หลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีแนวโน้มเผชิญกับภัยคุกคามที่มีความซับซ้อนครอบคลุมเชื่อมโยงหลายมิติ อาทิ ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ปัญหาความมั่นคงทางทะเล และปัญหาโรคอุบัติใหม่ หน่วยงานความมั่นคงในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักและรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาความมั่นคง จึงได้ทบทวนแผนให้มีความก้าวทันต่อสถานการณ์ กอปรกับนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หรือ ไทยแลนด์ 4.0 ที่นายกรัฐมนตรีได้ลงนามอนุมัติแผน โครงการสมาร์ทซิตี้จังหวัดขอนแก่น (Smart City) ในปี 2559 ที่มีเป้าหมายการพัฒนาจังหวัดขอนแก่นให้อัจฉริยะตามมาตรฐานสากล 6 สาขา ได้แก่ การเดินทางและขนส่ง (Smart Mobility) พลเมือง (Smart People) ระบบเศรษฐกิจและบริหารจัดการ (Smart Economy) สิ่งแวดล้อม(Smart Environment) การบริหารจัดการภาครัฐ (Smart Governance) และ การมีคุณภาพชีวิตที่ดีของพลเมือง (Smart Living)
โจทย์ของหน่วยงานความมั่นคง และ การนำพาเมืองไปสู่ความอัจฉริยะ ประชาชนมีความปลอดภัย มีคุณภาพชีวิตที่ดี ส่งผลให้ศูนย์ปฏิบัติการ Smart City หรือ SCOPC (Smart City Operation Center) มหาวิทยาลัยขอนแก่น เกิดแนวคิดการนำเทคโนโลยี Digital Twin แผนที่ 3 มิติ มาใช้เพื่อให้เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงได้ฝึกฝน เพิ่มศักยภาพในการป้องกันให้มีความปลอดภัยต่อทั้งผู้ปฏิบัติงาน ประชาชน และ รับมือสถาการณ์ที่ไม่คาดคิดให้เกิดความแม่นยำมากที่สุด
รศ.ดร.รวี หาญเผชิญ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ นักวิจัยศูนย์ปฏิบัติการ Smart City หรือ SCOPC (Smart City Operation Center) มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า “Digital Twin เป็นแผนที่ 3 มิติ ที่มีความละเอียดสูงเหมือนกับคู่แฝดเสมือนจริงของพื้นที่จริง ตำรวจจะเป็นผู้ให้โจทย์มา ต่อจากนั้นนักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่นจะเป็นผู้สร้างสถานการณ์จำลองลงไปในพื้นที่ในโมเดล และ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะนำไปใช้ในการวางแผนระงับเหตุ ซึ่งตอนนี้ได้ทดลองนำไปใช้แล้วในหลายเหตุการณ์ เช่น ในกรณีที่มีการอารักขาผู้นำ รวมไปถึงบุคคลสำคัญระดับประเทศ จะใช้แผนที่ 3 มิติ ในการวางแผนกระจายกำลังและกำหนดจุดรักษาความปลอดภัย รวมไปถึงสามารถใช้ในการวางแผนสร้างสถานการณ์ต่าง ๆ โดยจะมีการสร้าง simulation เหมือนเกมลงไปในโมเดลเพื่อเป็นการจำลองสถานการณ์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนำไปวางแผนการปฏิบัติงานในแต่ละเหตุการณ์” รศ.ดร.รวี กล่าว
โดยหลักการการทำงานของเทคโนโลยี Digital Twin คือการทำสำเนาหรือแบบจำลองของสิ่งต่าง ๆ ทางกายภาพให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล ทั้งในรูปแบบของภาพ และข้อมูล มีกลไกเชื่อมต่อกับวัตถุของจริงผ่านระบบเซ็นเซอร์ที่คอยเก็บข้อมูลสถานะทางกายภาพของวัตถุแบบ Real-time ทำให้แบบจำลองนั้นเป็นเสมือนการย้ายวัตถุไปไว้ในโลกดิจิทัล ซึ่ง Digital Twin นั้นเป็นการผสมผสานของเทคโนโลยีหลายชนิด ได้แก่ เทคโนโลยีผลิตภาพ 3 มิติ หรือ VR และ AR ทำหน้าที่สร้างรูปร่างของวัตถุในโลกดิจิทัล เทคโนโลยีเซ็นเซอร์ และ Internet of Things (IoT) ทำหน้าที่เชื่อมต่อข้อมูลระหว่างโลกแห่งความเป็นจริงและโลกดิจิทัล รวมทั้งการอัพเดตข้อมูลแบบ Real-time เข้ามาใน Digital Twin เทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูล เช่น Machine Learning เพื่อทำนายเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น และ Software Analytics เพื่อดูแลการทำงานของซอฟต์แวร์ในระบบเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับสื่อสารเชื่อมต่อระบบเข้าด้วยกัน เช่น Cloud, Edge Computing, Automation, และ ระบบรักษาความปลอดภัย ซึ่งช่วยให้เทคโนโลยีทั้งหมดทำงานร่วมกันได้ด้วยดี การผสานความอัจฉริยะเหล่านี้นำมาซึ่งความสามารถในการตรวจสอบสถานะของวัตถุอย่างละเอียด กระทั่งสามารถจำลองได้ว่า หากสภาพแวดล้อม หรือสถานะจุดใดจุดหนึ่งภายในตัววัตถุเปลี่ยนไป จะเกิดผลกระทบอย่างไรบ้างกับวัตถุ กล่าวคือ ผู้ใช้งานสามารถจำลองสถานการณ์และทำนายความเป็นไปได้ในภาพที่สมบูรณ์มากขึ้น
แม้จะเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตอบโจทย์การบริหารจัดการความเรียบร้อยของเมือง แต่ Digital Twin กลับไม่ได้นำมาใช้งานกับภารกิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นอย่างแรก เพราะจุดเริ่มต้นที่แท้จริงในการใช้งานเกิดจากความต้องการของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่มุ่งสร้างฐานข้อมูลของมหาวิทยาลัยในรูปแบบของแผนที่ 3 มิติ เพื่อที่จะได้ทราบทรัพยากรของมหาวิทยาลัยขอนแก่นอย่างละเอียด
โดย รศ.ดร.รวี ได้เผยว่าจุดเริ่มต้นของการนำ Digital Twin มาใช้ เกิดจากการที่ “มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ขานรับนโยบายโครงการสมาร์ทซิตี้จังหวัดขอนแก่น นำไปสู่การมีคณะกรรมการ Smart City รวมไปถึงการตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการ Smart City หรือ SCOPC (Smart City Operation Center) ขอนแก่น โดยศูนย์นี้มีท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นประธาน พร้อมด้วย รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ และ คณาจารย์จากหลากหลายคณะที่ทำงานร่วมกัน มีคณะกรรมการผู้ดูแลโครงการวิจัยต่าง ๆ มากมายเพื่อขับเคลื่อนให้ขอนแก่นเป็นเมืองอัจฉริยะตามวัตถุประสงค์
ซึ่งการนำเทคโนโลยี Digital Twin มาใช้เป็นความต้องการของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ต้องการสร้างฐานข้อมูลของมหาวิทยาลัยในรูปแบบของแผนที่ 3 มิติ และ ต้องการเปลี่ยนแผนที่ 3 มิติให้กลายเป็นข้อมูล ทำให้เห็นทรัพยากรของมหาวิทยาลัยขอนแก่นทั้งหมด ตั้งแต่ตัวตึก อาคารเรียน ไปจนถึงถนน เสาไฟฟ้า ถังขยะ โดยสามารถใช้แอพพลิเคชั่นเข้าไปทำงานควบคู่กับหน่วยงานรักษาความปลอดภัยของมหาวิทยาลัย รวมไปถึงสามารถจำลองพื้นที่ในการวางแผนสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ทำให้มองเห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้น” รศ.ดร.รวี กล่าว
รศ.ดร.รวี กล่าวต่อไปว่า “เราตั้งเป้าหมายไว้ว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่นจะเป็นมหาวิทยาลัยแรกที่มีระบบดูแลทรัพยากรของตัวเอง ซึ่งเทคโนโลยีนี้จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อคณะผู้บริหาร คณะอาจารย์ และนักศึกษา ร่วมไปถึงผู้ปกครองโดยเฉพาะผู้ปกครอง ควรที่จะได้รับรู้ว่ามหาวิทยาลัยมีอะไรบ้าง เขาสามารถดูได้ผ่านมือถือ ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ปกครองที่จะส่งบุตรหลานเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยผู้ปกครองมั่นใจได้ว่าบุตรหลานที่เข้ามาเรียนจะมีชีวิตที่สะดวกสบายและปลอดภัย ความคืบหน้าตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของการสแกนพื้นที่ของทางมหาวิทยาลัยคาดว่าจะสามารถนำไปใช้ได้จริงในปีหน้า” นักวิจัยศูนย์ SCOPC กล่าว
การเดินทางของ digital twin จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้เทคโนโลยีตอบโจทย์การบริหารจัดการภายในมหาวิทยาลัย และ ได้ขยายผลในการนำเทคโนโลยีไปใช้ในระดับเมือง แนวทางที่เกิดขึ้นนับเป็นผลดีอย่างยิ่งที่การใช้เทคโนโลยีไม่ได้ขับเคลื่อนความก้าวหน้าเพียงแค่องค์กร แต่ยังขยายไปสู่ภาพกว้างอย่างการตอบสนองนโยบายเมือง นอกจากนี้การพัฒนาที่ขยายเป็นวงกว้างยังเป็นไปตาม นิยามเมืองอัจริยะ ที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง มีการบริหารจัดการเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิตของประชาชนในเมืองดีขึ้นอย่างยั่งยืนภายใต้การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ชาญฉลาดทันสมัย
ที่มา: มหาวิทยาลัยขอนแก่น