พีไอเอ็ม แหล่งรวมขุมกำลัง AI Expert สร้าง AI Talent ระดับประเทศ ยกระดับความสามารถวิศวะไทย ทัดเทียมสากล

เมื่อกล่าวถึง “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ “AI” (Artificial Intelligence) นาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะได้เข้ามามีอิทธิพลทุกช่วงชีวิตของมนุษย์ ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรมองข้าม  AI มีแนวโน้มที่รุดหน้าอย่างมาก อีกทั้งอยู่ในชีวิตประจำวันของเราทั้งที่เรารู้ตัวและไม่รู้ตัวอย่างกลมกลืนไปแล้ว  โลกปัจจุบันเต็มไปด้วยความรู้ ข้อมูลข่าวสารจำนวนมหาศาล การขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลที่ซับซ้อนหมุนเร็วตลอดเวลา ซึ่งต้องใช้ AI มาเป็นส่วนช่วยให้การดำเนินชีวิตสะดวกมากขึ้นก็คงดูไม่เกินจริงเกินไป ทั้งในระบบเศรษฐกิจหรืออุตสาหกรรมต่างๆ แม้กระทั่งด้านการศึกษาเองมีความท้าทายมากขึ้นที่จะสร้างบุคลากรให้มีคุณสมบัติเหมาะสมกับยุคเทคโนโลยีเฟื่องฟูแบบไร้ขีดจำกัดเช่นนี้

รองศาสตราจารย์ ดร. พิสิษฐ์ ชาญเกียรติก้อง คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) และนายกสมาคมสภาคณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศปี 2565 กล่าวว่า “ความใกล้ชิดระหว่างมนุษย์กับ AI มีมากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ในแง่ของการศึกษาเอง AI เข้ามามีบทบาทอย่างมาก หากเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้นำมาสนับสนุนการเรียนรู้ สร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์กับสังคม อาศัยเป็นแหล่งเข้าถึงความรู้ ก็จะตอบสนองความต้องการได้หลากหลาย พีไอเอ็มจริงจังกับด้านเทคโนโลยี AI เป็นอับดับต้นๆ มาโดยตลอด เราบุกเบิกหลักสูตรด้านนี้และวิชาที่เกี่ยวข้อง อาทิ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์และ AI และวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ หมายมั่นให้เป็นเทคโนโลยีสำคัญในการขับเคลื่อนทุกอุตสาหกรรม ผลงานของคณาจารย์ ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่าเรามีความพร้อมระดับแนวหน้าของประเทศ ในขณะเดียวกันเราสนับสนุนผู้เรียนที่มี Passion ให้ได้พิสูจน์ความสามารถในหลายเวที นี่อาจจะเป็นการพลิกโฉมวงการ AI ที่มีอยู่หรืออนาคตได้มากขึ้น”

พร้อมกันนี้ได้เผยถึงบทบาทของ นายกสมาคมสภาคณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศในปี 2565 ที่ตั้งใจผลักดันด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ ไอที เพื่อขับเคลื่อนนโยบายไอทีในประเทศให้ประสบผลสำเร็จ และให้ได้รับความสนใจมากขึ้น “ทิศทางของสมาคมฯ กับพีไอเอ็มมีความสอดคล้องกันทั้งด้านวิชาการ ด้านนักศึกษา ด้านเชื่อมต่ออุตสาหกรรม ด้านการสื่อสาร ในฐานะนายกสมาคมปี 2565 มีเป้าหมายให้พีไอเอ็มเป็นจุดเริ่มต้นของศูนย์กลางนวัตกรรมและไอที รวบรวมองค์ความรู้ องค์กรในภาควิชาการด้าน Digital Transformation, Digital Technology เป็นแหล่งรวมผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์ นักศึกษา นักพัฒนา IT Expert และ IT Talent พร้อมเป็นตัวกลางเชื่อมต่อทุกภาคส่วนทั้งอุตสาหกรรม สตาร์ทอัพที่ต้องการสร้างบัณฑิตของสถาบันอุดมศึกษาเข้าไว้ด้วยกัน และสร้างสรรค์งานอบรม สัมมนา Workshop Showcase ของนักศึกษา อาจารย์ และนักวิจัย ยกระดับบุคลากรเหล่านี้ให้มีความเชี่ยวชาญ ตื่นตัวทันเทรนด์อยู่ตลอดเวลา และเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางสามารถแข่งขันในระดับสากลได้”

การศึกษาแห่งอนาคตจะเป็นโลกของคนที่มีทักษะหลากหลาย มีความรู้แบบข้ามสายงานจนสามารถสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ สร้างการเปลี่ยนแปลงขึ้นได้ สถาบันการศึกษาจำเป็นต้องปรับตัว โดยเฉพาะ AI เทคโนโลยีที่มีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงโลก เมื่อกล่าวถึง AI แล้ว บทบาทสำคัญอีกประการหนึ่งของ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ คือ AI Expert สร้าง AI Talent กล่าวคือ พีไอเอ็มมีคณาจารย์เชี่ยวชาญหลายมิติ พร้อมด้วยองค์ความรู้ ความพร้อมด้านสถานที่ ห้องปฎิบัติการ อุปกรณ์เอื้อต่อการเรียนรู้ AI เทคโนโลยีขั้นสูง เครือข่ายพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เหล่านี้คือองค์ประกอบขุมกำลัง เพื่อมุ่งสร้างคนเก่งและพร้อมดึงศักยภาพที่โดดเด่นของนักศึกษาด้านนี้โดยเฉพาะ  

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดัชกรณ์ ตันเจริญ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี พีไอเอ็ม มีความรู้ความเชี่ยวชาญ AI เพื่อพัฒนาวงการกีฬาไทย มอง AI เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์กับโลก ควรศึกษาเรียนรู้ เข้าใจ ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด คอยป้อนข้อมูลที่ถูกต้องและเหมาะสมให้กับ AI ซึ่งจะสามารถสร้างคุณค่าได้มหาศาล รวมถึงการปลูกฝังให้เยาวชนไทย ได้เรียนรู้นวัตกรรมควบคู่กับคุณธรรม เพื่อนำให้ประเทศก้าวไกล อย่างไรก็ตามมีเป้าหมายใช้เทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาวงการกีฬาไทย โดยนำ AI เก็บท่าทาง สถิติ เพื่อพัฒนาทักษะนักกีฬาประเภทต่างๆ และใช้เรียนรู้ท่าทางของมนุษย์ให้คอมพิวเตอร์เข้าใจการปฏิสัมพันธ์สั่งงานแก่คอมพิวเตอร์และหุ่นยนต์ ทั้งนี้เคยมีส่วนร่วมในโครงการ Digitize ของ NECTEC ใช้เทคโนโลยี Motion Capture เก็บบันทึกข้อมูลกีฬาดาบไทย ศิลปะกระบี่กระบอง การร่ายรำดาบ และสร้างสื่อประสม (Multimedia Animation) เพื่ออนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยให้เยาวชนรุ่นหลังได้ศึกษา ปัจจุบันทำโครงการวิจัยการรู้จำท่าทาง (Action Recognition) ใช้ AI เรียนรู้ท่าทางของมนุษย์เพื่อให้คอมพิวเตอร์เข้าใจท่าทางต่างๆ สำหรับการปฏิสัมพันธ์สั่งงานคอมพิวเตอร์และหุ่นยนต์

รองศาสตราจารย์ ดร. ปริญญา สงวนสัตย์ หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี พีไอเอ็ม มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้าน Machine Learning, AI, Computer Vision เผยว่า AI จะมาช่วยทำให้การดำเนินชีวิตง่ายขึ้นและแทรกไปอยู่ทุกอณูของภาคอุตสาหกรรม งานด้านนี้จะขาดแคลนคนมากขึ้น ดังนั้นต้องปรับตัวทำงานร่วมกับ AI ให้เกิดประสิทธิภาพ ไม่เพียงแค่ใช้งานอย่างเดียว แต่ต้องเข้าใจและสามารถสร้างหรือปรับปรุงให้ตอบโจทย์ความต้องการที่จำเพาะต่างๆ ได้  ผลงานด้านงานเขียน เป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง Artificial Intelligence with Machine Learning, AI สร้างได้ด้วยแมชชีนเลิร์นนิ่ง ซึ่งเป็นหนังสือที่สามารถใช้ศึกษาด้วยตนเองหรือประกอบการเรียนวิชา Machine Learning ได้   ส่วนผลงานด้านนวัตกรรม ได้เป็นผู้คิดค้นการประมาณน้ำหนักสุกรด้วยภาพ ใช้กล้องวงจรปิดในการประมาณน้ำหนักสุกรที่อยู่ในคอก ช่วยให้เกษตรกรประหยัดค่าอาหารและพื้นที่ในฟาร์มการเลี้ยงได้ และโปรเจคด้านการใช้กล้องในการตรวจจับตำแหน่งและประเภทของวัตถุ เช่น Object Detection สินค้าในร้านสะดวกซื้อ ระบบค้นหาสินค้าด้วยภาพ ระบบนับและวัดปริมาณการจราจร เป็นต้น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เกรียงไกร ทัศนวิภาส ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี พีไอเอ็ม มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้าน Robotics and Automation ที่มีการเก็บเกี่ยวประสบการณ์มานานหลายปี ไม่ว่าจะเป็นจากงานสอน งานวิจัยที่ได้รับโจทย์มาจากภาคการศึกษาและภาคธุรกิจ ซึ่งจากจุดนี้ได้หลอมรวมความเป็นนักคิด นักวิเคราะห์และพัฒนา ตลอดจนนักนวัตกรรมที่ผลิตและสร้างสรรรค์ผลงานที่มุ่งเน้นให้ทุกวันคือการเรียนรู้ ส่งผลถึงแรงบันดาลใจในการผลิตผลงาน  ที่ทำให้สิ่งที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้ให้เกิดขึ้นจริงและสามารถจับต้องได้  แม้แต่ในชีวิตประจำวันก็สามารถประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยี AI ได้ อาทิ การสร้างหุ่นยนต์ หรือ แอปพลิเคชัน   เป็นต้น และด้วยพื้นฐานความเชี่ยวชาญในศาสตร์หลายแขนงทำให้สามารถผสมผสานใช้เทคโนโลยีออกมาได้เป็นรูปธรรมในหลากหลายผลงานอีกทั้งตอบโจทย์ภาคธุรกิจอีกด้วย อาทิ สมาร์ทวอร์ด CoWit-2020 ณ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ซึ่งประกอบด้วย หุ่นยนต์ส่งอาหารและยา ตู้ฆ่าเชื้อด้วยแสง UVC  ประตูอัตโนมัติหน้าห้องผู้ป่วย เครื่องติดตามการให้สารละลายแก่ผู้ป่วย และแอปพลิเคชันที่ทำงานด้วยกันอย่างเป็นระบบ ซึ่งผลงานต่างๆ เหล่านี้ล้วนคิดค้น ผลิตและสร้างขึ้นบนพื้นฐานการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคม ไปจนถึงระดับประเทศ   ผลงานล่าสุดกับโครงการในโจทย์ภาคธุรกิจ พัฒนา Outdoor Delivery Robot หุ่นยนต์ส่งของ ตัวช่วยในการส่งของภายนอกอาคาร ใช้พลังงานไฟฟ้า 100% ไม่มีเสียง ไม่มีมลภาวะ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ดร. โพธิวัฒน์ งามขจรวิวัฒน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี พีไอเอ็ม มีความรู้ความเชี่ยวชาญและเป็นนักวิจัยด้าน Bio-Inspired Robot และ Space Education เผยมุมมอง “ในอนาคตหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์จะกลายไปสิ่งมีชีวิตใหม่ที่จะมาอยู่ร่วมกับมนุษย์ ดังนั้นคนในยุคถัดไปต้องรู้วิธีที่จะอยู่ร่วมกับหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ มีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันเยาวชนรุ่นใหม่ใน 3 ด้านคือ ด้านที่ 1 Bio-Inspired Robot หุ่นยนต์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสิ่งมีชีวิต เรียนรู้การทำงานร่วมกันระหว่าง 2 ศาสตร์ คือ ไบโอเทคโนโลยีและวิศวกรรม เพื่อศึกษาท่าทาง การทำงาน ธรรมชาติสู่หุ่นยนต์ ทั้งนี้ยังถือเป็นวิชาใหม่ที่พีไอเอ็มคาดหวังให้ผู้เรียนได้เห็นองค์รวมสิ่งที่อยู่รอบตัวมาประยุกต์ใช้กับหุ่นยนต์อีกด้วย ซึ่งมีผลงาน Embodies Robot หุ่นยนต์ที่มีความสามารถยืดหยุ่น สามารถเข้าใจว่าตัวเองทำอะไรได้และทำไม่ได้ โดยมีเอไอคอยช่วยตัดสินใจ ด้านที่ 2 นวัตกรรมเทคโนโลยีทางการศึกษาเกี่ยวกับ Space Education ทำให้อวกาศจากเรื่องไกลตัว ซับซ้อน เข้าถึงง่าย เข้าใจมากขึ้น ทั้ง New Space Economy, Traditional Space Economy และ Deep Space Exploration เช่น การให้เยาวชนได้ทดลองอวกาศได้เองที่บ้าน เน้นความช่างสังเกต นำมาประยุกต์ใช้กับความรู้รอบตัว ถือเป็นการเตรียมความพร้อมสู่อาชีพในอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้น ที่ยังขาดแคลน ‘คน’ ที่จะมาพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและเริ่มต้นทำธุรกิจนี้อย่างจริงจัง ซึ่งในประเทศไทยยังมีจำนวนน้อย นอกจากนี้ยังวิจัยด้าน Stem & Steam ทักษะแห่งอนาคต ที่เด็กจะไม่ได้เรียนแค่วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีเท่านั้น แต่นำศิลปะเข้ามาบูรณาการเพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ ผ่านกระบวนการคิดต่อยอดสร้างสิ่งใหม่ สุดท้าย ด้านที่ 3 คือ Startup เมื่อเรามี Core Technology ดังข้างต้นที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นผนวกกับบุคลากรที่เรามี เน้นให้ผู้เรียนเข้าใจปัญหา และลงมือทำจริง ก่อนจะพัฒนาให้ออกมาเป็นผลงานสู่สังคมและสร้างรายได้ในอนาคต”

อนาคตคาดว่าจะมีวิวัฒนาการใหม่ให้ตื่นตาตื่นใจและท้าทายมากขึ้นกว่าเดิม แน่นอนว่างานด้านนี้เป็นที่ต้องการจำนวนมากทุกธุรกิจและอุตสาหกรรม ดังนั้นการเตรียมความพร้อมของคนเป็นสิ่งสำคัญ ต้องสร้างทักษะใหม่ให้เก่งทัดเทียมนานาชาติได้ ยิ่งไปกว่านั้นการหล่อหลอมบุคลากรต้องอาศัยได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการศึกษาอย่างเต็มที่ด้วยเช่นกัน เมื่อความชาญฉลาดของเทคโนโลยี ผสานองค์ความรู้ของมนุษย์มาบรรจบกัน ระบบการเรียนการสอนของโลกย่อมแตกต่างไปจากเดิมแน่นอน

ที่มา: สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์