เอไอเอส ต่อยอดความนิยมการโหลดและแลกซื้อ LINE STICKERS จับมือ LINE ประเทศไทย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดอบรมและสอนการออกแบบไลน์สติกเกอร์ให้กับนิสิตคณะคุรุศาสตร์ ภาควิชาศิลปะ พร้อมประกวดชิงเงินรางวัลและนำผลงานขึ้นขายบน Sticker Shop ในแอปพลิเคชัน LINE เบิกทางสร้างอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ ให้กับคอนเทนต์ ครีเอเตอร์รุ่นใหม่ ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจ และในช่วงโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่นี้
นางภูมิใจ กฤติยานนท์ หัวหน้าแผนกงานบริหารสิทธิประโยชน์ลูกค้า เอไอเอส เปิดเผยว่า “ปัจจุบันลูกค้าในโครงการ AIS Points มีจำนวนทั้งสิ้นกว่า 17 ล้านราย และมีการใช้งานสูงมากกว่า 60 ล้านครั้งต่อปี โดยพบว่า ความนิยมในการแลกพอยท์ของลูกค้า AIS มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่ง 3 ลำดับแรกที่ลูกค้านิยม ได้แก่ 1.การแลกค่าอินเตอร์เน็ต ค่าโทร 2. การแลกสิทธิ์ลุ้นโชคต่างๆ และ 3.การแลกส่วนลดหรือแลกรับฟรีจากพาร์ทเนอร์ต่างๆ ตามลำดับ ซึ่งในส่วนของการแลกส่วนลดหรือแลกรับฟรีจากพาร์ทเนอร์นั้น พบว่า ลูกค้านิยมแลกสิทธิพิเศษจากหมวดกิน-ดื่มมากที่สุด รองลงมา คือ การแลกซื้อ LINE STICKERS เนื่องจากสะดวกและสามารถแลกรับได้ทันทีจากโทรศัพท์มือถือ
จากการสำรวจความนิยมดังกล่าว เอไอเอสได้นำมาขยายผลต่อ ด้วยการจับมือกับ LINE ประเทศไทย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดอบรมและสอนการออกแบบไลน์สติกเกอร์ให้กับนิสิตคณะคุรุศาสตร์ เพื่อชิงเงินรางวัล และผลงานของผู้ที่เข้ารอบจะได้ขึ้นอยู่บน Sticker Shop ในแอปพลิเคชัน LINE ซึ่งเป้าหมายสำคัญของแคมเปญนี้ เอไอเอส ต้องการช่วยเป็นใบเบิกทาง ส่งเสริมในการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับกลุ่มนักศึกษา และเปิดโอกาสให้ครีเอเตอร์รุ่นใหม่ มีอาชีพ และสร้างรายได้ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่นี้” นางภูมิใจ กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับผลงานของนิสิตที่เข้ารอบทั้ง 8 คน ประกอบด้วย นางสาวกฤตยาพร น้อยเกตุ, นางสาว ทีปกา จิยะอมรเดช, นายณัฐกิตติ์ อนุ, นางสาวอณิชา กาญจนวัฒน์, นางสาวพิชชาภา หวังประเสริฐกุล, นายวรปรัชญ์ คล้ายทอง และนางสาววิภาวนี ทองคำ ซึ่งขณะนี้ถือเป็น “คอนเทนต์ครีเอเตอร์” รุ่นใหม่ที่อนาคตไกล วางจำหน่ายบน Sticker Shop ในแอปพลิเคชัน LINE แล้ววันนี้ โดยลูกค้าเอไอเอสสามารถใช้ AIS Points แลกรับ LINE STICKERS ดังกล่าวได้ผ่านแอปพลิเคชัน myAIS ซึ่งการันตีว่าผลงานแต่ละคาแรคเตอร์ มีความน่ารักแตกต่างกัน
ด้านนางสาวกฤตยาพร น้อยเกตุ เจ้าของผลงานชุด ‘อุ่นใจ x หัวปูด’ อายุ 20 ปี นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะคุรุศาสตร์ สาขาศิลปศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ภูมิใจมากค่ะที่ผลงานการสร้างสรรค์ไลน์สติกเกอร์ของเราได้ขึ้นบน Sticker Shop ของ LINE ซึ่งนอกจากจะสร้างความภาคภูมิใจให้กับตัวเราเองแล้ว ยังถือเป็นการเปิดโอกาสและเป็นใบเบิกทางให้สร้างสรรค์ผลงาน และครีเอทคาแรคเตอร์ใหม่ๆ สร้างรายได้เพิ่มให้กับตนเองต่อไปในอนาคตด้วย”
นางสาวทีปกา จิยะอมรเดช เจ้าของผลงานชุด ‘อุ่นใจ x เจ้าจืด’ และ ‘อุ่นใจ x ขบวนการสีตุ่น’ อายุ 19 ปี นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะคุรุศาสตร์ สาขาศิลปศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “กิจกรรมนี้ถือเป็นกิจกรรมที่ดีมากๆ ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ลองทำและครีเอทคาแรคเตอร์ต่างๆ ซึ่งถือเป็นการจุดประกาย และจุดไฟในตัวให้อยากสร้างสรรค์ผลงานออกมาเรื่อยๆ ซึ่งอยากขอบคุณเอไอเอส และอยากให้ทำโครงการดีๆ แบบนี้อีกนะคะ”
นายวรปรัชญ์ คล้ายทอง เจ้าของผลงานชุด ‘อุ่นใจ x การ์เด้น’ อายุ 21 ปี นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะคุรุศาสตร์ สาขาศิลปศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “รู้สึกดีใจมากที่ได้เป็นหนึ่งในครีเอเตอร์ออกแบบผลงาน และได้ลองทำงานที่ถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพทางเลือกสำหรับคนรุ่นใหม่ ซึ่งต้องขอขอบคุณเอไอเอสที่ให้โอกาส ได้เข้ามาเรียนรู้กระบวนการขั้นตอนทุกอย่างในการทำไลน์สติกเกอร์ ครั้งนี้ถือเป็นใบเบิกทางที่ดีในการไปต่อยอดสร้างรายได้ให้กับตัวเองในอนาคต และหวังว่าจะชื่นชอบผลงานของพวกเราทุกคนครับ”
นางสาวอณิชา กาญจนวัฒน์ เจ้าของผลงานชุด ‘อุ่นใจ x หนูจี๊ด’ อายุ 24 ปี นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะคุรุศาสตร์ สาขาศิลปศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ขอบคุณเอไอเอสที่เปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้ ได้ลองทำ และสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งไลน์สติกเกอร์ของเอไอเอส มีคนโหลดเยอะมาก ซึ่งก็หวังว่าจะมีคนชอบลายเส้น ผลงาน ‘อุ่นใจ x หนูจี๊ด’ และติดต่อให้ออกแบบผลงานอื่นๆ ในอนาคต”
เกี่ยวกับ AIS
บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ผู้นำด้าน Digital Life Service Provider อันดับ 1 ที่มีคลื่นความถี่ในการให้บริการมากที่สุดรวม 1450 MHz และมีจำนวนผู้ใช้งานมากที่สุดกว่า 40.9 ล้านเลขหมาย (ณ กันยายน 2563) พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยเทคโนโลยี 5G ที่ครบ 77 จังหวัดแล้วเป็นรายแรกผ่าน 3 สายธุรกิจ ได้แก่ โทรศัพท์เคลื่อนที่, อินเทอร์เน็ตบ้านความเร็วสูงภายใต้แบรนด์ AIS Fibre และบริการดิจิทัล 5 ด้าน ได้แก่ วิดีโอ คลาวด์ ดิจิทัลเพย์เมนท์ อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (IoT) และบริการร่วมกับพาร์ทเนอร์ ตลอดจนขยายสู่กลุ่มธุรกิจใหม่ อาทิ AIS eSports, AIS Insurance ทั้งหมดนี้ เพื่อสนับสนุนความแข็งแกร่งด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศ ขยายขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรม และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยไปพร้อมกัน
ที่มา: โพลีพลัส พีอาร์