บมจ. เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) เปิดตัวห้องปฏิบัติการพาวเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมทั้งลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการส่งเสริมการวิจัย การพัฒนา และความเป็นเลิศทางการศึกษา
พิธีเปิดได้รับเกียรติจาก คุณสุทธิเกตติ์ ทัดพิทักษ์กุล รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และศาสตราจารย์ชโลธร บุญเหลือ ผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)
นายวิคเตอร์ เจิ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ ประเทศไทย ได้ตอกย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือครั้งนี้ว่า “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) นี้เป็นนิมิตรหมายอันดีที่แสดงให้เห็นถึงพลังของความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา โดยเมื่อทำงานร่วมกัน เราจะสามารถสร้างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทรงคุณค่าได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งยังส่งผลดีทั้งต่ออุตสาหกรรมและสังคมโดยรวม เรามุ่งหมายที่จะบ่มเพาะวิศวกรไทยรุ่นใหม่ผ่านการเสริมสร้างทักษะและความรู้ เพื่อให้พวกเขามีส่วนร่วมกำหนดอนาคตของอุตสาหกรรมไฮเทคและขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้า”
ห้องปฏิบัติการพาวเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ของเดลต้า : วิสัยทัศน์เพื่อนวัตกรรมแห่งอนาคต
ห้องปฏิบัติการใหม่นี้เป็นส่วนสำคัญในวิสัยทัศน์ด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ของบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ ประเทศไทย ที่มุ่งเสริมศักยภาพให้นิสิตนักศึกษาด้านวิศวกรรมในประเทศไทยผ่านองค์ความรู้ด้านพาวเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ (power electronics) ระดับสากล ด้วยเครื่องมือทันสมัยที่ได้รับการสนับสนุนจากเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ ห้องปฏิบัติการนี้เปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาได้ฝึกฝนทักษะขั้นสูงและสัมผัสประสบการณ์จริงในการทดลองด้านพาวเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อส่งเสริมวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศไทยสู่การเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงในภูมิภาค
การก่อตั้งห้องปฏิบัติการนี้ยังสอดรับกับนโยบายประเทศไทย 4.0 ที่มุ่งปรับโฉมเศรษฐกิจประเทศไทยให้ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ภายใต้วิสัยทัศน์นี้ รัฐบาลตั้งเป้าเพิ่มการลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนาให้ถึง 2% ของ GDP ภายในปี 2570 เพื่อผลักดันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในทุกอุตสาหกรรม พร้อมสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพบุคคลผ่านโครงการต่าง ๆ ห้องปฏิบัติการพาวเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ของเดลต้า เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนถึงบทบาทสำคัญของเดลต้าในการสนับสนุนเป้าหมายเหล่านี้
MOU เพื่อยกระดับการศึกษาไทย
การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นับเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับการศึกษา วิจัย และพัฒนาด้านพาวเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ บันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้มุ่งเน้นการพัฒนาหลักสูตรและกิจกรรมที่ส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรม เสริมสร้างการแลกเปลี่ยนความรู้ และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้แบบบูรณาการและโครงการสหกิจศึกษาที่ผสมผสานการเรียนเข้ากับการทำงานจริง
เดลต้าร่วมขับเคลื่อนนโยบาย “ประเทศไทย 4.0”
การก่อตั้งห้องปฏิบัติการอิเล็กทรอนิกส์สะท้อนถึงความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องของเดลต้าในการสนับสนุนนโยบายประเทศไทย 4.0 ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรม ภายใต้นโยบายนี้ ประเทศไทยมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมที่อยู่ในกลุ่ม S-curve อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน บทบาทของเดลต้าในภาคส่วนเหล่านี้ยังสอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศไทยที่ต้องการให้เศรษฐกิจดิจิทัลมีสัดส่วน 25% ของ GDP ภายในปีพ.ศ. 2570 ซึ่งครอบคลุมการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงหลายด้าน เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ระบบอัตโนมัติ (Automation) และการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่ล้วนเป็นรากฐานสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ
นอกจากนี้ ความร่วมมือระหว่างเดลต้าและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ให้กับวิศวกรรุ่นใหม่ เพื่อให้พวกเขามีศักยภาพในระดับสากลนั้น ยังสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของประเทศไทยในการขับเคลื่อนนวัตกรรมเทคโนโลยี ขยายการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา เพื่อนำพาประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตขั้นสูงและโซลูชันด้านพลังงานในระยะยาวอีกด้วย