บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศความสำเร็จในเฟสแรกของ ‘โครงการพัฒนาทักษะดิจิทัลเพื่อการจ้างงาน’ ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งเสริมสร้างทักษะเชิงดิจิทัลแก่แรงงานไทย ภายใต้ความร่วมมือระหว่างไมโครซอฟท์กับพันธมิตรจากภาครัฐและภาคเอกชน หลังจากที่ได้พัฒนาความสามารถด้วยทักษะเชิงดิจิทัลให้แก่ชาวไทยจำนวน 280,000 คน ผ่านช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงกว่าเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ตอนแรกที่ 250,000 คน ตามที่ได้ประกาศไว้ในงานเปิดตัวโครงการในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 สำหรับในปี พ.ศ. 2565 นี้ บริษัทยังเตรียมพร้อมที่จะสานต่อเฟสที่สองของโครงการ ด้วยการปลดล็อคศักยภาพและสร้างโอกาสในการจ้างงานให้กับแรงงานชาวไทยเพิ่มเติมอีก 180,000 ในขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดยังคงส่งผลกระทบต่ออัตราการจ้างงานในประเทศอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลจากรายงานภาวะสังคมของประเทศไทย ประจำไตรมาสที่ 3 ของ พ.ศ. 2564 ซึ่งจัดทำขึ้นโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ในปี พ.ศ. 2564 ประเทศไทยมีจำนวนผู้ที่มีงานทำทั้งหมด 37.7 ล้านคน ซึ่งลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันในปี พ.ศ. 2563 ที่ 0.6 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่อัตราการว่างงานได้เพิ่มขึ้นในอัตราสูงสุดที่จำนวนผู้ว่างงาน 870,000 คนในปีที่ผ่านมา[ ที่มา: รายงานภาวะสังคมของประเทศไทย ประจำไตรมาสที่ 3 ของ พ.ศ. 2564 โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)] อย่างไรก็ตาม ประเทศยังคงเต็มไปด้วยโอกาสอีกมากมาย เนื่องด้วยปัจจัยที่เอื้อต่อการเติบโตต่าง ๆ เช่น โลกออนไลน์ที่กำลังเติบโตในประเทศไทย ผลักดันให้มีความต้องการอาชีพนักการตลาดดิจิทัลมากขึ้น ในขณะที่บิ๊กดาต้าเข้ามามีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมประสิทธิภาพให้กับการดำเนินงานของธุรกิจและภาครัฐ ทั้งยังช่วยการตัดสินใจในองค์การเหล่านี้ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนมากยิ่งขึ้น[ ที่มา: ประเทศไทยใช้บิ๊กดาต้าเพื่อขับเคลื่อนรัฐบาลอย่างไร โดย Tech in Asia] นอกจากนี้ ความเหลื่อมล้ำด้านทักษะระดับโลกยังเป็นปัจจัยที่ขับเคลื่อนให้ตลาดแรงงานมีสภาพการแข่งขันที่ดุเดือดยิ่งขึ้น[ ที่มา: รายงานเกี่ยวกับทักษะแห่งอนาคต โดย LinkedIn] ซึ่งส่งผลให้เกิดตำแหน่งงานใหม่ ๆ ที่เป็นที่ต้องการของตลาด เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านการสรรหาบุคลากรที่มีศักยภาพ (talent acquisition specialist) และพันธมิตรเชิงธุรกิจด้านทรัพยากรบุคคล เนื่องจากธุรกิจต่างต้องการเสริมความแข็งแกร่งด้านศักยภาพของพนักงาน และตามหาผู้ที่มีทักษะเฉพาะด้าน สำหรับในประเทศไทย อาชีพที่เป็นที่ต้องการของตลาด 10 อันดับประจำปี พ.ศ. 2563 ประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล นักพัฒนาระบบแบคเอนด์ วิศวกรข้อมูล วิศวกรแบบฟูลสแตก เจ้าของผลิตภัณฑ์ นักวิเคราะห์ข้อมูล นักออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสรรหาบุคลากรที่มีศักยภาพ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดดิจิทัล และนักพัฒนาระบบฟรอนท์เอนด์
ตั้งแต่การเปิดตัว ‘โครงการพัฒนาทักษะดิจิทัลเพื่อการจ้างงาน’ ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ภายใต้ความร่วมมือกับ 7 พันธมิตรจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) และมูลนิธิกองทุนไทย ได้ร่วมเสริมสร้างทักษะให้แก่เยาวชนและบุคคลทั่วไปเป็นจำนวนกว่า 280,000 คน ผ่านการจัดฝึกอบรมทักษะเชิงดิจิทัลของโครงการ นอกจากนี้ ความสำเร็จที่สำคัญอื่น ๆ จากโครงการยังประกอบด้วย
- ผู้เรียนหลักสูตรการศึกษานอกระบบกว่า 100,000 คน ได้รับการฝึกอบรมของโครงการผ่านศูนย์การเรียนรู้ระดับชุมชน โดย 66 เปอร์เซ็นต์ของผู้เรียนเป็นผู้หญิง ส่งผลให้พวกเขาได้รับโอกาสในการจ้างงานมากขึ้น และเพิ่มความมั่นใจในการทำงานมากขึ้นให้กับพนักงาน
- ผู้เรียนกว่า 80,000 คน ได้เข้าถึงโอกาสในการเรียนรู้ที่เพิ่มขึ้น
- ผู้เรียนกว่า 14,000 คน ได้พัฒนาตนเองและความเป็นอยู่ของครอบครัวให้ดีขึ้น
- ผู้เรียนจำนวน 4,500 คน มีโอกาสพัฒนาและเติบโตในเส้นทางอาชีพ
- ผู้เรียนจำนวน 4,500 คน มีรายได้เพิ่มขึ้น
- ผู้เรียนจำนวน 1,900 คน ได้ประกอบอาชีพใหม่ และ
- ผู้เรียนประมาณ 180,000 คน ได้เรียนรู้จากหลักสูตรออนไลน์ของโครงการ รวมถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ของพันธมิต
ทั้งหมด ซึ่งให้บริการแก่ผู้เรียนภายในโครงการทั้งหมด รวมถึงบุคคลทั่วไป โดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยผู้เรียนที่สำเร็จการศึกษาตลอดหลักสูตรจะได้รับใบรับรองประกาศนียบัตรอีกด้วย ทั้งนี้ แพลตฟอร์มออนไลน์ของพันธมิตร ประกอบด้วย
- ยูเนสโก: https://lll-olc.net/th/
- สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa): www.digitalskill.org/
- สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน): https://e-training.tpqi.go.th/
- สถาบันพัฒนาบุคลากรดิจิทัล กระทรวงแรงงาน: ฝึกทักษะออนไลน์หมวดโปรแกรมคอมพิวเตอร์และทักษะดิจิทัล
นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ในฐานะตัวแทนของไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ผมขอขอบคุณพันธมิตรทุกภาคส่วนที่ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ และผลักดันโครงการนี้ให้ประสบความสำเร็จในเฟสแรก สำหรับในเฟสสองของโครงการ เรายังคงมุ่งมั่นสร้างแรงงานดิจิทัลเพิ่มอีก 180,000 คน ภายในสิ้นปี 2565 โดยมุ่งเป็นกำลังสำคัญให้ทุกคน ได้พัฒนาทักษะ และ สร้างทักษะใหม่ เพื่อสร้างทักษะอาชีพแห่งอนาคต เราเชื่อมั่นว่าโครงการนี้ได้พิสูจน์แล้วว่าสามารถช่วยเปิดโอกาสสร้างความเป็นไปได้ทางอาชีพได้ดียิ่งขึ้น และจะยังคงต่อยอดได้ยิ่งขึ้นไปอีกในสถาณการณ์ที่โควิดยังอยู่กับเรา ซึ่งส่งผลต่ออัตราการว่างงานยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเรายังเชื่อว่าเทคโนโลยีและเครื่องมือดิจิทัลสามารถมีบทบาทที่สำคัญในการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมของตลาดแรงงานที่ใช้ทักษะให้มีความเท่าเทียมกันมากยิ่งขึ้น และช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ในเชิงบวกให้แก่ประชากรทั่วประเทศได้”
นายวัลลพ สงวนนาม รักษาการ เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กล่าวว่า “เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดได้เข้ามาเร่งการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ เราจึงมีการปรับเนื้อหาหลักสูตรการเรียนรู้ให้เข้ากับเทรนด์ปัจจุบันมากยิ่งขึ้น เพื่อผู้เข้าร่วมโครงการของเรา เช่น การเพิ่มหลักสูตรกลยุทธ์ทางการตลาดและการขายสินค้าผ่านโซเชียลมีเดียที่ครอบคลุมเนื้อหาที่หลากหลาย ตั้งแต่เทคนิคการวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย ไปจนถึงวิธีการสร้างคอนเท้นท์เพื่อการค้าขายออนไลน์ นอกจากนี้ เรายังให้ความสำคัญกับการให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับความปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถค้าขายผ่านช่องทางออนไลน์ได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งหมดนี้สอดคล้องกับนโยบายของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ที่มีพันธกิจในการให้ความรู้แก่คนทุกช่วงวัย เนื่องจากโครงการนี้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อเข้าถึงกลุ่มคนทุกระดับอย่างแท้จริง โดยเรามีความมุ่งมั่นที่จะสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพผ่านการส่งเสริมทักษะเชิงดิจิทัล เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาบุคลากรของภาครัฐ พร้อมขับเคลื่อนวัฒนธรรมดิจิทัลให้ภาครัฐ พร้อมสู่การปรับเปลี่ยนเป็นรัฐบาลดิจิทัลและ Thailand 4.0”
ดร. รัฐศาสตร์ กรสูต รองผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กล่าวว่า “จากความร่วมมือกับไมโครซอฟท์ เราได้เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงคอร์สออนไลน์เพื่อการพัฒนาทักษะดิจิทัล ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากผู้เข้าร่วมโครงการ โดยช่วยเปิดโอกาสให้กลุ่มคนในทุกระดับและทุกช่วงวัยให้สามารถเข้าถึงและเข้าใจเนื้อหาหลักสูตรได้ง่ายยิ่งขึ้น ดีป้าได้มุ่งเน้นการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพของชาวไทยให้ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว จะช่วยเปิดโอกาสในการทำงานที่ดียิ่งขึ้น รวมถึงการประกอบอาชีพในยุคดิจิทัล นับว่าเป็นการระดมกำลังเสริมสร้างทุนมนุษย์ของประเทศ ดีป้ามีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อพัฒนาทักษะดิจิทัล และเป็นคอมมูนิตี้สำหรับแรงงานด้านดิจิทัล ที่เปิดประตูในการสร้างอาชีพ ผ่านการเสริมสร้างทักษะเพื่ออาชีพแห่งอนาคต”
มร. ชิเงรุ อาโอยางิ ผู้อำนวยการองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก กรุงเทพฯ กล่าวว่า “สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นอุปสรรคและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อโครงการด้านการเรียนรู้จำนวนมากที่จัดทำขึ้นโดยหน่วยงานที่ส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับผู้ใหญ่ภายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ส่งผลให้ผู้เรียนที่เป็นผู้ใหญ่มีจำนวนลดลงถึง 11 เปอร์เซ็นต์ในประเทศไทย อีกทั้งข้อจำกัดด้านการให้บริการเนื้อหาดิจิทัลที่มีคุณภาพยังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการเข้าถึงและคุณภาพของการเรียนรู้ โดยเฉพาะข้อจำกัดด้านการให้บริการเนื้อหาในภาษาท้องถิ่นหรือภาษาแม่ และเพื่อตอบรับความต้องการต่อการเรียนรู้ทักษะเพิ่มเติมและเรียนรู้ทักษะใหม่ที่มีอัตราเพิ่มมากขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ทั้งในช่วงท่ามกลางและภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาด ยูเนสโกจะยังคงเดินหน้าในการทำงานกับพันธมิตรทั้งหมดอย่างใกล้ชิด เพื่อสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันเชิงดิจิทัลและโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกสำหรับเยาวชนและบุคคลทั่วไปในประเทศไทย และทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค เพื่อยกระดับการดำรงชีวิตและคุณภาพเป็นอยู่ของพวกเขาให้ดีขึ้น พร้อมส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของบุคคล และความยั่งยืนของชุมชน”
ไมโครซอฟท์จะยังคงจัดทำเนื้อหาการฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างทักษะต่าง ๆ รวมถึงจัดทำวิดีโอการอบรม และคู่มือภาษาไทยเกี่ยวกับการใช้งาน Microsoft 365 ในระดับกลาง (intermediate) ซึ่งสอดคล้องกับทักษะที่จำเป็นต่ออาชีพที่กำลังเป็นที่ต้องการในปัจจุบัน โดยหลักสูตรการเรียนรู้ประกอบด้วย Basic Cyber Security, E-Commerce Content Creation ด้วย Microsoft Sway, Word Intermediate, Excel Intermediate และ PowerPoint Intermediate
นอกจากนี้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาทักษะดิจิทัลที่ประชาชนสามารถเข้าถึงเนื้อหาการเรียนรู้ได้ผ่านเครือข่ายและแพลตฟอร์มของสำนักงานฯ เช่น depa Thailand – YouTube รวมถึงแพลตฟอร์มและช่องทางอื่นๆ ในอนาคต เพื่อต่อยอดไปสู่การพัฒนาทักษะดิจิทัลตามมาตรฐานสมรรถนะด้านดิจิทัล นอกจากนี้ ยูเนสโก ยังได้ประสานความร่วมมือกับศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ในการจัดการฝึกอบรมครูของทางศูนย์ฯ พร้อมสนับสนุนให้เนื้อหาการฝึกอบรมที่จัดทำขึ้นในโครงการสามารถเข้าถึงเยาวชนที่อยู่ห่างไกลทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผ่านแพลตฟอร์มของยูเนสโก โดยในปีนี้ เว็บไซต์ดังกล่าวยังได้ถูกพัฒนาเพิ่มเติม เพื่อนำเสนอหลักสูตรทักษะเชิงดิจิทัลของไมโครซอฟท์เป็นภาษาไทย ที่เว็บไซต์ www.lll-olc.net/th ซึ่งสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่และบุคคลทั่วไปสานต่อการเรียนรู้ไปตลอดชีวิตของพวกเขา เพื่อตอบสนองความต้องการด้านการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงไปตามเวลาของแต่ละบุคคล และสำหรับผู้ที่ต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมกับ กศน. สามารถติดต่อได้ที่ กศน. ตำบลทั่วประเทศ
ที่มา: ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทิจีส์ ประเทศไทย