การใช้มือถือหรือสมาร์ทโฟนเพื่อติดต่อพูดคุยกันไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายคนก็ใช้สื่อสารกันเป็นปกติผ่านโปรแกรม Chat อยู่แล้ว แต่สำหรับการแชทเพื่อพูดคุยหารือกับบุคลากรทางการแพทย์ นำไปสู่การให้คำปรึกษาและแนวทางการรักษาผู้ป่วยแบบทางไกล หรือที่เรียกว่า เทเลเมดิซีน (Telemedicine) นั้นกำลังจะเป็น “ทางเลือกใหม่” ที่เริ่มใช้แพร่หลายอย่างจริงจังมากขึ้นในช่วงที่เราไม่ควรออกนอกบ้าน ลดความเสี่ยงจากการแพร่เชื้อหรือรับเชื้อจากสถานที่ชุมชนต่างๆ
เทเลเมดิซีน (Telemedicine) แท้จริงแล้วคืออะไร?
เทเลเมดิซีน เป็นคำที่วงการแพทย์คงได้ยินมานาน เพราะมันคือการปรับใช้เทคโนโลยีเครื่องมือสื่อสารให้ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์สามารถพูดคุยกันได้แบบ Real-time ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารผ่านแชต ผ่านระบบ VDO conference ที่สามารถมองเห็นหน้าหรือสนทนาได้โดยตรง ไร้ข้อจำกัดในเรื่องเวลาและสถานที่ ง่าย สะดวกสบาย แต่ยังคงได้รับบริการเหมือนกับที่โรงพยาบาล ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน หลายสถานพยาบาลในไประเทศไทยได้พัฒนาระบบเทเลเมดิซีน มาให้บริการมากขึ้น
คำถามที่ตามมาคือ “แล้วจะใช้เครื่องมือเทเลเมดิซีนนี้อย่างไร” “ต้องโหลดโปรแกรมอะไร ต้องเสียเงินเพิ่มหรือเปล่า” “การใช้งานจะยุ่งยากไหม” ซึ่งคำตอบนั้นฟังแล้วอาจจะประหลาดใจ เพราะไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติมให้ยุ่งยาก เทเลเมดิซีนอยู่ในมือของทุกคนแล้ว ถ้าทุกคนใช้ LINE ก็สามารถใช้เทเลเมดิซีนได้เลย
ฟีเจอร์ LINE เบื้องต้นก็นำมาใช้ทำ เทเลเมดิซีน ได้
แล้วผู้ให้บริการจะใช้ LINE เป็นเครื่องมือสื่อสารรักษาผู้ป่วยแบบทางไกลได้อย่างไร หากมีข้อจำกัดในเรื่องบุคลากรด้านไอที งบประมาณและเวลาท่ามกลางสถานการณ์เร่งด่วนเช่นนี้?… คำตอบคือสามารถทำได้โดยการใช้ฟีเจอร์ใน LINE Chat เบื้องต้นง่ายๆ ที่ออกแบบมาเพื่อสื่อสารในชีวิตประจำวันอยู่แล้วให้เป็นประโยชน์ เพียงเปลี่ยนสถานะของผู้ใช้มาเป็น “คนไข้” กับ “คุณหมอ” เท่านั้น
- LINE VDO Call: ที่สามารถทำได้ทั้งในห้องแชต 1:1 หรือในกรุ๊ปแชต เพียงกดไอคอนรูปโทรศัพท์ตรงมุมขวาในห้องแชต รออีกฝ่ายกดรับสายก็สามารถพูดคุยแบบเห็นหน้ากันได้แล้ว อีกทั้งคุณหมอยังสามารถแชร์หน้าจอผลการรักษาหรือผลการตรวจต่างๆ ให้คนไข้ได้เลย ขณะเดียวกันคนไข้เองก็สามารถโชว์อาการบาดเจ็บหรืออาการป่วยให้คุณหมอเห็นได้ทันทีด้วยเช่นกัน
ศึกษาวิธีการใช้และแชร์หน้าจอผ่าน LINE VDO Call ได้ที่นี่: https://lin.ee/XDx7ZC8/wcvn - LINE Meeting: ในกรณีที่คุณหมอไม่ได้เป็นเพื่อนกับคนไข้ใน LINE หรือไม่อยากสร้างกรุ๊ปใน LINE เพิ่มขึ้นมาใหม่ การใช้ LINE Meeting สร้างลิงก์สำหรับพูดคุย ประชุมออนไลน์ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกได้เช่นกัน โดยเหมาะสำหรับการพูดคุย ปรึกษาคนไข้กลุ่มใหญ่ที่ทุกคนอาจจะไม่ได้เป็นเพื่อนกันใน LINE สมาชิกสามารถนำลิงก์ไปให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมได้ทันที ทำให้ทุกฝ่ายสามารถเข้าร่วมได้โดยง่าย ได้รับข้อมูลตรงกัน โดยรองรับการประชุมร่วมกันได้มากสุดถึง 500 คน
ศึกษาวิธีการใช้ LINE Meeting ได้ที่นี่: https://lin.ee/z34TSYF/wcvn - – LINE OpenChat: คอมมิวนิตี้แหล่งใหญ่ที่สามารถสร้างห้องสนทนาย่อยตามหัวข้อที่แตกออกไปได้ เหมาะสำหรับเป็นศูนย์ให้คำปรึกษา ความช่วยเหลือคนไข้ในรูปแบบข้อแนะนำ คำตอบสั้นๆ จากคุณหมอ หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่จำเป็นต้องวิดีโอคอล โดยหน่วยงานสามารถมอบหมายให้บุคลากรทางการแพทย์ทำหน้าที่แอดมินกรุ๊ป คอยตอบปัญหาสุขภาพ ปัญหาพื้นฐานที่คนมักถามได้อย่างง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ทำให้การสื่อสารเป็นไปอย่างฉับไว รวดเร็ว
ศึกษาวิธีการใช้งาน LINE OpenChat เบื้องต้นได้ที่นี่ : https://lin.ee/uItmS7l/gyjp/oagrt
ฟีเจอร์เหล่านี้อาจเป็นแค่ตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า ทุกคนสามารถเข้าถึง Telemedicine ได้โดยง่าย เพียงรู้จักปรับใช้ฟีเจอร์ต่างๆ ใน LINE มาเป็นช่องทางการให้บริการที่สะดวกและปลอดภัยสำหรับทุกฝ่ายในช่วงเวลาวิกฤต โดยไม่จำเป็นต้องจัดทำระบบให้ซับซ้อน
ใช้ LINE OA ต่อยอด อำนวยความสะดวกคนไทยเข้าถึง เทเลเมดิซีน
แต่สำหรับองค์กรหรือหน่วยงานการแพทย์ที่มีการใช้ LINE Official Account (LINE OA) อยู่แล้ว ฟีเจอร์พื้นฐานของ LINE OA ก็สามารถช่วยยกระดับการให้บริการ Telemedicine ให้เข้าถึงสะดวกและสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เช่น ฟีเจอร์ริชเมนู (Rich Menu) เมนูหลักที่ปรากฏด้านล่างของห้องแชตใน LINE OA ที่แอดมินสามารถออกแบบให้แต่ละช่องลิงก์ไปสู่หน้าปลายทางใดๆ ก็ได้ตามต้องการ หลายหน่วยงานพยาบาลใช้ Rich Menu นี้เป็นช่องทางลัดให้คนไข้เข้าถึงบริการแบบทันใจ ไม่ว่าจะเป็นการจองคิวนัดหมาย ติดตามข้อมูลสุขภาพหรือประวัติการรักษาของตนได้เอง รวมถึงเป็นช่องทางลัดให้คนไข้สามารถติดต่อสื่อสารกับหน่วยงานได้โดยตรง
ยกตัวอย่างเช่น LINE OA @Ramacovid ที่ใช้ฟีเจอร์ Rich Menu เป็นช่องทางให้คนไข้เลือกเข้าถึงบริการต่างๆ ของโรงพยาบาลได้เองแบบทันใจ โดยเลือกคลิกในสิ่งที่พวกเขาอยากรู้และต้องการคำตอบได้เอง ตัดปัญหาการใช้เวลาและแรงงานในการพูดคุยเบื้องต้นไปด้วยในตัว เช่น ข้อมูลวัคซีน เช็คสถานที่รับตรวจ และสามารถติดต่อขอปรึกษาพยาบาลแบบส่วนตัวผ่าน LIVE Chat ได้ ถือเป็นตัวอย่างการใช้ฟีเจอร์ใน LINE OA มาอำนวยความสะดวกให้คนไข้อย่างครบถ้วนโดยไม่ต้องเดินทางมาสถานพยาบาลโดยไม่จำเป็น
หรืออีกหนึ่งองค์กรที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพอย่าง ศิริราชพยาบาล ที่ได้พัฒนาทำ Telemedicine ผ่าน LINE OA @SIRIRAJConnect ที่นอกจากจะใช้เครื่องมือแชทในการการบรอดแคสต์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ประจำวันทางการแพทย์แล้ว ยังใช้ฟีเจอร์ Rich Menu เชื่อมต่อกับฐานข้อมูลของโรงพยาบาล เพื่อเป็นช่องทางลัดในการเข้ารับบริการจากโรงพยาบาลเบื้องต้น เช่น ลงทะเบียนทำนัดหมายพบแพทย์ ตรวจสอบสิทธิ์ในการรักษา แสดงตารางวันนัดพบแพทย์ รวมถึงให้บริการพบแพทย์ออนไลน์บน LINE OA ด้วย
นอกจากนี้ หลากหลายองค์กรที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ COVID-19 ยังได้ใช้แชทมาเป็นช่องทางให้บริการประชาชนในช่วงวิกฤต โดยไม่ต้องเดินทางและยังช่วยแบ่งเบาภาระของสายด่วนต่างๆ ที่ต้องทำงานหนัก เช่น การใช้ @sabaideebot ของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเขตกทม.และปริมณฑล เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการลงทะเบียนหาเตียงโดยมีทีมติดตามให้ความช่วยเหลือ เป็นต้น
ต้องบอกว่าในช่วงเวลาอันแสนวุ่นวายนี้ มองทางไหนก็ดูยากลำบากไปหมด โดยเฉพาะสำหรับหน่วยงานการแพทย์ทั่วประเทศไทย เทคโนโลยีกลายเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะทำให้บริการทางการแพทย์ต่างๆ ยังคงเดินหน้าให้บริการประชาชนได้อย่างว่องไวในช่วงวิกฤตนี้ โดย LINE พร้อมเป็นอีกหนึ่งกำลังใจและเป็นแพลตฟอร์มพื้นฐานให้หน่วยงานการแพทย์ทั่วไทยนำไปประยุกต์ใช้ สู่การให้บริการ ‘เทเลเมดิซีน’ เพื่อช่วยเหลือคนไทยได้อย่างทันท่วงที
ติดตามคอนเทนต์ความรู้และกิจกรรมมากมายที่ LINE อาสาช่วยคนไทยทุกภาคส่วนในยามวิกฤตผ่านแคมเปญ WE LOVE YOU ได้ที่นี่: https://lin.ee/ewb3N7H/wcvn/PR/weloveyou
ที่มา: ไอเดีย เวิร์คส์ คอมมิวนิเคชั่นส์