มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ประกาศผลรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นและรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2567 ในงาน Outstanding Technologist Awards & TechInno Forum 2024 ภายใต้หัวข้อ “AI for Deep Tech” จัดโดยสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยผู้ที่ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ได้แก่
- ดร. ไพศาล ขันชัยทิศ และคณะ ทีมวิจัยระบบหุ่นยนต์และเข็มระดับนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กับผลงานวิจัยเรื่อง “กระบวนการผลิตเข็มขนาดไมครอนแบบรวดเร็วและสามารถปรับเปลี่ยนฟีเจอร์”
และผู้ที่ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ได้แก่
- รศ.ดร.พชรพิชญ์ พรหมอุปถัมภ์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กับผลงานวิจัยเรื่อง “เทคโนโลยีการออกแบบอุปกรณ์การแพทย์และอุปกรณ์ปลูกถ่ายประเภทโลหะเฉพาะบุคคลที่มีน้ำหนัก เบาและความเข้ากันได้ทางด้านชีวกลศาสตร์”
รศ.ดร. ศักรินทร์ ภูมิรัตน ประธานมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวในพิธีประกาศผลรางวัลว่า “มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฯ ริเริ่มให้มีรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นและนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ เพื่อเชิดชูเกียรติแก่นักวิจัยที่ประสบความสำเร็จ มีผลงานโดดเด่น และเป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม อีกทั้งเป็นการสร้างเสริมกำลังใจและสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเทคโนโลยีรุ่นหลังๆ ที่จะถือเป็นตัวอย่างและเจริญรอยตามนักเทคโนโลยีรุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จ ส่งผลให้เกิดการสนับสนุนบุคลากรวิจัยของประเทศ ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาชาติ”
“ผมขอแสดงความยินดีกับผู้ชนะรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นและนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ทั้งสอง และผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายทุกท่าน และขอขอบคุณในความพยายามทุ่มเทดำเนินงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง จนเกิดเป็นเทคโนโลยีที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ และก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นรูปธรรม”
โดยผู้ชนะรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นและรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี พ.ศ.2567 จะเข้ารับพระราชทานโล่รางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นและเหรียญรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในงานการประชุมวิชาการนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ครั้งที่ 50 (STT50) ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 ณ โรงแรมดิเอ็มเพรส จังหวัดเชียงใหม่
ภายในงานยังมีการสัมมนาภายใต้หัวข้อ AI for Deep Tech การใช้งานเทคโนโลยี การนำ AI มาใช้เพื่อสร้างสรรค์โลกที่ยั่งยืน โดย ดร.ปาโบล การ์เซีย เทลโล (Dr. Pablo Garcia Tello) จาก CERN ดร.เฉลิมพล ปุณโณทก จากหุ่นยนต์ดินสอ รวมถึงการนำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมโดยองค์กรและนักวิจัยที่ประสบความสำเร็จ เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ จุดประกายความคิด สร้างโอกาสและเครือข่ายต่อยอดความร่วมมือและโอกาสทางธุรกิจต่อไปอีกด้วย