บริษัท เบ็นคิว (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เผยส่วนแบ่งการตลาดกลุ่มผลิตภัณฑ์ Interactive Flat Panel (IFP) เติบโตแบบก้าวกระโดดจากอันดับที่ 10 ก้าวสู่อันดับที่ 4 ในปี 2020 ด้วยมาร์เก็ตแชร์ 9.50% ภายใต้แผนการนำโซลูชั่นเพื่อการเรียนรู้แบบผสมผสานตอบสนองชีวิตวิถีใหม่
การขยายส่วนครองตลาดของกลุ่มผลิตภัณฑ์ Interactive Flat Panel (IFP) หรือจอภาพแบบทัชสกรีนได้รับความสนใจจากหลากหลายกลุ่มธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งกลุ่มสถาบันการศึกษา และกลุ่มองค์กรเอกชน นายวัชรพงษ์ วงษ์มา ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายผลิตภัณฑ์ ได้เผยถึงการปรับกลยุทธ์การตลาดครั้งนี้ ว่า ” ทาง เบ็นคิว ได้เดินตามแผนการตลาดที่วางไว้ตั้งแต่ปี 2018 ด้วยการเจาะกลุ่มตลาดการศึกษาและกลุ่มห้องประชุมในบริษัทเอกชน ซึ่งส่งผลให้แนวโน้มของตลาดจอภาพ IFP นั้นเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยฟีเจอร์ และออปชันต่างๆ ที่ตอบโจทย์การใช้งานได้เหนือกว่าโปรเจคเตอร์สำนักงานหรือโปรเจคเตอร์แบบอินเตอร์แอคทีฟที่ใช้ในองค์การศึกษา โดยจอ IFP นั้นมีระบบปฏิบัติการทั้ง Windows และ Android ที่สามารถเพิ่มซอฟต์แวร์ต่างๆ เข้าไปบนตัวเครื่องเพื่อให้การประชุมทางไกลหรือการเรียนรู้ของเด็กๆ ดูมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น “
” ปีที่ผ่านมา เบ็นคิว ได้ปรับกลยุทธ์เพื่อนำเสนอโซลูชั่นให้เหมาะกับสถาบันการศึกษาและบริษัทเอกชนในยุค Learn from home และ Work from home ซึ่งได้ผลตอบรับดีเกินความคาดหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 50:50 Distance Learning Solution ที่ออกแบบมาให้เด็กนักเรียนครึ่งหนึ่ง เรียนที่บ้าน ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเรียนที่โรงเรียนแล้วสลับกันเข้ามาเรียน เพื่อช่วยลดความแออัดของจำนวนนักเรียนต่อชั้นเรียน และโซลูชั่นดังกล่าวยังสามารถนำไปเป็นแผนรองรับในอนาคตได้ถึงแม้ว่าเชื้อโควิด-19 นั้นจะหายไปหรือเกิดการระบาดของโรคใหม่ก็ตาม “
” ส่วนกลุ่มลูกค้าองค์กร หลายบริษัทได้เรียนรู้ในเรื่องของการลดต้นทุนเพื่อเตรียมพร้อมรับมือต่อสถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน ซึ่งแน่นอนว่าหลายบริษัทเลือกที่จะปิดสำนักงานสาขาแล้วให้พนักงานทำงานที่บ้าน หรือเช่า Co-working space หรือร้านกาแฟ เพื่อความคล่องตัวในการติดต่อเข้าหาลูกค้า และในขณะเดียวกันยังสามารถที่จะประชุมกับส่วนกลางได้ตลอดเวลา โดยจอ IFP ของเบ็นคิว จะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในห้องประชุมหลักของส่วนกลางหรือสำนักงานใหญ่ เพื่อให้ผู้พูดจากต้นทางสามารถขีดเขียน คอมเมนต์หรือแบ่งปันข้อมูลได้ ในขณะที่ผู้ร่วมประชุมก็สามารถที่จะขีดเขียนหรือคอมเมนต์ได้ในแบบ 2-way communication เช่นกัน “
” อย่างไรก็ดีด้วยนวัตกรรมโซลูชั่นที่ตอบสนองความต้องการจากผู้ใช้งานได้หลากหลายจึงทำให้ จอ IFP ของเบ็นคิวได้รับความไว้วางใจจากกลุ่มตลาดเป้าหมายและทำให้ช่วงปี 2020 ในไตรมาสแรกได้รับส่วนแบ่งที่ 4.42%, ไตรมาสสองที่ 9.37%, ไตรมาสสามที่ 6.30% และไตรมาสสี่ที่ 16.16% ครองอันดับที่ 2 ในช่วงท้ายของปี และผลรวมภายในปี 2020 ของจอภาพ IFP ของเบ็นคิวได้รับส่วนแบ่งที่ 9.50% ครองอันดับที่ 4 และนอกจากนี้ เบ็นคิว ยังทำตลาดเชิงรุกในช่องทางการจำหน่ายมีที่ทั้งแบบเช่าซื้อหรือเช่าใช้ รวมถึงแบบซื้อขาดครั้งเดียว ผ่านพันธมิตรทางธุรกิจของเบ็นคิว ที่ส่งผลให้กลุ่มลูกค้าเหล่านั้นสามารถตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น “
” สำหรับในปี 2021 ทางเบ็นคิว ได้เตรียมผู้เชี่ยวชาญทางด้านโซลูชั่น พร้อมเดินหน้าตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายภายใต้ยุค New Normal โดยเน้นไปที่กลุ่มตลาดทางด้านการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนรัฐ, เอกชน และนานาชาติ เป็นต้น รวมไปถึงกลุ่มลูกค้าองค์กร พร้อมนำเสนอโซลูชั่นที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับลูกค้า ส่วนทิศทางของตลาด IFP โดยรวมในปีหน้าจะร้อนแรงมากยิ่งขึ้นเพราะมีแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาทำตลาดอย่างต่อเนื่อง แต่ทางเบ็นคิวก็ได้มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการสร้างแบรนด์เชิงลึกหรือที่เรียกว่า Segment King พร้อมปรับกลยุทธ์ด้วยการเพิ่มช่องทางการจำหน่าย เน้นการทำยอดขายให้เติบโตโดยไม่ต้องกังวลกับจำนวนคู่แข่งทางการค้าที่เพิ่มขึ้น และในปี 2021 นี้คาดการณ์ไว้ว่าจอ IFP ของเบ็นคิว จะสามารถขยับจากอันดับที่ 4 มาเป็นอันดับที่ 3 ของตลาดและเป็นอันดับที่ 2 ในปี 2022 ” นายวัชรพงษ์ กล่าวเสริม
ด้าน นายโชตินนท์ เวชมงคลกร ผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ ได้เล่าถึงการเตรียมความพร้อมที่จะผลักดันจอ IFP ให้ไปถึงกลุ่มเป้าหมายว่า ” จอภาพอัจฉริยะ IFP แบบทัชสกรีนจากเบ็นคิว ออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกในการเรียนการสอนด้วยการติดตั้งระบบ Classroom Care หน้าจอป้องกันแบคทีเรีย และเซ็นเซอร์ตรวจจับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้ง Eye care Sensor ที่จะปรับลดความสว่างของหน้าจออัตโนมัติตามสภาวะความสว่างของห้อง หรือหากมีคุณครูที่ยืนสอนอยู่ข้างหน้าจอ IFP ตัวจอก็จะทำการลดความสว่างลงทันทีเพื่อถนอมสายตาขณะเขียนด้านหน้าจอ “
” พร้อมกันนี้ ภายในปี 2021 ทางเบ็นคิวได้เตรียมนำเสนอโซลูชั่นภายใต้แนวคิด Blended Learning หรือการเรียนรู้แบบผสมผสาน ซึ่งเป็นโมเดลที่ทำคล้ายกับเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ที่ออกแบบหลักการเรียนแบบ 50:50 คือ การเรียนที่ห้องเรียนครึ่งหนึ่ง และเรียนออนไลน์ที่บ้านอีกครึ่งหนึ่ง โดยให้เด็กสลับกันมาเรียนอาทิตย์ละ 2- 3 วันต่อสัปดาห์ เด็กนักเรียนที่เรียนที่บ้านจะมีแล็ปท๊อป หรือคอมพิวเตอร์ ที่ใช้ในการเรียน ส่วนทางครูผู้สอนจะทำการสอนผ่านจอภาพ IFP ของเบ็นคิว ในห้องเรียนพร้อมกับนักเรียนอีกครึ่งหนึ่งของห้อง จอ IFP ของ เบ็นคิว ยังสามารถต่อเข้ากับไมโครโฟนและกล้องเพื่อทำเรียนหรือประชุมทางไกลแบบ Video Conference ได้ด้วยการเชื่อมต่อผ่าน Cloud Whiteboard ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการโต้ตอบระหว่างนักเรียนและคุณครู ซึ่งจะทำผ่านโปรแกรม Zoom หรือ Google Meet ก็ได้เช่นกันโดยที่ไม่ต้องใช้วงแลนหรืออินเตอร์เน็ตตัวเดียวกัน ซึ่งนั่นหมายความว่าเด็กที่เรียนที่บ้านและที่โรงเรียนสามารถเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันได้แบบไร้รอยต่อ ” นายโชตินนท์ กล่าวปิดท้าย
ที่มา: แอ็ท ออล อิน วัน