หัวเว่ยผนึกพันธมิตรร่วมอุตสาหกรรม จัดงานประชุมโลกอัจฉริยะแห่งอนาคต พ.ศ. 2573 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุม Huawei Global Analyst Summit 2022 (HAS 2022) โดยมี นายกาเว่น ไก้ ประธานฝ่ายกลยุทธ์และการพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ของหัวเว่ยขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อ ‘สร้างเครือข่ายบรอดแบนด์สามมิติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมเครือข่ายการสื่อสารอัจฉริยะแห่งโลกอนาคต’ เพื่อชี้แจงข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับคุณลักษณะ 6 ประการของเครือข่ายการสื่อสารแห่งโลกอนาคต ในงานนี้ หัวเว่ยได้จัดแสดงผลงานวิจัยและความสำเร็จด้านอุตสาหกรรมเครือข่ายการสื่อสารและเทคโนโลยีประมวลผลแบบลงรายละเอียด พร้อมผนึกกำลังกับพันธมิตรในอุตสาหกรรม ร่วมขับเคลื่อนวิสัยทัศน์แห่งอนาคตที่ระบุไว้ในรายงานโลกอัจฉริยะ พ.ศ. 2573 (Intelligent World 2030 report) ของหัวเว่ย
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 หัวเว่ยได้ดำเนินการแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึกกับนักวิชาการ ลูกค้า และพันธมิตรในอุตสาหกรรมมากกว่า 1,000 คน จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการมากกว่า 2,000 ครั้ง เพื่อรวบรวมข้อมูลและแนวทางการดำเนินงานจากองค์กรที่มีความน่าเชื่อถือ พร้อมทั้งเก็บเกี่ยวความรู้จากผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม โดยในเดือนกันยายนปี พ.ศ. 2564 หัวเว่ยได้เปิดตัวรายงานโลกอัจฉริยะ พ.ศ. 2573 (Intelligent World 2030) อย่างเป็นทางการ ในงาน Huawei Connect 2021 ที่อัดแน่นไปด้วยวิสัยทัศน์ของบริษัทในทศวรรษหน้า โดยรายงานดังกล่าวประกอบด้วยรายงานหลัก 1 ฉบับและรายงานอุตสาหกรรม 4 ฉบับ เผยมุมมองสู่อนาคต 8 ประการและการคาดการณ์ตัวชี้วัดในอนาคต 32 ประการ
นายไก้ เผยว่า “ภาคอุตสาหกรรมเป็นรากฐานของโลกอัจฉริยะ โดยรายงานโครงข่ายการสื่อสาร พ.ศ. 2573 (The Communications Network 2030) รายงานด้านการประมวลผลคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2573 (Computing 2030) รายงานด้านพลังงานดิจิทัล พ.ศ. 2573 (Digital Power 2030) และรายงานโซลูชันยานยนต์อัจฉริยะ พ.ศ. 2573 (Intelligent Automotive Solution 2030) ล้วนให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับเทรนด์เทคโนโลยีตลอดจนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องต่างๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคต”
“เราไม่หยุดคิดค้นเพื่อประสบการณ์การใช้งานที่เหนือชั้น โดยขับเคลื่อนนวัตกรรมและการพัฒนาเครือข่ายการสื่อสาร เราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการเชื่อมต่อระหว่างผู้คนนับหมื่นล้านคนที่นำไปสู่ความเชื่อมโยงระหว่างสิ่งต่างๆ หลายแสนล้านสิ่ง เราเชื่อว่าเครือข่ายการสื่อสารในปี พ.ศ. 2573 จะมีคุณสมบัติสำคัญ 6 ประการ ได้แก่ เครือข่ายบรอดแบนด์สามมิติ การสื่อสารและเทคโนโลยีการตรวจจับที่ผสานกันกลมกลืน ประสบการณ์การใช้งานที่กำหนดได้เอง การรองรับปัญญาประดิษฐ์เป็นพื้นฐาน ความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือ ตลอดจนการก่อสร้างและการดำเนินงานที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” นายไก้ ชี้แจงมุมมองเชิงลึกของเครือข่ายการสื่อสารแห่งโลกอนาคต
นายเจียง เทา รองประธานกลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ของหัวเว่ย ได้กล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อ ‘สร้างการประมวลผลอัจฉริยะแบบบูรณาการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม’ ซึ่งระบุว่าภายในปี พ.ศ. 2573 อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์จะมีคุณลักษณะเฉพาะทั้งด้านการพัฒนาทางกายภาพ กระบวนการรับรู้อัจฉริยะ การประมวลผลที่หลากหลาย ความปลอดภัย การทำงานร่วมกันในหลายมิติ และการประมวลผลแบบบูรณาการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เขายังได้กล่าวเสริมว่า “โลกดิจิทัลและโลกกายภาพจะเชื่อมถึงกันอย่างไร้รอยต่อ และเทคโนโลยีการประมวลผลจะมีศักยภาพในการจำลอง ทำซ้ำ และยกระดับโลกกายภาพไปอีกขั้น”
นายเทียน หย่งหง สมาชิกสถาบันวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์นานาชาติ (IEEE) และหัวหน้าทีมวิศวกรรมเทคโนโลยีแห่ง Peng Cheng Cloud Brain ได้เข้าร่วมในงานครั้งนี้และขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในงานว่า “Peng Cheng Laboratory (PCL) กำลังสร้างนวัตกรรมเครื่องมือแห่งโลกอัจฉริยะที่พัฒนาด้วยเทคโนโลยีการประมวลผล Super AI Computing ซึ่งหมายความว่า AI กำลังเปลี่ยนแปลงแนวทางของการเติบโตทางเศรษฐกิจและมุมมองด้านนวัตกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และแพลตฟอร์มการประมวลผลอัจฉริยะขั้นสูงที่ Peng Cheng Cloud Brain กำลังพัฒนาจะช่วยเราแก้ปัญหาระดับโลก”
นอกจากนี้ แขกคนสำคัญของโครงการโลกอัจฉริยะแห่งอนาคต พ.ศ. 2573 ที่ได้ร่วมกล่าวปาฐกถาในการประชุมครั้งนี้ยังรวมถึงนายเควิน จาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาดของธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานไอซีที (ICT) ของหัวเว่ย และนายหวัง ยูชุนผู้อำนวยการแผนกข้อมูลไอซีที (ICT) ซึ่งต่างก็เปิดเผยวิสัยทัศน์เกี่ยวกับโลกอัจฉริยะในปี พ.ศ. 2573 นอกจากนี้ยังร่วมอภิปรายเกี่ยวกับบทบาทของเทคโนโลยีไอซีที (ICT) ในการร่วมพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้ดีขึ้น รวมถึงการต่อยอดการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนแนวทางการก้าวไปสู่โลกอัจฉริยะในปี พ.ศ. 2573 ของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ
ทั้งนี้ หัวข้ออภิปรายในงานมุ่งเน้นไปที่เรื่องเทคโนโลยีดิจิทัลและนโยบายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน พร้อมบทบาทการขับเคลื่อนและส่งเสริมกันและกันของวิสัยทัศน์ทั้งสองประการ อันจะเป็นกลไกสำคัญของการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโลก นอกจากนี้ยังดำเนินการหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ต่างๆ ที่สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีแห่งโลกอัจฉริยะ นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีการประมวลผลและการเชื่อมต่อ และแนวทางการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งหัวเว่ยจะร่วมมือกับพันธมิตรในภาคอุตสาหกรรมและภาคสังคมเพื่อขับเคลื่อนสู่โลกอัจฉริยะไปด้วยกัน
ที่มา: คาร์ลบายร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์