กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดเวทีเสวนาวิชาการในหัวข้อ “จากงานวิจัยและนวัตกรรม…สู่ทางรอดภัยสึนามิ” เพื่อหารือแนวทางรับมือภัยพิบัติผ่านการใช้นวัตกรรมและงานวิจัย
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ วช. เปิดเผยว่า การจัดงานครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการรำลึก 20 ปี เหตุการณ์สึนามิในมหาสมุทรอินเดีย โดย วช. ได้ริเริ่มการพัฒนากำลังคนและจัดตั้งศูนย์เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว เพื่อสร้างความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติต่างๆ
ศ.ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า ตามแผนด้าน ววน. ปี 2566-2570 มีการจัดสรรงบประมาณสำหรับโครงการด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติกว่า 17,528 ล้านบาท แต่ยังขาดงานวิจัยด้านการบรรเทาปัญหาและการฟื้นฟูเยียวยา
ในด้านความพร้อมรับมือ ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ เน้นย้ำถึงความสำคัญของระบบเตือนภัยและการอพยพ โดยในปี 2567 จะมีการพัฒนาระบบส่งข้อความเตือนภัยผ่านโทรศัพท์มือถือ คาดว่าจะเริ่มใช้งานได้ในเดือนกรกฎาคม 2568
ผศ.ดร.ปานนท์ ลาชโรจน์ เลขานุการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการปรับปรุงกระบวนการอพยพ และการดูแลรักษาอาคารหลบภัย พร้อมยกตัวอย่างการจัดการของประเทศญี่ปุ่นที่บูรณาการการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติเข้ากับชีวิตประจำวันของประชาชน
นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาโครงการให้ความรู้แก่ชุมชนและเยาวชน โดย ผศ.ปัญจพาณ์ สุขโข จากสถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย ได้นำเสนอโครงการพัฒนารูปแบบการเตรียมพร้อมรับแผ่นดินไหวเชิงรุก ซึ่งครอบคลุมทั้งการพัฒนาศักยภาพแกนนำชุมชน การสร้างแผนเตรียมพร้อม และการประเมินผล
งานนี้ปิดท้ายด้วยพิธีรำลึกถึงผู้สูญเสียจากเหตุการณ์สึนามิ โดยมี น.ส.ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย เป็นประธาน พร้อมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชนที่บริเวณสวนอนุสรณ์สึนามิบ้านน้ำเค็ม