เปิดมุมมองสื่อไทย-เทศ ปรับอย่างไร? เมื่อโลกก้าวสู่ยุค AI

พลิกโฉมอุตสาหกรรมสื่อในยุคดิจิทัล เมื่อปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือเทคโนโลยีเอไอ (AI) ที่นับวันยิ่งมีบทบาทในวงการสื่อสารมวลชนทั่วโลก ทั้งในมิติของงานข่าว งานภาพ กราฟิก ไม่เว้นแม้แต่การสร้างอวตารมาทำงานเป็นผู้ประกาศข่าวเพื่อสนับสนุนการทำรายการกันอย่างกว้างขวางในหลายประเทศทั่วโลก

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ไทยพีบีเอส ได้จัดงาน “AI Horizons: The Future of Media เมื่อโลกของสื่อ..ต้องพลิกโฉม ด้วยพลัง AI” เพื่อแสดงถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของไทยพีบีเอส ตอกย้ำบทบาทผู้นำสื่อสาธารณะที่มุ่งมั่นสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยจริยธรรม บนพื้นฐานความถูกต้องและความน่าเชื่อถือ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคดิจิทัล พร้อมเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนกรณีศึกษา ตัวอย่างการใช้ AI จากองค์กรทั้งไทยและต่างประเทศ ในแง่มุมที่เป็นผลงานน่าสนใจ และสิ่งที่ต้องระมัดระวังเมื่อโลกก้าวสู่ยุคดิจิทัล By Generative AI

  • ไทยพีบีเอส ชู AI ยกระดับบริการตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคดิจิทัล

นางสาวกนกพร ประสิทธิ์ผล ผู้อำนวยการสำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส แชร์มุมมองน่าสนใจว่า การนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในอุตสาหกรรมสื่อช่วยใน 2 ด้านหลัก ๆ คือ สนับสนุนกระบวนการผลิตเนื้อหาทั้งในรูปแบบตัวอักษร เสียง ภาพ วิดีโอ และอีกด้านคือการจัดการและวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อประโยชน์ในด้านการสื่อสาร การตลาด สามารถใช้ในการวิเคราะห์เทรนด์เพื่อช่วยให้การนำเสนอข่าวตรงตามความต้องการของผู้บริโภค รวมไปถึงเพื่อการหารายได้ ซึ่งหากมองมุมบวก AI ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดเวลาการทำงาน สามารถเข้าถึงผู้ชมได้กว้างขึ้น ตรงใจมากขึ้น และสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ได้มากขึ้น แต่ในทางตรงกันข้าม ก็อาจเสี่ยงในเรื่องความถูกต้อง แม่นยำ เป็นกลางของข้อมูลที่ได้รับ การสูญเสียงาน รวมถึงการพึ่งพา AI ที่มากเกินไปจนอาจทำให้ขาดจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์

ปัจจุบัน ไทยพีบีเอส เป็นอีกหนึ่งองค์กรสื่อที่ได้นำ AI มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ผลิตภัณฑ์และบริการด้านดิจิทัล อาทิ AI Vertical LIVE ปรับมุมมองชมสดแนวตั้งอัตโนมัติ ตอบโจทย์ Mobile ดูง่าย ไม่ต้องพลิก, AI in Brief สรุปเนื้อหาข่าว สั้น กระชับ เข้าใจง่าย, AI Voice บริการอ่านให้ฟังด้วยเทคโนโลยี Text to Speech, AI Anchor อัปเดตข่าวสารกับผู้ประกาศ AI ที่มีความสมจริง, Thai PBS Chatbot ให้ข้อมูลข่าวสาร ถาม-ตอบอัตโนมัติด้วย AI และ VIPA for you คัดสรรและแนะนำเนื้อหาที่ตรงใจ ตรงไลฟ์สไตล์เฉพาะบุคคลด้วย AI Personalization นอกจากนี้ ยังให้บริการเทคโนโลยีต่าง ๆ ผ่านเว็บไซต์ไทยพีบีเอส, Thai PBS World ข่าวและเนื้อหาภาคภาษาอังกฤษ, Thai PBS Verify ตรวจสอบข่าวปลอมและคัดกรองข่าวจริง รวมถึงนวัตกรรมด้านการนำเสนอและวิเคราะห์ข้อมูลบน Thai PBS Policy Watch จับตาอนาคตประเทศไทย สื่อกลางการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะของประเทศที่เชื่อมโยงกับประชาชน

“AI ยังไม่สามารถทดแทนงานในวงการสื่อสารมวลชนได้ทั้งหมด การนำ AI มาใช้ในไทยพีบีเอส ยังคงต้องมีขั้นตอนการสร้างสรรค์ การคิดวิเคราะห์ การตรวจสอบที่ต้องมีผู้ปฏิบัติงานอยู่ในกระบวนการเสมอ เพราะสิ่งสำคัญที่สุดของการทำหน้าที่สื่อสารมวลชนคือ ความถูกต้องและความน่าเชื่อถือ แต่ AI จะมีประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้น รวดเร็วขึ้น หลากหลายขึ้น เราต้องเปิดรับและมีทักษะความเข้าใจระดับและประเภทของการนำ AI ไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างรู้เท่าทัน หรือที่เรียกกันว่า AI Literacy อยากให้ AI เป็นส่วนหนึ่งที่ทุกคนได้สร้างและเสพอย่างสร้างสรรค์ ในมุมของการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการด้านนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะผสมผสานกับ AI อาจไม่ใช่การพัฒนาเพียงครั้งเดียวแล้วจบ แต่ต้องสร้างสรรค์ เรียนรู้ แก้ไขปรับปรุง นำไปพัฒนา และทบทวนใหม่อยู่เรื่อย ๆ ดังนั้น บุคลากรในอุตสาหกรรมสื่อ จึงจำเป็นต้องปรับตัวและเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ เพื่อให้ทำงานร่วมกับ AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ผู้อำนวยการสำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส กล่าว

  • CNA – RTHK ใช้ AI อัปเลเวลงานข่าว-เพิ่มช่องทางเข้าถึงผู้ชม

Lyn-Yi Chung Deputy Chief Editor, CNA Digital & Lead, AI Strategy and Solutions Mediacorp Pte. Ltd., Singapore กล่าวว่า ช่อง CNA ในสิงคโปร์ ได้นำเทคโนโลยี AI มาใช้ในงานข่าวอย่างจริงจัง ตั้งแต่ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมองว่ามนุษย์ต้องเป็นผู้กำหนดแนวทางและควบคุมการทำงานของ AI ไม่ควรปล่อยให้ AI ทำงานโดยอิสระ และองค์กรสื่อต้องเรียนรู้และพัฒนาการใช้ AI อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังต้องมองหาโอกาสอย่างสม่ำเสมอว่าจะใช้ AI อย่างไรที่จะมาสร้างหน้าข่าวให้ดึงดูดความสนใจและสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้รับชมหรือบริโภคข้อมูลข่าวสารจากช่อง CNA

“CNA ให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อเนื้อหาที่เราสร้างสรรค์ขึ้น และยึดหลักการใช้เทคโนโลยี AI เฉพาะในกรณีการใช้งานที่กำหนดไว้ล่วงหน้าและได้รับการอนุมัติเท่านั้น เราใช้ AI อย่างมีจริยธรรมและความรับผิดชอบ จะไม่ใช้ AI ในการสร้างเนื้อหาที่สุ่มเสี่ยงต่อการทำให้ผู้ชมเกิดความเข้าใจผิด โดยหากจะใช้ AI เพื่อสร้างเนื้อหาใด ๆ จะมีการตรวจสอบอย่างละเอียดว่า การนำ AI มาใช้จะไม่เป็นการละเมิดสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาของผู้สร้างรายอื่น รวมถึงการใช้ AI ด้วยความระมัดระวัง รอบคอบ และเหมาะสมที่สุด” Lyn-Yi Chung กล่าว

Echo WAI Controller (Production Services), Radio Television Hong Kong (RTHK) กล่าวว่า สำนักข่าว RTHK ได้นำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการยกระดับงานข่าวเพื่อประชาชน โดยนำ AI มาใช้ในกระบวนการผลิตรายการวิทยุและโทรทัศน์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และเข้าถึงผู้ชมกลุ่มต่าง ๆ ได้เพิ่มมากขึ้น และนอกเหนือจากการใช้ AI ในการผลิตแล้ว RTHK ยังให้ความสำคัญกับการให้ความรู้เรื่อง AI แก่สาธารณชน รวมถึงการร่วมมือกับพันธมิตรต่าง ๆ เพื่อพัฒนาและใช้ประโยชน์จาก AI ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมองว่าการจัดการกับ AI ไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องของเทคโนโลยี แต่เป็นการบริหารความเปลี่ยนแปลง มีการปรับตัว ปรับ Work Flow ต่าง ๆ รวมถึงการมุ่งเน้นพัฒนาทักษะ การออกแบบงานใหม่ ๆ และการจัดฝึกอบรมพนักงานให้สามารถใช้ AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“RTHK ใช้เทคโนโลยี AI โดยยึดหลักความซื่อสัตย์ เคารพในที่มาและความคิดสร้างสรรค์ เมื่อนำ AI เข้ามาใช้ เราจะให้เครดิตเจ้าของผลงาน ปกป้องเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา โดยผ่านกระบวนการตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียด เนื้อหาต่าง ๆ ที่จะสื่อสารออกไปต้องเป็นไปตามมาตรฐาน และใช้ AI อย่างมีจริยธรรม นอกจากนี้ สิ่งสำคัญคือ ต้องกล้าที่จะทดลอง ลองผิดลองถูก เรียนรู้จากประสบการณ์ โดยมองว่า AI ไม่ได้เข้ามาทดแทนมนุษย์ แต่การนำ AI มาใช้เพื่อเป็นการเสริมประสิทธิภาพการทำงานให้กับมนุษย์และยกระดับองค์กรให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี” Echo WAI กล่าว

  • AI เป็นเครื่องมือสนับสนุนการทำงาน-ไม่ใช่การทดแทน

ปิดท้ายที่ นายชวลิต อภิธรรมนิธิ ผู้ผลิตสารคดี เยี่ยม-ย่าน ที่นำ AI มาใช้ผลิตภาพและเสียง มาร่วมแชร์ประสบการณ์การนำ AI ไปใช้ให้ฟังว่า เทคโนโลยี AI ช่วยสร้างสรรค์ไอเดียที่แปลกใหม่และเพิ่มความหลากหลายให้กับผลงาน ช่วยให้การทำงานและผลิตชิ้นงานได้เร็วขึ้น สามารถต่อยอดนำไปใช้งานได้จริง และลดต้นทุนการผลิต โดยผู้ผลิตต้องใช้ AI เป็นเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนการทำงาน ไม่ใช่การทดแทน เพราะทุกวันนี้ AI ยังไม่สามารถคีย์คำสั่ง หรือเขียน Prompt เพื่อสั่งตัวเองได้ ผู้ผลิตยังคงต้องใช้ความรู้ความสามารถในการสั่งงาน AI เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ รวมถึงการเรียนรู้และปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในยุคดิจิทัลที่มีการพัฒนาไปไกลและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ถึงแม้ว่า AI ได้เข้ามาพลิกโฉมอุตสาหกรรมสื่อ ทั้งในด้านการผลิตเนื้อหา การวิเคราะห์ข้อมูล และการนำเสนอ แต่ความสามารถเฉพาะทางของมนุษย์ยังคงมีความสำคัญ โดยเฉพาะความคิดสร้างสรรค์ และการตัดสินใจเชิงจริยธรรม ดังนั้น การปรับตัวและพัฒนาทักษะให้เข้ากับยุค AI จึงเป็นสิ่งที่คนในวงการสื่อจะต้องและเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและโอกาสใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

สำหรับผู้สนใจงาน “AI Horizons: The Future of Media เมื่อโลกของสื่อ..ต้องพลิกโฉมด้วยพลัง AI” สามารถติดตามข้อมูลย้อนหลังได้ที่ www.thaipbs.or.th/AIHorizons