วิกฤติโควิด-19 ในขณะนี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และวิถีชีวิตของประชาชนทั่วโลกในวงกว้าง และทำให้เราต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การดำเนินการให้สอดรับกับวิถีที่มีความคล่องตัวและยั่งยืนมากขึ้น เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถฟื้นตัวกลับมาได้อย่างรวดเร็วรวมทั้งป้องกันวิกฤติจากประวัติศาสตร์ซ้ำรอยในอนาคต ทั้งนี้ บรรดาผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกต่างมองว่าหนึ่งในเครื่องมือที่จะช่วยให้การฟื้นฟูอย่างยั่งยืนเป็นจริงขึ้นมาได้ก็คือ “เทคโนโลยีดิจิทัล” ซึ่งจะเป็นองค์ประกอบสำคัญของการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในยุคหลังโควิด-19
ภายในงานสัมมนาออนไลน์หัวข้อ “A green recovery in Asia: Opportunities for concerted action” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ คุณแคทเธอรีน เฉิน รองประธานอาวุโสและผู้อำนวยการคณะผู้บริหารบริษัท หัวเว่ย ได้กล่าวถึงโอกาสในการปรับโฉมภาคเศรษฐกิจและสังคมเพื่อรับมือวิกฤติในอนาคตไว้ว่า “เราเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าการนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้เพื่อช่วยอนุรักษ์โลกของเราเป็นสิ่งจำเป็น เราได้เห็นภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชนหันมาให้ความสำคัญกับปัญหาด้านธรรมชาติและภาวะโลกร้อนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหัวเว่ยเชื่อมั่นว่าศักยภาพของเราไม่ได้จำกัดอยู่แค่การผลักดันเทคโนโลยีให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการผลักดันศักยภาพของสังคมโลก และมุ่งมั่นอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืนด้วยเช่นกัน”
บรรดาผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานนานาชาติต่างมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าเทคโนโลยีดิจิทัลคือคำตอบของปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน โดยคุณยอน ชุล ยู ทูตภาวะโลกร้อนจากกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐเกาหลี มองว่าการพัฒนาของเทคโนโลยีจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตมนุษย์ในแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในเวลา 20 ปีต่อจากนี้ ซึ่งการเปลี่ยนผ่านเชิงดิจิทัลจะนำไปสู่การลดการใช้พลังงานที่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลงทุนด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เพื่อวางอนาคตที่สดใสให้แก่เยาวชนรุ่นถัดไป นอกจากนี้ คุณยอน ชุล ยู ยังมองว่า
ทุกภาคส่วนต้องทำความเข้าใจและมองหาโอกาสจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนั้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากภาครัฐ ภาคธุรกิจ หรือภาคสังคมเพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง แต่ต้องเกิดจากความร่วมมือกันของทุกฝ่ายเพื่อให้การเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
เช่นเดียวกับคุณอาซาด นาควี หัวหน้าฝ่ายเลขานุการ โครงการ The Partnership for Action on Green Economy (PAGE) ของสหประชาชาติ ที่กล่าวถึงบทบาทของเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีผลต่อการฟื้นฟูสู่โลกสีเขียวว่า “โครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีถือเป็นสิ่งสำคัญมากในขณะนี้ เพราะทุกอย่างจะปรับเปลี่ยนสู่การเป็นดิจิทัลทั้งหมด ข้อมูลจะเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพ และการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องพึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลและ AI
ในปัจจุบัน เราจะเห็นได้ว่าภาครัฐในหลายประเทศให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยเองเป็นหนึ่งในประเทศที่อนุมัติแผนการพลิกฟื้นและพัฒนาเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม “Green Recovery” ตอนนี้เรามีโอกาสตัดสินใจว่าจะให้อนาคตต่อจากนี้เป็นอย่างไร และเราสามารถใช้โอกาสนี้เพื่อรีเซ็ตโมเดลธุรกิจหรือวิถีชีวิตของเราใหม่ เพื่อให้เป็นไปอย่างยั่งยืน”
“ความต้องการใช้งานโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีและข้อมูลจะเป็นสิ่งสำคัญมากในโลกยุคหลังโควิด สังเกตได้จากในปัจจุบันที่เราหันมาใช้โปรแกรมประชุมออนไลน์ เช่น Zoom มากขึ้น ผลการศึกษาจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศระบุว่าเราต้องใช้เงินทุนประมาณ 428,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อให้คนจำนวน 3,000 ล้านคนที่เหลือทั่วโลกเชื่อมต่อถึงกันได้ภายในปี ค.ศ. 2030 งบประมาณการลงทุนก้อนนี้จะมาจากภาคเอกชนถึง 70% ซึ่งควรให้ความสำคัญในการทำให้โครงสร้างพื้นฐานทั้งโครงข่ายและดิจิทัลเป็นไปอย่างยั่งยืน”คุณเมิง หลิว(Meng Liu) หัวหน้าโครงการ UNGC สาขาภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนียกล่าว
คุณแคทเธอรีน เฉิน รองประธานอาวุโสและผู้อำนวยการคณะผู้บริหารบริษัท หัวเว่ย ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า บริษัทเทคโนโลยีบางรายได้ริเริ่มโครงการพัฒนาที่ด้านสิ่งแวดล้อมไปบ้างแล้ว โดยหัวเว่ยได้ปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินการขององค์กรไปแล้วหลายโครงการในปัจจุบัน เพื่อให้ตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืน อาทิ ลดจำนวนการใช้กระดาษกว่า 350 ตัน ลดการใช้พลังงานกว่า 60%ในระบบหลังบ้านของโซลูชันต่าง ๆ รวมถึงใช้แผงโซล่าเซลล์ผลิตพลังงานมากกว่า 6 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงในเขตปกครองตนเอง หนิงเซี่ยหุย เป็นต้น ซึ่งในปี 2021 นี้ หัวเว่ยจะยังคงมุ่งหน้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและหันมาใช้พลังงานทดแทนเพื่อรองรับเศรษฐกิจที่ยั่งยืนต่อไป ต่อยอดไปถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ 5G ให้ใช้พื้นที่น้อยลง ใช้ไฟน้อยลง รวมถึงพัฒนาระบบคลาวด์และ AI ให้ใช้งานง่ายขึ้นสำหรับพาร์ทเนอร์และภาคอุตสาหกรรมทุกฝ่าย เพื่อให้สามารถสร้างผลิตภัณฑ์หรือโซลูชันที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะวิถีการฟื้นฟูที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของทุกประเทศ ทุกองค์กร และประชาชนทุกคน เราจึงจำเป็นต้องจับมือเพื่อร่วมกันสร้างโลกที่สวยงาม ล้ำสมัย และเท่าเทียมให้เกิดขึ้นต่อจากนี้
ที่มา: คาร์ลบายร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์