ARV ชวนกูรูด้าน Cyber Security และ Subsea Machine Learning ของไทย ร่วมถกอนาคตการต่อยอดพัฒนานวัตกรรมหุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์สู่โอกาสใหม่ๆ ในงาน AI & Robotics Hackathon 2021: Open House
บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (ARV) ผู้นำด้านการพัฒนา และให้บริการเทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ของไทย ในเครือ ปตท.สผ. จัดเสวนาพิเศษในงาน AI & Robotics Hackathon 2021: Open House ภายใต้หัวข้อ Quantum Cryptography: The Future of Cyber Security และ Subsea Machine Learning: Deep Diving into Undiscovered Opportunities พร้อมเผยมุมมองความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบันจากหลากหลายวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ชั้นนำของไทย
ดร.ธนา สราญเวทย์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไป ARV เกริ่นนำถึงความสำเร็จของบริษัทในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมาใน 3 มิติ อันประกอบด้วย มิติแรก คือบุคลากรที่ปัจจุบันมีพนักงานกว่า 200 คน รวมทั้งคนใหม่ ๆ ที่เข้ามาเสริมทัพทุกสัปดาห์ มิติ 2 คือโครงการ 5G x UAV SANDBOX ซึ่งเป็นศูนย์ทดสอบนวัตกรรมต่างๆ เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพความเร็วในการรับส่งข้อมูลในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ได้สร้างเสร็จสมบูรณ์และเตรียมเปิดอย่างเป็นทางการเดือนพฤศจิกายนนี้ และมิติที่ 3 คือการจัดตั้งบริษัทลูกขึ้น 4 บริษัท อันประกอบด้วย Rovula: ธุรกิจ Subsea IRM สำหรับการตรวจสอบ ซ่อมแซม และบำรุงรักษาใต้ทะเลอย่างครบวงจร, Skyller: ธุรกิจการทำ Industrial Infrastructure Inspection Platform โดยการใช้หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์, Varuna: ธุรกิจเกษตรอัจฉริยะอย่างครบวงจรใน scale ระดับประเทศ และ Cariva: ธุรกิจน้องใหม่ที่ยกระดับการดูแลรักษาสุขภาพให้แก่ภาคธุรกิจและประชาชนไทย ผ่าน Platform เครือข่ายข้อมูล และบริการด้านสุขภาพ
สำหรับจุดประสงค์ของการจัด AI & Robotics Hackathon 2021 ครั้งนี้ คือเพื่อส่งเสริม ต่อยอด พัฒนาองค์ความรู้, พัฒนาและแสวงหาโอกาสทางธุรกิจ, สร้างเครือข่ายพันธมิตรกับทุกภาคส่วนอย่างเปิดกว้าง และเปิดโอกาสให้ผู้เข้าแข่งขันได้รับความรู้ทั้งเชิงกว้างและเชิงลึกเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการต่อยอดไอเดียและนำไปใช้งานจริงต่อไป
ในการเสวหาหัวข้อแรก Quantum Cryptography: The Future of Cyber Security เกี่ยวข้องกับโจทย์การแข่งขัน Track I: Cyber Security ร่วมกันยกระดับความสามารถและขีดจำกัดของ Digital Wallet ให้สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยสำหรับผู้ใช้งาน โดยอาศัยความก้าวหน้าของควอนตัมคอมพิวเตอร์ และบทบาทสำคัญต่ออนาคตของเทคโนโลยีการสร้างความปลอดภัยให้กับโลกไซเบอร์
สินธู ศตวิริยะ Head of Ventures ARV เปิดประเด็นว่า ปัจจุบัน Cyber Security เป็นภัยใกล้ตัวที่มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้คนจำนวนมาก การวางโจทย์จึงมุ่งเน้นการออกแบบโซลูชั่นสำหรับ Digital Wallet โดยเฉพาะ เนื่องจากปัจจุบัน ตลาดนี้ถือเป็นตลาดใหญ่ที่มีการลงทุนสูงและมีผู้บริโภคใช้งานจำนวนมาก ตั้งแต่รูปแบบของแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ หรือ Hardware Wallet ที่ใช้เก็บ Bitcoin จึงต้องการโซลูชั่นด้าน Security ที่ครอบคลุมทั้งในส่วน Identity Management, Communication Protocol และ Access Protocol
ดร.จิรวัฒน์ ตั้งปณิธานนท์ CEO & Co-founder, Quantum Technology Foundation (Thailand) เสริมว่า ด้วยความก้าวหน้าและความสามารถของควอนตัมคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน ความท้าทายในการตีโจทย์ข้อนี้คือการสร้างระบบ Cyber Security ที่พัฒนาให้ทันตามกัน ด้วยการใช้ Cryptography ครอบคลุมทุกเลเยอร์ และออกแบบมาให้มีความไดนามิกสูงเพื่อป้องกันและรับมือกับภัยคุกคามที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและในอนาคต
ในการเสวนาหัวข้อที่สอง Subsea Machine Learning: Deep Diving into Undiscovered Opportunities เป็นการอธิบายหัวข้อการแข่งขันใน Track II: Subsea Machine Learning การพัฒนานวัตกรรมเพื่อการเข้าถึงโอกาสใหม่ ๆ ที่ยังไม่ถูกค้นพบใต้ท้องมหาสมุทรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการออกแบบ Machine Learning Model ที่มีความสามารถในการตรวจจับและแยกแยะวัตถุใต้ท้องทะเล
ภัคชนม์ หุ่นสุวรรณ์ Co-founder, ROVULA เกริ่นนำถึงภาพรวมของการนำเอไอและ Machine Learning มาใช้ในการสำรวจใต้น้ำ ซึ่งสิ่งสำคัญคือหุ่นยนต์ต้องมีความฉลาดด้วยตัวเอง เพราะใต้น้ำมีข้อจำกัดเรื่องสัญญานการสื่อสาร ตัวหุ่นยนต์ต้องมีเซ็นเซอร์มากมายเพื่อใช้การนำทางและระบุตำแหน่งตัวเอง ความมุ่งหวังของ ARV คือการยกระดับการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้าง Ecosystem ที่สามารถให้หุ่นยนต์ที่อยู่ใต้น้ำทำงานแทนคนได้อย่างสมบูรณ์แบบ เพื่อลดการใช้คนลงให้ได้มากที่สุด
ดร.ประวีร์ เครือโชติกุล UTC Team Leader, Chulalongkorn University Technology Center (UTC) เสริมว่าปัจจุบัน เราสามารถนำเทคโนโลยี Machine Learning และ AI มาใช้แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตจริงได้กว่า 90 % แล้ว ทั้งที่ใช้เพื่อการพัฒนาบริการต่าง ๆ การใช้งานในทางการแพทย์และดูแลสุขภาพ และการใช้งานเฉพาะทางในภาคอุตสาหกรรม จึงมีโอกาสและศักยภาพสูงในการพัฒนาเพื่อนำมาใช้ในการสำรวจใต้น้ำ
จิตวิสุทธิ์ พู่มนตรี AI Apprentice, Chulalongkorn University Technology Center (UTC) กล่าวถึงความท้าทายสำคัญในการพัฒนาหุ่นยนต์สำรวจใต้น้ำ คือความสามารถในการตรวจสอบที่แม่นยำ และตรวจจับความผิดปกติให้ได้มากที่สุด เพื่อลดต้นทุนที่สูงจากการใช้คนสำรวจ สามารถสกรีนหาสิ่งผิดปรกติเบื้องต้นได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องใช้คนในการเฝ้าติดตามดูวิดิโอนานนับพันชั่วโมง และต้องหาทางแก้ไขข้อจำกัดต่าง ๆ เช่น ความไม่ชัดเจนของภาพจากอุปสรรคต่าง ๆ ใต้น้ำ การใช้ classification model ในการจำแนกแยกแยะภาพ การสร้าง data set และตัวชี้วัดสิ่งผิดปกติที่เหมาะสม และการสร้างข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการใช้งานจริง
ARV Hackathon 2021 งานที่ผู้เข้าแข่งขันจะได้คิดและลงมือทำ
เปิดโอกาสให้ผู้สมัครทุกอาชีพ ไม่ว่าจะเป็น นักศึกษา Start-up, Programmer, Innovator หรือบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจ ในรูปแบบทีม 3 – 5 คน เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ เปิดรับสมัครวันนี้ถึง 5 พฤศจิกายน 2564 พร้อมชิงเงินรางวัล 100,000 บาทสำหรับผู้ชนะเลิศ 50,000 บาทสำหรับรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง และ 20,000 บาทสำหรับรองชนะเลิศอันดับสอง พร้อมโอกาสในการร่วมมงานกับ ARV ในอนาคต ด้วยการแข่งขันใน 2 Tracks คือ
- Track I: Cyber Security ร่วมกันยกระดับความสามารถและขีดจำกัดของ Digital Wallet ให้สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยสำหรับผู้ใช้งาน จะจัดแข่งขัน Hackathon วันที่ 20-21 และ 27 พฤศจิกายน 2564
- Track II: Subsea Machine Learning ร่วมออกแบบ Machine Learning Model ที่มีความสามารถในการตรวจจับและแยกแยะวัตถุใต้ท้องทะเล จะจัดแข่งขัน Hackathon วันที่ 11-12 และ 18 ธันวาคม 2564
โดยทั้งสอง Track เป็นธุรกิจที่ ARV กำลังพัฒนาอยู่ ดังนั้น Hackathon ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสของผู้เข้าแข่งขัน ที่จะได้มาร่วมสร้างโซลูชั่นเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมจริง และ Case Study จริง
ARV Hackathon 2021 เปิดประสบการณ์การแข่งขันแบบใหม่ ที่ใช้โจทย์จากปัญหาที่พบและต้องการแก้ไขจากอุตสาหกรรมจริง ซึ่งผู้เข้าแข่งขันจะได้รับประสบการณ์ที่ไม่สามารถหาได้จากการแข่งขันที่ไหนมาก่อน เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้แสดงศักยภาพ เพิ่มโอกาสในการพัฒนานวัตกรรมร่วมกับ ARV ในอนาคต เปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมแข่งขันแล้ววันนี้ จนถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 ร่วมสมัครพร้อมติดตามรายละเอียด และกติกาการแข่งขันได้ที่เว็บไซต์ arvhackathon2021.riseaccel.com
ผู้ที่สนใจสามารถรับชมบรรยากาศจากงาน AI & Robotics Hackathon 2021: Open House และการเสวนาย้อนหลังได้ที่ https://bit.ly/3CfuiFP
ที่มา: โอกิลวี่ ประเทศไทย