หัวเว่ยขึ้นกล่าวคำปราศรัยสำคัญ หวังใช้ 5G+XR นำจินตนาการสู่ความเป็นจริง

ในระหว่างการกล่าวในหัวข้อ “5G: การเชื่อมต่อโลกเสมือนกับความเป็นจริง (5G: Connecting Virtual and Reality)” ในมหกรรมโมบายล์ เวิลด์ คองเกรส (MWC) ประจำปี 2565 ที่เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน คุณฟิลิป ซอง (Philip Song) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดกลุ่มธุรกิจผู้ให้บริการเครือข่ายของหัวเว่ย ได้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “5G+XR: นำจินตนาการสู่ความเป็นจริง” (5G+XR: Bringing Imagination into Reality) ในการกล่าวปาฐกถานี้ เขาให้ความเห็นเรื่องอุตสาหกรรม XR และเปิดเผย “กฎของมัวร์ข้อใหม่” (new Moore’s Law) พร้อมเรียกร้องให้ผู้ให้บริการและพันธมิตรอุตสาหกรรมลงมือทำเพื่อคว้าโอกาสที่เกิดจาก 5G+XR

ศักยภาพของอุตสาหกรรม XR

ที่งานนี้ คุณซองได้บอกเล่าประสบการณ์จากการที่หัวเว่ยจัดประชุมประจำปีโดยใช้ VR และใช้ AR เพื่อช่วยในการส่งมอบสถานีฐาน 5G ข้อมูลของหัวเว่ยและหน่วยงานภายนอกแสดงให้เห็นว่า ตลาด XR น่าจะสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ได้ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2573 ซึ่งเกือบเทียบเท่ากับตลาด 5G ในปัจจุบัน

เมื่อเปรียบเทียบความคืบหน้าของอุตสาหกรรม XR กับการพัฒนาอุตสาหกรรมสมาร์ทโฟนแล้ว คุณซองกล่าวว่า ผู้ให้บริการมากมายกำลังเสนออุปกรณ์ XR ในราคาไม่ถึง 300 ดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เทคโนโลยีนี้มีราคาที่จับต้องได้มากกว่าเดิม ขณะเดียวกันก็เสนอประสบการณ์ผู้ใช้ยุคหน้าด้วย เครื่องมือการพัฒนา XR กำลังถูกใช้งานเพิ่มขึ้น มาตรฐาน OPEN XR ใหม่กำลังได้รับการสนับสนุนจากบริษัทฮาร์ดแวร์ แพลตฟอร์ม และกลไกรายใหญ่ ๆ เกือบทุกแห่ง ทำให้การใช้งานหลายแพลตฟอร์มเป็นไปได้โดยไม่ต้องมีการพัฒนาหลายรอบ

สิ่งที่น่าสังเกตมากกว่าคือ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้มีผู้ให้บริการเริ่มใช้ XR จนสร้างความสำเร็จเชิงพาณิชย์ได้เป็นจำนวนมาก ผู้ให้บริการในหลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ไทย และจีนเป็นผู้นำการใช้งานบริการ VR/AR และได้รับผลตอบแทนมหาศาลผ่าน 3 ขั้นตอน ได้แก่ การเลือกอุตสาหกรรม การตั้งแบบจำลองธุรกิจ และพัฒนาขีดความสามารถ โดยผู้ให้บริการรายหนึ่งกล่าวว่า “ถ้า XR เปิดตัวออกมา 3 เดือนให้หลัง ก็อาจต้องใช้เวลา 3 ปีเพื่อไล่ตามให้ทัน”

หัวเว่ยเปิดเผยกฎของมัวร์ข้อใหม่สำหรับอุตสาหกรรม XR

ในงานดังกล่าว หัวเว่ยได้เปิดเผย “กฎของมัวร์ข้อใหม่” สำหรับอุตสาหกรรม XR เพื่อเป็นแนวทางในการขยายความสามารถสำหรับผู้ให้บริการและพันธมิตรอุตสาหกรรม

ความต้องการปริมาณการใช้งานสำหรับคอนเทนต์ XR ยอดนิยมเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในทุก 18-24 เดือน และใน 2-4 ปีข้างหน้า คอนเทนต์ XR เฟรมเรตสูง 12K หรือแม้แต่ 24K จะกลายเป็นเรื่องปกติ คอนเทนต์ระดับพรีเมียมประเภทนี้จะใช้งานแบนวิดท์เครือข่ายและทรัพยากรคลาวด์เพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็วมาก

นอกจากนี้ ความสามารถด้านบริการคลาวด์ยังเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในทุก 18-24 เดือน เพื่อลดต้นทุนการผลิตคอนเทนต์ XR บริการคลาวด์ XR ของหัวเว่ยเป็นตัวอย่างสำคัญของความสำเร็จในการขยายในลักษณะนี้ คลาวด์ XR ทำให้หัวเว่ยสามารถใช้ความสามารถมัลติคลาวด์ได้ เช่น การสร้างแผนที่ 3 มิติขนาดใหญ่, การคำนวณสภาพแวดล้อมที่ปรับเปลี่ยนได้ในทุกสถานการณ์ และการเรนเดอร์มนุษย์แบบดิจิทัลด้วยแบบจำลองเส้นผมที่แม่นยำ โดยจำลองเส้นผมได้มากถึง 100,000 เส้น

กฎของมัวร์ข้อใหม่นี้ถูกออกแบบมาเพื่อชี้นำนวัตกรรมภายในอุตสาหกรรม XR และเพื่อสร้างรากฐานสำหรับการพัฒนา XR ทางหัวเว่ยเองได้ปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าว โดยในแง่ของอุปกรณ์ XR นั้น หัวเว่ยได้เปิดตัวนวัตกรรม AR-HUD แบบใหม่เพื่อขยายการใช้งาน XR และในแง่ของการส่งผ่านข้อมูล XR หัวเว่ยนำเสนอนวัตกรรมโซลูชัน เช่น 5G แมสซีฟเอ็มไอเอ็มโอ (5G Massive MIMO) และ FTTR หัวเว่ยได้ให้คำมั่นในการสนับสนุน “กิกะเวิร์ส” (Gigaverse) ที่ให้สามารถเข้าถึงกิกะบิตได้ในทุกที่เพื่อสนับสนุนประสบการณ์ XR ได้ทุกที่ทุกเวลา นอกจากนี้ หัวเว่ยยังเปิดตัวโซลูชัน “คลาวด์เน็ตเวิร์กเอ็กซ์เพรส” (Cloud-network Express) เพื่อช่วยให้พันธมิตรอุตสาหกรรม XR เข้าถึงมัลติคลาวด์ และใช้ความสามารถในการพัฒนาและเรนเดอร์บนคลาวด์

คุณซองได้ส่งท้ายการนำเสนอโดยเรียกร้องให้พันธมิตรอุตสาหกรรมทำงานร่วมกันให้สอดคล้องกับ “กฎของมัวร์ข้อใหม่” และคว้าโอกาสการพัฒนาครั้งใหญ่สำหรับอุตสาหกรรม XR โดยกล่าวว่า “ลงมือเดี๋ยวนี้เพื่อคว้าอนาคต”

มหกรรมโมบาย เวิลด์ คองเกรส ประจำปี 2565 จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ถึง 3 มีนาคม ณ เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน โดยหัวเว่ยได้ร่วมนำเสนอผลิตภัณฑ์และโซลูชันต่าง ๆ ที่บูธ 1H50 ในฟีรา กรัน เวีย ฮอลล์ 1 (Fira Gran Via Hall 1) ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://carrier.huawei.com/cn/events/mwc2022

รูปภาพ – https://mma.prnewswire.com/media/1757254/Philip_Song_delivering_a_keynote_speech.jpg

คำบรรยายภาพ – คุณฟิลิป ซอง กล่าวปาฐกถาสำคัญ

ที่มา:  พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์