนกว่าๆ ทำให้ผมสามารถเขียนโค้ดเป็น มีพื้นฐาน และต่อยอดเป็นนวัตกรรมเพื่อช่วยแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน กลายมาเป็นไอเดียการแก้ปัญหาเรื่องความปลอดภัยระหว่างผู้ใช้รถกับคนเดินข้ามถนนด้วย AI Traffic Control ไฟจราจรที่ใช้กล้อง AI สแกนว่ามีจำนวนคนและจำนวนรถเท่าไหร่ แล้วนำมาคำนวณสัญญาณไฟเป็นวินาที โดยใช้ความรู้จากการอบรมหัวข้อการเขียน AI ด้วยภาษา Python ซึ่งถ้าสามารถนำไปพัฒนาต่อจนใช้ได้จริงก็จะช่วยแก้ปัญหาจราจร ลดอุบัติเหตุได้”
น้องปันปัน เด็กหญิงปัณณธร ชาลปติ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ กับมุมมองใหม่ๆ ที่ได้รับหลังจากเข้าร่วมการอบรม เล่าว่า “โครงการนี้สามารถทำให้โค้ดดิ้งเป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายขึ้น โดยมีวิทยากร พี่ๆ TA และ Mentor คอยให้คำแนะนำ รวมถึงให้แนวคิดและมุมมองใหม่ๆ ในการแก้ปัญหา ช่วยเสริมทักษะการคิดอย่างเป็นระบบ เป็นขั้นตอน และความคิดสร้างสรรค์ โดยโปรเจกต์นวัตกรรมที่ประยุกต์ใช้ความรู้เรื่อง AI คิดค้นจากปัญหาปริมาณผักตบชวาในคลองแสนแสบใกล้บ้านที่มีจำนวนมากจนกีดขวางทางเรือ กลายเป็นไอเดียในการลดปริมาณและเพิ่มมูลค่าให้กับผักตบชวาด้วยหุ่นยนต์ AI Plant โดยใช้หลักการการตรวจจับวัตถุและเก็บขยะพร้อมกับนำไปแปลงเป็นสิ่งของเพื่อนำมาขายให้มีมูลค่ามากขึ้น และอาจจะนำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อเพิ่มฟังก์ชันต่างๆ ได้”
ทางด้าน พี่ทอย กษิดิศ สตางค์มงคล ตัวแทนพนักงานจากแผนก Marketing & Demand Generation ของธุรกิจคมนาคม บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด และเป็นเจ้าของเพจ DataRockie ผู้ซึ่งคร่ำหวอดในวงการ Computer Science และ Data Analytics หนึ่งใน Mentor ที่มาช่วยให้คำแนะนำในการทำโปรเจกต์ให้กับน้องๆ ในโครงการได้เล่าถึงความประทับใจในครั้งนี้ไว้ว่า “โครงการ Samsung Innovation Campus เป็นโครงการที่ดีมากและอยากให้จัดต่อเนื่องทุกปี เพราะนอกจากจะได้เรียนรู้ด้าน Hard Skill อย่างการเขียนโปรแกรมแล้ว น้องๆ ยังจะได้รับการปลูกฝังเรื่องการสร้าง Solution ในการแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในชีวิตประจำวัน ปัญหาส่วนตัวที่กำลังเจออยู่ ปัญหาเรื่องการศึกษา ปัญหาโดเมนเรื่องสุขภาพ ไปจนถึงโดเมนเรื่องของระดับประเทศ ซึ่งน้องๆ ก็สามารถได้นำความรู้เหล่านี้มาต่อยอดเป็นนวัตกรรมต่างๆ ในกิจกรรม Idea Demonstration ได้อย่างน่าสนใจ หลายไอเดียของน้องๆ สามารถเอาไปทำ Application ของจริงได้เลย และยิ่งในปีนี้น้องๆ ยังมีโอกาสได้มาเปิดโลกฟังประสบการณ์การทำจริงจากพี่ๆ ในสายงาน ก็จะยิ่งช่วยให้เห็นภาพมากขึ้นว่าเรียนจบแล้วจะเป็นอย่างไรต่อ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมให้น้องๆ สำหรับโลกที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้เป็นอย่างดีครับ”
โครงการ Samsung Innovation Campus จึงเปรียบเสมือนประตูสู่โลกโค้ดดิ้งที่ช่วยจุดประกายความฝันและแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชนไทยได้ลองสัมผัส เพิ่มพูนทักษะ พร้อมปูทางสู่การเรียนด้าน Coding & Programming ในระดับที่สูงขึ้น โดยซัมซุงจะเดินหน้าพัฒนาทักษะดิจิทัลให้กับเยาวชนไทยต่อไป พร้อมผลักดันให้เยาวชนได้ฝึกสร้างสรรค์นวัตกรรมที่แตกต่าง เพราะพลังแห่งจินตนาการและความรู้ของเยาวชนจะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงสังคมดิจิทัลในอนาคต
สำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่สนใจเรียนรู้การเขียนโค้ด สามารถติดตามรายละเอียดของการฝึกอบรมที่จะเกิดขึ้นในครั้งต่อไปได้ที่ www.samsungsic-thailand.org หรือเฟซบุ๊คเพจ Samsung Innovation Campus TH
ที่มา: เวเบอร์ แชนด์วิค