หัวเว่ยร่วมขับเคลื่อนดิจิทัล สู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืนของประเทศไทย

ในปัจจุบัน ทิศทางของโลกเดินตามกระแสการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon) กันมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่รัฐบาลไทยที่ตั้งเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2593 เนื่องด้วยเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด ส่งผลต่อการใช้ทรัพยากรของโลกอย่างสิ้นเปลือง ทำให้ภาคการผลิตปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่ปัญหาสภาพอากาศแปรปรวนและสภาวะโลกร้อนที่กลายเป็นประเด็นร้อน ซึ่งทุกฝ่ายต้องช่วยกันแก้ไขด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล นอกจากนี้กระแสการเปลี่ยนผ่านเชิงดิจิทัล (Digitalization) ของภาคธุรกิจองค์กรท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ก็เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาสำคัญในเรื่องนี้ ขณะนี้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมถึงไทยได้มีการแสดงเจตนารมณ์มุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนด้วยนวัตกรรมต่างๆ อย่างจริงจัง เพื่อให้ทิศทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นไปตามเป้าหมายดังกล่าว สู่ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยตามพันธกิจของกระทรวงพลังงาน โดย ‘หัวเว่ย ประเทศไทย’ จะร่วมสนับสนุนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวในประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเต็มที่

‘การพัฒนาสีเขียวด้วยดิจิทัล’ เทรนด์โลกแห่งอนาคต
นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ขึ้นกล่าวถึงความสำคัญเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเทคโนโลยีดิจิทัลภายในงานสัมมนา Go Green 2022 ขับเคลื่อนธุรกิจสีเขียว และการเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำว่า “การพัฒนาสีเขียวนั้นหมายถึงการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันก็รับประกันความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและความเป็นอยู่ที่ดีของสังคมไปพร้อมกัน ในปัจจุบันมนุษยชาติให้ความสำคัญกับอนาคตที่ยั่งยืนมากขึ้น ความเปลี่ยนผ่านเชิงดิจิทัลและการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กลายเป็นสองหัวข้อสำคัญที่สุดที่ทั่วโลกต่างจับตามองในตอนนี้ และเป็นแนวทางหลักสองประการในการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยในปัจจุบัน กว่า 66 ประเทศทั่วโลกได้กำหนดเป้าหมายและแผนงานเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนในระดับชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และกว่า 170 ประเทศได้ประกาศกลยุทธ์ดิจิทัลระดับชาติ รวมเป็น 87% ของประเทศทั้งหมดทั่วโลก”

อาเบลได้เน้นย้ำการเปลี่ยนผ่านเชิงดิจิทัล (Digitalization) คือกุญแจสำคัญในการฟื้นตัวและการเติบโตของประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก โดยได้ยกตัวอย่างถึงการเพิ่มขึ้นของโครงข่ายบรอดแบนด์คงที่ 10% จะมีส่วนช่วยเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศหรือ GDP ได้ตั้งแต่ 0.8% – 2.3% และการเพิ่มขึ้นของอัตราการเข้าถึงเครือข่ายโทรศัพท์มือถือทุก 10% จะสามารถเพิ่ม GDP ได้ถึง 1.5% – 2.8% โดยในอนาคตเทคโนโลยีดิจิทัล ได้แก่ 5G, Cloud และ AI จะเป็นปัจจัยหลักในการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งหากอ้างอิงจากรายงานล่าสุดของธนาคารโลกนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่าการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีที่สร้างโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ มาใช้งาน ได้สร้างรายได้ใหม่ๆ คิดเป็นมูลค่ารวมสูงถึง 110,100 ล้านบาท (3,400 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในการลงทุน การออม และรายได้เพิ่มเติมสำหรับประเทศไทยในแต่ละปี นอกจากเทคโนโลยีจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลแล้ว โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลยังเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และเป็นกุญแจสำคัญสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย ถึงขั้นที่สามารถกล่าวได้ว่าหากไม่มีดิจิทัล ก็ไม่มีความยั่งยืน

“หัวเว่ยมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ให้ความสำคัญและมุ่งมั่นที่จะเข้าสู่การเดินทางสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างจริงจัง การที่ไทยเสนอแผนงานความเป็นกลางทางคาร์บอน พ.ศ. 2593 เพื่อช่วยรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจากสถานการณ์โลกร้อน ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับสหภาพยุโรป หัวเว่ยเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าเทคโนโลยีดิจิทัลจะเป็นกุญแจสำคัญในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ซึ่งเรามองว่าประเทศไทยค่อนข้างได้เปรียบจากการที่เป็นผู้นำด้าน 5G ด้วยการมีสถานีฐานของโครงข่าย 5G มากกว่า 10,000 แห่ง ทั่วประเทศ ซึ่งหัวเว่ยได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการติดตั้ง นอกจากนี้ หัวเว่ยยังมองเห็นศักยภาพของประเทศไทย ซึ่งเป็นเหตุผลให้เราเปิดตัวกลุ่มธุรกิจคลาวด์รวมทั้งกลุ่มธุรกิจดิจิทัลพาวเวอร์สำหรับให้บริการลูกค้าในประเทศไทยโดยเฉพาะ เพื่อช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน” นายอาเบลกล่าวเพิ่มเติม

หัวเว่ยเผยแนวทางสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ร่วมผลักดันประเทศไทยสู่ความยั่งยืน
นายอาเบล ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงแนวทางที่หัวเว่ยช่วยผลักดันการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับโลกและประเทศไทยว่า “หัวเว่ยมุ่งมั่นที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์หัวเว่ยใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 2.7 เท่า ด้วยการพัฒนานวัตกรรมใหม่ทั้งทางทฤษฎี วัสดุ และอัลกอริทึมในวงจรทั้งหมด ซึ่งรวมถึงการดำเนินงานและเครือข่ายต่างๆ สำหรับประเทศไทยที่มุ่งมั่นสู่เป้าหมายที่มีวิสัยทัศน์ในความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2593 และการปล่อยมลภาวะเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon) ในปี พ.ศ. 2608 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว จำเป็นต้องเริ่มจากภาคส่วนที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากเป็น 3 อันดับแรกของประเทศไทย ซึ่งได้แก่ อุตสาหกรรมพลังงาน (37%) การขนส่ง (29%) และภาคอุตสาหกรรม (28%) ซึ่งหัวเว่ยมองว่าโซลูชันพลังงานดิจิทัลที่สำคัญสำหรับประเทศไทยมี 4 ด้าน โดยแต่ละโซลูชันต่างมีเอกลักษณ์ด้านการผลักดันการพัฒนาสีเขียวแตกต่างกันไปดังนี้

  • เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์รุ่น 4 ที่คุ้มค่า: หลังจากการพัฒนามานานหลายทศวรรษ เทคโนโลยี PV ได้พัฒนาไปสู่รุ่นที่ 4 ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ปรับระดับจนในปัจจุบันสามารถสูงถึง 0.037 เหรียญสหรัฐต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง และสามารถปรับใช้บนหลังคาที่อยู่อาศัยได้ เนื่องจากคุณสมบัติของโมดูลที่สามารถทำงานได้ด้วยตนเอง รวมถึงการบำรุงรักษาที่ทำได้ง่าย
  • เทคโนโลยีการจัดเก็บพลังงานสตริงอัจฉริยะ (Smart String Energy Storage System / ESS): การทำงานรวมกันของแบตเตอรี่ลิเธียมและเทคโนโลยีการควบคุมแบบดิจิทัลทำให้ระบบจัดเก็บพลังงานสตริงอัจฉริยะเป็นที่นิยมมากขึ้น ช่วยแก้ปัญหาการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมที่ไม่ราบรื่น
  • ศูนย์ข้อมูลสีเขียวแบบโมดูลาร์และเทคโนโลยีการสื่อสารในพื้นที่สำหรับใช้ได้ในทุกสถานการณ์: จากการวิจัยของหัวเว่ยพบว่า 6% ของการใช้พลังงานทั้งหมดจะมาจากการใช้งานด้านไอซีทีภายในปี พ.ศ. 2573 ดังนั้นเราจำเป็นต้องปรับใช้ศูนย์ข้อมูลสีเขียวพร้อมทั้งเทคโนโลยี 5G ตั้งแต่เริ่มต้น
  • รถยนต์ไฟฟ้าราคาประหยัดและเทคโนโลยีการชาร์จที่รวดเร็ว: การติดตั้งแท่นชาร์จให้สามารถใช้บริการได้อย่างทั่วถึง รถยนต์ไฟฟ้าราคาประหยัด และรถยนต์ไฟฟ้าที่สามารถวิ่งระยะไกลได้ถึง 1,000 กิโลเมตร จะขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การเดินทางแบบไร้คาร์บอนในทศวรรษหน้า

นอกจากนี้ หัวเว่ยยังได้นำเสนอโซลูชันอุตสาหกรรม Smart PV ชั้นนำที่ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์แบบดิจิทัล “FusionSolar Residential Smart PV” สำหรับครัวเรือนไทยครั้งแรก โดยผสานรวม AI และ Cloud เข้ากับ PV เพื่อการสร้างพลังงานที่เหมาะสม โดยรับประกันประสิทธิภาพในระดับสูง ปลอดภัย และเชื่อถือได้ด้วยความสามารถของ Smart O&M และ Grid Supporting ที่สร้างรากฐานสำหรับพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อเป็นแหล่งพลังงานหลักสำหรับอนาคต โดยมีกลุ่มเป้าหมายลูกค้าครอบคลุมทั้งบ้านเรือนและองค์กร แม้จะเป็นธุรกิจใหม่ที่เพิ่งก่อตั้งในไทยแต่หัวเว่ยมีฐานลูกค้าแล้วทั้งในธุรกิจค้าปลีก เช่น ห้างสรรพสินค้า มหาวิทยาลัย และธุรกิจที่ต้องบริหารจัดการศูนย์ข้อมูล เพื่อตอบรับกับแผนงานของกระทรวงพลังงาน และพันธกิจที่ประเทศไทยประกาศเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยที่หัวเว่ยมองว่าเมื่อเรามองไปสู่อนาคต พลังงานจะฉลาดขึ้นและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และ “อินเทอร์เน็ตพลังงาน” ก็จะเกิดขึ้น

ในสภาวะที่ต้องเผชิญกับปัญหาโลกร้อน ความเป็นดิจิทัลและการเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำเป็นสองข้อตกลงที่ได้รับการยอมรับกันทั่วโลก หัวเว่ยในฐานะผู้นำในด้านโซลูชันพลังงานสีเขียว พันธมิตรชั้นนำด้านไอซีที และผู้พลิกโฉมสู่ความเป็นดิจิทัล มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมประเทศไทยเป็นผู้นำสังคมคาร์บอนต่ำของอาเซียน โดยหัวเว่ยจะเดินหน้าสร้างสรรค์นวัตกรรมและใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง ผ่านการทำงานร่วมกับรัฐบาลและพันธมิตรในอุตสาหกรรมเพื่อทำให้โลกของเราเป็นสถานที่ที่ดียิ่งขึ้น รวมทั้งนำดิจิทัลมาสู่ทุกคน ทุกบ้าน ทุกองค์กร มาร่วมกันทำให้ประเทศไทยเป็นดิจิทัล สะอาดอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน เพื่อให้เกิดประเทศไทยอัจฉริยะคาร์บอนต่ำที่เชื่อมต่อถึงกันอย่างเต็มรูปแบบ

ที่มา: คาร์ลบายร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์