สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการสนับสนุนของกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) เดินหน้าขยายความร่วมมือการจัดการขยะอาหารด้วยแฟลตฟอร์มออนไลน์บนเว็บไซต์ FoodWasteHub.com ผนึกเครือข่ายพันธมิตรภาครัฐ ภาคเอกชนและสถาบันการศึกษารวม 29 หน่วยงาน เผยแพร่ความรู้และแนวทางการจัดการด้านขยะอาหาร โดยงานวิจัยฝีมือคนไทยและกรณีศึกษาเพื่อการนำขยะอาหารกลับมาใช้ประโยชน์เพื่อสนับสนุนหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนและนโยบาย BCG อย่างเป็นระบบ สอดคล้องกับแผนการจัดการขยะอาหารของประเทศไทย (พ.ศ. 2566-2573) และแผนปฏิบัติด้านการจัดการขยะอาหาร ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566-2570) ด้วยแนวทางการจัดการที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง หวังลดปริมาณขยะที่ต้องนำไปกำจัด ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการกำจัดขยะ และเพิ่มอัตราการรีไซเคิลของประเทศ
แพลตฟอร์มการเผยแพร่นวัตกรรมการจัดการขยะอาหาร หรือ Food Waste Platform เปิดตัวครั้งแรกในปี พ.ศ. 2567 ภายใต้ชื่อเว็บไซต์ www.FoodWasteHub.com เพื่อเป็นศูนย์กลางให้ความรู้และแนวทางการจัดการขยะอาหารอย่างยั่งยืนโดยมีข้อมูลทั้งภาษาไทยและอังกฤษ มีผู้เข้าชมแล้วกว่า 24,000 ครั้ง จากทั้งคนไทยและต่างชาติจากกว่า 10 ประเทศ
ในปีนี้ได้เพิ่มผลงานวิจัยและข้อมูลที่สำคัญ เช่น สถานการณ์ขยะอาหารในระดับโลก ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศไทย ทั้งในด้านระเบียบ กฎหมาย และกรณีศึกษาที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในประเทศ รวมทั้งข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับปริมาณและองค์ประกอบขยะอาหารจากแหล่งกำเนิดในประเทศไทยเพื่อสนับสนุนการกำหนดนโยบายและมาตรการที่เหมาะสม รวมไปถึงแนวทางการจัดการขยะอาหารสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่นำไปปรับใช้ได้จริง ยิ่งไปกว่านั้นยังเพิ่มเติมข้อมูลงานวิจัยที่ได้รับรางวัลเพื่อให้ผู้สนใจนำไปใช้ประโยชน์ได้
งานประกาศความร่วมมือเครือข่ายแพลตฟอร์มเผยแพร่นวัตกรรมการจัดการขยะอาหาร ณ ห้องประชุมศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช อาคารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับเกียรติจาก นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมผู้บริหารหน่วยงานพันธมิตรรวม 29 องค์กร ร่วมประกาศเจตนารมณ์การขับเคลื่อนการแก้ปัญหาขยะอาหารของประเทศ พร้อมจัดแสดงผลงานวิจัยที่ได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์ต่อสื่อมวลชน
นอกเหนือจากการพัฒนาเว็บไซต์แล้ว เครือข่ายนี้ ยังมีเป้าหมายในการส่งเสริมความร่วมมือเชิงนโยบาย โดยสนับสนุนให้เกิดการบูรณาการแนวทางการจัดการขยะอาหารเข้าสู่แผนพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศ รวมถึงกระตุ้นให้ภาคธุรกิจและภาคประชาชนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการลดขยะอาหารผ่านโครงการที่สามารถปฏิบัติได้จริง
นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “ปัญหาขยะอาหารไม่ใช่แค่เรื่องของของเสีย แต่เป็นเรื่องของทรัพยากรที่สูญเปล่า ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย ความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการเชื่อมโยงองค์ความรู้ งานวิจัย และแนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถนำไปใช้ได้จริง นี่คือหนึ่งในแนวทางสำคัญที่สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ลดของเสีย และสร้างสังคมที่ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ผมเชื่อว่า Food Waste Platform จะเป็นศูนย์กลางที่ช่วยให้ประเทศไทยก้าวสู่อนาคตที่ขยะอาหารไม่ใช่ภาระ แต่เป็นโอกาสในการสร้างความยั่งยืนร่วมกัน”
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า “งานวิจัยเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาขยะอาหารอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน วช. มุ่งสนับสนุนการพัฒนาความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ได้จริง ทั้งในเชิงนโยบายและการปฏิบัติ เราเชื่อว่าการจัดการขยะอาหารต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และแพลตฟอร์มนี้เป็นตัวอย่างของการบูรณาการข้อมูล งานวิจัย และแนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้สาธารณชนสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการลดขยะอาหาร และเพิ่มมูลค่าให้กับทรัพยากรอาหารของประเทศ นี่คือบทบาทของงานวิจัยที่ไม่ใช่เพียงการสร้างองค์ความรู้ แต่ต้องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืน”
นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า “ปัญหาขยะอาหารเป็นความท้าทายสำคัญที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน กรมควบคุมมลพิษจึงมุ่งเน้นการผลักดันแนวทางการจัดการขยะอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่การป้องกันและลดปริมาณขยะจากต้นทาง การนำกลับมาใช้ประโยชน์ ไปจนถึงการกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ความรู้และข้อมูลที่ถูกต้องเป็นรากฐานสำคัญของการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เราจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนางานวิจัย ฐานข้อมูล และแนวทางปฏิบัติที่สามารถนำไปใช้ได้จริง เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถนำไปปรับใช้และช่วยกันลดปริมาณขยะอาหารของประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม”
ดร.สนิท อักษรแก้ว ที่ปรึกษาในสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และประธานคณะกรรมการดำเนินงานสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม ประเด็นเป้าหมายด้านการพัฒนาสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า “การจัดการขยะอาหารอย่างมีประสิทธิภาพเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนและแนวทาง BCG ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า สร้างมูลค่าเพิ่ม และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แพลตฟอร์มนี้เป็นแหล่งข้อมูลสำคัญที่ช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถนำข้อมูลและงานวิจัยไปต่อยอดสู่โอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ เช่น การแปรรูปขยะอาหารเป็นพลังงานทางเลือก หรือผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง ตลอดจนสนับสนุนการกำหนดนโยบายที่ขับเคลื่อนประเทศไปสู่เศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืน ลดความสูญเปล่า และสร้างความมั่นคงด้านอาหารในระยะยาว”
นายเอกสิทธิ์ ลัคนานิธิพันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายธุรกิจร่วมทุน กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า “Dow มีเป้าหมายด้านความยั่งยืนในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เปลี่ยนขยะเป็นผลิตภัณฑ์ และส่งเสริมวงจรรีไซเคิล เราจึงสนับสนุนการพัฒนาเว็บไซต์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลและนวัตกรรมการจัดการขยะอาหารซึ่งจะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกสาเหตุของโลกร้อน และยังเกิดประโยชน์ทางอ้อมต่อการรีไซเคิลด้วย เพราะเมื่อขยะอาหารถูกแยกนำไปใช้ประโยชน์ การปนเปื้อนของอาหารกับวัสดุรีไซเคิลก็จะลดน้อยลง ช่วยให้การรีไซเคิลเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งเรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีหน่วยงานพันธมิตรเข้าร่วมมากขึ้น และหวังว่าเว็บไซต์นี้จะเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนในวงกว้างต่อไป”
ปัจจุบัน เครือข่ายแพลตฟอร์มเผยแพร่นวัตกรรมการจัดการขยะอาหาร ประกอบด้วย 1) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ 2) กรมควบคุมมลพิษ 3) กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) 4) บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด 5) บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) 6) บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) 7) การไฟฟ้านครหลวง 8) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 9) ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ 10) บริษัท บุณยาพาณิชย์ จำกัด 11) สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย 12) มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 13) มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี 14) มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ 15) มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ 16) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 17) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 18) คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 19) คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 20) คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยพะเยา 21) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 22) คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 23) คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 24) คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 25) สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 26) สำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 27) สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 28) สำนักวิจัยและบริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวท.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ 29) สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ
