ในปี 2024 กรุงเทพมหานคร ได้รับการจัดอันดับเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือน “มากที่สุด” เป็นอันดับ1 ของโลก โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือน 32.4 ล้านคน แซงหน้าแชมป์เก่าในปี 2023 อย่าง อิสตันบูล นครหลวงของประเทศตุรกี (รายงานโดยยูโรมอนิเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล) เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า กระแสการหลั่งไหลเดินทางข้ามพรมแดนระหว่างประเทศในช่วงเวลานี้ ได้เริ่มขยับขึ้นมาอย่างโดดเด่นชัดเจนหลังยุคโควิด-19 ขณะเดียวกันแนวโน้มเชิงบวกดังกล่าว ได้จุดกระแสการพัฒนาเทคโนโลยีสุดล้ำขึ้นมารองรับการเดินทางที่เพิ่มมากขึ้นทั่วโลก ควบคู่ไปกับการตรวจสอบ ระบุ และแสดงตัวตนของบุคคล ที่ไม่เพียงอำนวยความสะดวกรวดเร็ว แต่ยังเพิ่มทั้งประสิทธิภาพและความปลอดภัย
HID ผู้นำด้านโซลูชันระบุตัวตนระดับโลก เปิดเผยในเวทีงาน 7BMIC ซึ่งเป็นการประชันเทคโนโลยีก้าวหน้าทางด้านการจัดการชายแดนและอัตลักษณ์ระดับนานาชาติ จัดขึ้นโดยมีประเทศไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อเร็วๆนี้ ระบุว่า แนวโน้มที่น่าจับตาและจะเป็นกระแสนิยมในปีหน้า (2025) ทั้งยังจะเป็นทิศทางระดับโลกต่อไปในอนาคต มี 4 เทรนด์สำคัญ ดังต่อไปนี้
1) เทคโนโลยีอัตโนมัติ และการบริการตนเอง (more automation & self-service) เช่น การเช็คอินด้วยตนเอง (self-check in) หรือระบบการแสดงตัวตนและตรวจสอบบุคคลด้วยตนเองผ่านระบบอัตโนมัติ เมื่อเดินทางระหว่างประเทศ
2) เทคโนโลยีไร้สัมผัส (contactless) เช่น การแสดงอัตลักษณ์บุคคลผ่านระบบจดจำใบหน้า (facial recognition) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีไบโอเมทริกซ์ (Biometrics) อันเป็นเทคโนโลยีในการระบุยืนยันถึงตัวตนตามลักษณะทางกายภาพของแต่ละบุคคล เป้าหมายเพื่อทดแทนการตรวจเอกสาร หรือพิมพ์ลายนิ้วมือซึ่งต้องใช้การสัมผัสและได้รับความนิยมน้อยลงหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19
3) ระบบอำนวยความสะดวกและเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง (convenience and security for travelers) เช่น กระบวนเข้าเมืองที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งหนังสือเดินทางยุคใหม่ที่ทันสมัยยิ่งขึ้น
4) ระบบอัจฉริยะในการจัดเก็บข้อมูลผู้เดินทาง (Advanced Passenger Information: API) ที่สามารถนำมาใช้ในการบริหารจัดการความเสี่ยง
เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มความสะดวกสบายให้นักเดินทาง
นายลี เว่ย จิน (Lee Wei Jin) ผู้อำนวยการ ธุรกิจ FARGO, Secure Issuance ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ของ HID ให้ความเห็นว่า ท่ามกลางบริบทที่ประเทศไทยกำลังมุ่งหน้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยี เทรนด์ดิจิทัลที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการเดินทางข้ามพรมแดนทั้งในแง่ผู้โดยสารและการขนส่งสินค้า (cross-border travel and trade) ก็คือ บริการโซลูชันขั้นสูงที่จะเข้ามาช่วยจัดระบบกระบวนการศุลกากร การตรวจคนเข้าเมือง เพิ่มความสะดวกรวดเร็วให้กับการเดินทางข้ามพรมแดนไม่ว่าจะเป็นคนหรือสินค้า และที่สำคัญคือเพิ่มความปลอดภัย
“เทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยลดขั้นตอนต่างๆ ที่เราเคยต้องทำด้วยมือ หรือต้องอาศัยการทำงานของเจ้าหน้าที่ เราสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยเพิ่มความรวดเร็วและความปลอดภัยในการเดินทางข้ามพรมแดนไม่ว่าจะทางบกหรือทางอากาศ เทคโนโลยีไบโอเมทริกซ์จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในสนามบินต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยที่มีการนำระบบจดจำใบหน้ามาใช้กันแล้วในสนามบิน 6 แห่ง”
เว่ย จิน กล่าวว่า HID พร้อมเป็นส่วนหนึ่งของเทรนด์โลกในแง่นี้ เพราะมีทั้งอุปกรณ์และโซลูชันเกี่ยวกับการตรวจสอบและการแสดงอัตลักษณ์บุคคล รวมทั้งระบบนิเวศที่ครบวงจรสำหรับการระบุตัวตนของบุคคลทั้งบนบัตรที่จับต้องได้ เช่น บัตรประชาชน บัตรประจำตัวพนักงาน ใบขับขี่ บัตรนักเรียนนักศึกษา บัตรเจ้าหน้าที่รัฐและองค์กรเอกชน รวมทั้งระบบแสดงตัวตนบุคคลบนแพลตฟอร์มดิจิทัลที่สามารถใช้โทรศัพท์มือถือเป็นอุปกรณ์ในการแสดงตัวตนและเก็บข้อมูลส่วนบุคคลได้อย่างปลอดภัย
“เทคโนโลยียุคใหม่ไม่เพียงป้องกันการปลอมแปลงบัตรได้ดีขึ้น แต่ยังช่วยองค์กรหรือหน่วยงานที่ออกบัตรให้สามารถประหยัดทั้งทรัพยากรบุคคล เวลา และค่าใช้จ่ายในการออกบัตรอีกด้วย” ยกตัวอย่าง HID Fargo Connect เป็นโซลูชันการพิมพ์บัตรประจำตัวผ่านระบบคลาวด์ ทำให้สะดวก ประหยัดเวลา และลดต้นทุนค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ เครื่องพิมพ์ยุคใหม่ของ HID เช่น HID FARGO HDP5000e ยังสามารถพิมพ์บัตรต่างๆ ( เช่น บัตรประจำตัว ใบขับขี่ ฯลฯ) ลงบนวัสดุที่หลากหลาย เช่น พลาสติก PVC, PET และ PC ได้อย่างคมชัด สามารถพิมพ์ออกมาได้ภายในเวลาเพียง 1 นาที และยังมีระบบป้องกันข้อมูล และการเข้ารหัส AES-256 encryption เพื่อความปลอดภัยขั้นสูงสุด
ความปลอดภัยคือหัวใจสำคัญ
การปลอมแปลงหนังสือเดินทาง บัตรประชาชน หรือเอกสารแสดงตัวตนอื่นๆ ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์อาจจะเป็นดาบสองคมที่เหล่ามิจฉาชีพนำมาใช้ แต่นั่นก็เป็นโจทย์ที่ทำให้บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีต้องขบคิดหาวิธีรับมือและแนวทางป้องกัน สำหรับ HID เรื่องนี้มีคำตอบ
เอเดรียน เลอโมน (Adrien Lemoine) ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายขาย ธุรกิจ Citizen Identity Solutions ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ HID เปิดเผยว่า เทคโนโลยีเกี่ยวกับเรื่องนี้ก้าวไกลไปมาก ยกตัวอย่าง พาสปอร์ตหรือหนังเดินทางที่ HID ได้ออกแบบและพัฒนาให้กับประเทศเอสโตเนีย (ในปี 2023) และบาห์เรน (ในปี 2024) เป็นหนังสือเดินทางยุคใหม่ที่ไม่เพียงมีความสวยงาม และแสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศดังกล่าว แต่ยังแฝงไว้ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงที่ให้ความมั่นใจสูงสุดในแง่ความปลอดภัย ประสิทธิภาพ และความคงทนของการใช้งาน ไม่ว่าจะในหน้าข้อมูล (data page) ของหนังสือเดินทาง หรือทั้งเล่มโดยภาพรวม คุณลักษณะใหม่ๆ ยังประกอบด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงในรูปของช่องเจาะใส (transparent windows) ในหน้าข้อมูลที่ทำงานร่วมกับแสงยูวี (UV) และการสัมผัส นอกจากนี้ ยังมีฟีเจอร์ใหม่ด้านความปลอดภัยระดับมัลติเลเวล 1 ที่พบได้ในหน้าข้อมูลของหนังสือเดินทางที่เป็นวัสดุโพลีคาร์บอเนตโดยในช่องเจาะโปร่งมีการซ้อนภาพใบหน้าของผู้ถือหนังสือเดินทางเอาไว้ ด้วยคุณลักษณะทั้งหมดที่กล่าวมา ทำให้หนังสือเดินทางยุคใหม่ของ HID ไม่เพียงเพิ่มความปลอดภัยส่วนบุคคลขั้นสูง แต่ยังปลอมแปลงได้ยากมากด้วย
“นอกจากนี้ ยังมีโซลูชั่นเกี่ยวกับการออกวีซ่า ที่สามารถคัดกรองความเสี่ยง มีความแม่นยำมากขึ้นในการตรวจสอบและระบุตัวตน ทำให้กระบวนการเดินทางข้ามแดนมีความสะดวกรวดเร็ว และปลอดภัยกว่าที่เคยเป็นมา” เอเดรียนย้ำว่า ทิศทางที่โลกกำลังมุ่งหน้าไปคือ “รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์” หรือ E- government การทำงานต่างๆของภาครัฐ รวมทั้งการให้บริการและการติดต่อสื่อสารกับประชาชน ภาคธุรกิจ และองค์กรเอกชน จะอยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้น
แต่ทั้งนี้ นานาประเทศก็ควรจะพัฒนาระบบที่ตั้งอยู่บนมาตรฐานเดียวกัน หรือมาตรฐานที่เป็นสากล เพื่อประสิทธิภาพการใช้งานในอนาคต และสามารถทำงานร่วมกันได้ ยกตัวอย่าง หากประเทศไทยจะพัฒนาระบบบัตรประชาชนดิจิทัลที่สามารถพกพาไปได้ทุกที่ทั่วโลกในโทรศัพท์มือถือ ก็ควรเป็นมาตรฐานสากล (ISO) ซึ่งเชื่อมโยงกันได้กับระบบของ HID ที่เรียกว่า HID goID(TM) ซึ่งระบบดังกล่าวนี้รัฐบาลประเทศฟิลิปปินส์ได้นำมาใช้แล้วในปีนี้ (2024) เป็นแพลตฟอร์มที่เรียกว่า e.gov.ph. ภายใต้นโยบายรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของฟิลิปปินส์ เป็นต้น
บทบาทสุดล้ำของไบโอเมทริกซ์
แพตทริค หลี่ (Patrick Li) ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายขาย Biometric Identity Technologies ของ HID ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ท่ามกลางบริบทที่ผู้คนเดินทางระหว่างประเทศมากขึ้น หรือแม้กระทั่งการเดินทางภายในประเทศ เราสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ความปลอดภัย ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงว่า ทำอย่างไรถึงจะได้ทั้งความปลอดภัยสูงสุด โดยไม่ทำให้เสียเวลาเพิ่มมากขึ้น หรือต่อแถวยาวขึ้นที่สนามบินหรือที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง
“เทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่างไบโอเมทริกซ์ เช่น การจดจำใบหน้าเพื่อแสดงอัตลักษณ์บุคคลแทนการตรวจเอกสาร คือคำตอบ” แพตทริคยกตัวอย่างระบบจดจำใบหน้าแทนการใช้เอกสารการเดินทางที่สนามบินชางอีสำหรับประชาชนผู้ถือพาสปอร์ตสิงคโปร์ ซึ่งเพิ่มความสะดวกรวดเร็ว และลดการสัมผัส นับเป็นตัวอย่างที่ดี ขณะที่ประเทศไทยเอง ก็มีการนำระบบจดจำใบหน้าแทนการใช้เอกสารตรวจคนเข้าเมืองมาใช้สำหรับชาวไทยที่สนามบินแล้วเช่นกัน
สำหรับ HID ได้ชื่อว่า เป็นหนึ่งในผู้นำด้านเทคโนโลยีดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นระบบอุปกรณ์อ่านข้อมูลบนบัตรอิเล็กทรอนิกส์ HID ATOM(TM) ID document reader รวมทั้ง HID U.ARE.U Camera Identification System โซลูชั่นเกี่ยวกับการระบุอัตลักษณ์ด้วยกล้องคุณภาพสูง ซึ่งปัจจุบันมีใช้ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองบนเกาะบาตัม ประเทศอินโดนีเซีย เหล่านี้เป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่บริษัทนำมาให้ได้ชมกันภายในงาน BMIC ประจำปีนี้
อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่แพตทริคเห็นว่าเป็นความท้าทายสำหรับรัฐบาลนานาประเทศ นั่นก็คือ การนำเทคโนโลยีมาใช้จำเป็นต้องอาศัยเม็ดเงินลงทุน ซึ่งหนึ่งในทางออกที่ดีคือการเชิญชวนภาคเอกชนเข้ามาลงทุนร่วมกับภาครัฐนั่นเอง