วิทยาลัยนวัตกรรม ม.ธรรมศาสตร์ พาติดตาม “องค์กรและ CIO ติดอาวุธอย่างไรในวันที่ AI เป็นทรัพยากรหลัก??”

ใช้ AI อย่างมีกลยุทธ์!! “วิทยาลัยนวัตกรรม ม.ธรรมศาสตร์” พาติดตาม “องค์กรและ CIO ติดอาวุธอย่างไรในวันที่ AI เป็นทรัพยากรหลัก??” เรื่องต้องรู้เพื่อก้าวสู่ปี 2025 อย่างชาญฉลาดและมีธรรมาภิบาล

ในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทในการกำหนดทิศทางธุรกิจ การนำเครื่องมือที่สำคัญอย่าง AI มาปรับใช้กลายเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันสำหรับองค์กรทั่วโลก ด้วยศักยภาพที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน พลิกโฉมกระบวนการทำงานที่ซับซ้อนให้คล่องตัว และเปิดประตูสู่การสร้างนวัตกรรมที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยการนำ AI มาประยุกต์ใช้ในองค์กรไม่ได้เป็นเพียงแค่การปรับตัวให้ทันยุคสมัยเท่านั้น แต่ยังเป็นกลยุทธ์สำคัญในการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน เพราะองค์กรที่สามารถผสมผสาน AI เข้ากับกระบวนการทำงานได้อย่างเหมาะสม จะมีโอกาสพัฒนาความสามารถในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้รวดเร็วและตรงจุดมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุน เพิ่มคุณภาพของสินค้าและบริการ และเปิดโอกาสใหม่ ในการสร้างรายได้ที่ยั่งยืนในระยะยาว

และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสู่ปี 2025 และในยุคที่ AI จะเข้ามาขับเคลื่อนสรรพสิ่ง วันนี้ วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (CITU) จะพาไปไขความ (ไม่) ลับของ AI ที่ทุกองค์กรและระดับ CIO (Chief Information Officer) ต้องรู้ ซึ่งจะเป็นหัวใจเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่อนาคตที่ท้าทายและเต็มไปด้วยโอกาสใหม่ ๆ ที่ไม่สิ้นสุด กับ ผศ.ดร.ภูมิพร ธรรมสถิตเดช ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำหลักสูตรปริญญาตรี นวัตกรรมและการแปรรูปทางดิจิทัล (DX) พร้อมแนวทางการวางกลยุทธ์การใช้ AI ในวันที่เข้ามาเป็นทรัพยากรหลักในองค์กรว่าควรต้องทำอย่างไร เพื่อขับเคลื่อนทั้งสองสิ่งให้ไปด้วยกันอย่างสมดุล

หลักการเชิงกลยุทธ์เปรียบดั่ง “การวางรากฐานที่จะเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จในวันพรุ่งนี้”

ผศ.ดร.ภูมิพร อธิบายว่า อันดับแรก องค์กรจะต้องนำ AI มาประยุกต์ใช้อย่างชาญฉลาด โดยมีกรอบการบริหารจัดการหรือหลักการเชิงกลยุทธ์ที่ชัดเจน (Strategic Principles) อันประกอบด้วย

  • การกำหนดวิสัยทัศน์และกรอบการกำกับดูแล (AI Governance Framework) การมีวิสัยทัศน์และหลักการที่ชัดเจน (AI Vision & Principles) ช่วยให้องค์กรสามารถกำหนดแนวทางการใช้ AI ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยชี้ทิศทางใช้ AI ที่สนับสนุนเป้าหมายธุรกิจองค์กรในรูปแบบที่ต้องการ และควบคู่ไปกับการสร้างโครงสร้างการกำกับดูแล (Governance Structure) โดยการจัดสรรบทบาทและหน้าที่ในองค์กร เช่น CIO เป็นผู้กำหนดกลยุทธ์หลัก ขณะที่ AI Developers รับผิดชอบการพัฒนาและปรับปรุงเทคโนโลยี รวมทั้งการสร้างมาตรฐานทางจริยธรรม และการบริหารความเสี่ยงเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น (Risk Management & Ethical Oversight) เริ่มจากการพัฒนามาตรฐานและเครื่องมือที่ช่วยลดความเสี่ยง เช่น การป้องกันปัญหาอคติใน AI และการคุ้มครองข้อมูลของผู้ใช้งาน
  • กลยุทธ์ AI และการวัดผลสำเร็จ (AI Strategy and ROI) และสิ่งที่สำคัญที่ต้องเริ่มคือ องค์กรควรนำกลยุทธ์ AI ไปประยุกต์ใช้กับเป้าหมายธุรกิจองค์กร พร้อมกับมีการวัดผลสำเร็จที่ชัดเจน โดยแนวทางสำคัญเริ่มจากการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน (Clear Goals) เช่น ใช้ AI สำหรับเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดค่าใช้จ่าย หรือสร้างแหล่งรายได้ใหม่ จากนั้นมีการติดตามผลลัพธ์ (Continuous Monitoring) ซึ่งใช้ตัวชี้วัด (KPIs) ที่เหมาะสม เช่น ประสิทธิภาพของระบบ AI การประหยัดต้นทุน หรือผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) และที่สำคัญที่สุดคือการปรับปรุงกลยุทธ์อย่างต่อเนื่อง (Strategy Optimization) องค์กรจะต้องมีการพัฒนาและปรับปรุงกลยุทธ์ AI ตามการเปลี่ยนแปลงของตลาดและเทคโนโลยีอยู่เสมอ

การปฏิบัติที่ดีที่สุดอันนำพาองค์กรก้าวสู่ยุคใหม่อย่างมั่นคง มิใช่แค่มีเทคฯ AI แต่เป็นเรื่องของคนและวัฒนธรรมองค์กรที่พร้อมจะเติบโตไปด้วยกัน

การปฏิบัติ (Best Practices) คือข้อถัดมาที่ทุกองค์กรจะต้องคำนึง เพราะมีความสำคัญต่อความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว โดยจะอาศัยแนวทางปฏิบัติที่ครอบคลุมทั้งในมิติของการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงและการบริหารจัดการความท้าทายทุกรูปแบบ โดยมีหลักการหลัก ๆ ดังนี้

  • การขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง (Driving AI Transformation) 1.การสร้างความโปร่งใสในการสื่อสารและกำหนดเป้าหมาย ซึ่งองค์กรเมื่อเริ่มต้นด้วยการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนและสอดคล้องกับวิสัยทัศน์องค์กรแล้ว ควรจะต้องสื่อสารเป้าหมายเหล่านั้นให้ทุกฝ่ายในองค์กรเข้าใจตรงกัน ซึ่งการมีความโปร่งใสในกระบวนการสื่อสารจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและลดความกังวลของบุคลากรเกี่ยวกับผลกระทบของ AI 2. การฝึกอบรมบุคลากรเพื่อพัฒนาทักษะที่เกี่ยวข้อง เนื่องจาก AI เป็นเทคโนโลยีที่มีการอัปเดตตลอดเวลา เช่น การจัดการข้อมูล การเขียนโปรแกรม จะช่วยให้บุคลากรในองค์กรสามารถปรับตัวและทำงานร่วมกับเทคโนโลยีใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 3. การสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูงในการเป็นแบบอย่าง โดย CIO และผู้บริหารระดับสูงควรแสดงบทบาทเป็นผู้นำในการนำ AI มาใช้ สิ่งนี้จะเป็นแบบอย่างที่ดีในการเรียนรู้และเปิดรับเทคฯใหม่ ๆ มีส่วนสร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นให้ทีมงานมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง
  • การบริหารความท้าทาย (AI Challenges Management) ทุกองค์กรจะต้องคำนึงเสมอว่า 1.การบริหารคุณภาพข้อมูล (Data Quality Management) เป็นรากฐานสำคัญของ AI ซึ่งความครบถ้วน ความถูกต้อง และความทันสมัยของข้อมูล จะลดความผิดพลาดในกระบวนการวิเคราะห์และการตัดสินใจ ตลอดจน 2.การลดอคติใน AI และการสร้างความโปร่งใส (Bias Mitigation and Transparency) ก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะ AI อาจมีความลำเอียงจากข้อมูลที่ใช้ในการฝึกฝน ดังนั้น ต้องมีการตรวจสอบและปรับปรุงข้อมูลให้มีความเป็นกลางเสมอ นอกจากนี้ การสร้างระบบ AI ที่โปร่งใสและสามารถอธิบายผลลัพธ์ได้จะช่วยเพิ่มความไว้วางใจจากผู้ใช้งาน 3. การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เปิดรับเทคโนโลยีใหม่ (Technology Adoption Culture) จะช่วยลดความกังวลและสนับสนุนการนำ AI มาใช้ในระยะยาว 4. การเลือกพันธมิตรด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสม (Technology Partner Selection) และมีความเชี่ยวชาญช่วยเพิ่มโอกาสความสำเร็จในการนำ AI มาใช้ ตั้งแต่การออกแบบระบบไปจนถึงการบำรุงรักษา

CIO คือ กุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จขององค์กรในยุค AI พร้อมเผชิญการแข่งขันครอบคลุมทุกมิติ

ท้ายที่สุดแล้ว หลักการดังกล่าวข้างต้นจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั่น CIO ในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีและกลยุทธ์ดิจิทัลขององค์กร ต้องมีบทบาทสำคัญที่ต้องช่วยขับเคลื่อน AI ให้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์องค์กรเพื่อสร้างผลลัพธ์เชิงบวกทั้งในด้านประสิทธิภาพและนวัตกรรม โดยเป็นนักวางกลยุทธ์และเป็นผู้นำที่สามารถนำ AI มาปรับใช้เชื่อมโยงกับทุกแผนกในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน สู่การส่งต่อแรงผลักดันให้คนภายในองค์กรปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุด โดย CIO ควรมีทักษะและบทบาทสำคัญสรุปได้ ดังนี้

  • การจัดการข้อมูลและเทคโนโลยี (Data and Technology Management) CIO มีหน้าที่จัดการข้อมูลและเทคโนโลยีที่เป็นรากฐานของ AI ตั้งแต่การรวบรวมข้อมูลคุณภาพสูง การจัดสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที ไปจนถึงการบูรณาการ AI เข้ากับระบบงานขององค์กร พร้อมทั้งเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เช่น Generative AI และ Machine Learning เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการธุรกิจ
  • การกำกับดูแลจริยธรรมของ AI (Ethical Oversight) AI มีผลกระทบที่ลึกซึ้งต่อสังคมและองค์กร CIO ต้องกำกับดูแลให้การนำ AI มาใช้เป็นไปอย่างรับผิดชอบและมีจริยธรรม โดยจะต้องเป็นผู้ตรวจสอบข้อมูลที่ใช้ฝึก AI ให้มีความเป็นกลาง และผลลัพธ์ที่ได้จากการประมวลผล AI สามารถตรวจสอบและอธิบายได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องใช้ AI สอดคล้องกับกฎหมายคุ้มครองข้อมูล เคารพข้อมูลส่วนบุคคล
  • การพัฒนาทรัพยากรบุคคล (Talent Development and Management) บุคลากรคือกุญแจสู่ความสำเร็จ CIO ต้องมุ่งเน้นการพัฒนาความสามารถของทีมงานให้พร้อมสำหรับการนำ AI มาใช้ อาทิ จัดฝึกอบรม สร้างความเข้าใจและทักษะใหม่ หรือ ส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรที่เปิดรับนวัตกรรม เพื่อลดความต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลง

ประเด็นที่น่าสนใจอีกคือแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติของประเทศไทยตั้งเป้าให้มูลค่าตลาด AI เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 60,000 ล้านบาทภายในปี พ.ศ. 2570 ซึ่งการบรรลุเป้าหมายนี้จำเป็นต้องอาศัยบทบาทสำคัญของ CIO ในการนำ AI มาปรับใช้ในองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม การใช้ AI ในองค์กรจะช่วยเพิ่มศักยภาพการเติบโตธุรกิจได้มากขึ้น เมื่อมีนโยบายภาครัฐและความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจ เช่น การสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล การส่งเสริมการศึกษา และการผลักดันความร่วมมือระหว่างองค์กรทั้งในและต่างประเทศ โดย CIO เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนด้วยการนำ AI มาประยุกต์ใช้อย่างชาญฉลาดเพื่อสร้างธุรกิจที่เติบโตมั่นคง

ทั้งนี้ วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (CITU) มุ่งมั่นที่จะเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษา วิจัย และพัฒนา AI เพื่อสนับสนุนให้องค์กรและสังคมไทยสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล พร้อมสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนต่อเศรษฐกิจและสังคม ควบคู่ไปกับความมุ่งมั่นในการสร้างบุคลากรที่พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง ดังประโยคที่ว่า “AI มิใช่แค่เรื่องของเทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องของคน วิสัยทัศน์ และวัฒนธรรมองค์กรที่ต้องก้าวเดินไปพร้อมกันเพื่อความสำเร็จในอนาคต”