สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) เปิดตัว “ระบบวิเคราะห์สมรรถนะการ วิจัยของประเทศไทย” (Thailand Research Analysis and Performance : ThaiRAP) เวอร์ชัน 2024 พร้อมคัดเลือกหน่วยงานนำร่อง 30 กว่าหน่วยงาน เพื่อให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้มากขึ้น ก่อนที่ระบบ ThaiRAP จะเปิดให้บริการกับทุกหน่วยงานในช่วงปี 2568 เป็นต้นไป
รศ. ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า ทางกองทุน ววน. และ สกสว. ได้สนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาระบบวิเคราะห์ข้อมูลสมรรถนะการวิจัยของประเทศไทย รวมไปถึงการดำเนินงานสำหรับพัฒนาคุณภาพวารสารไทยให้กับ TCI มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2564 โดยมุ่งหวังให้เป็นระบบที่สามารถใช้ประกอบในการกำหนดทิศทางและนโยบายด้านการวิจัยของประเทศที่ครอบคลุมสหสาขาทั้งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ เนื่องจากเป็นระบบที่ทำให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลผลงานตีพิมพ์ในประเทศได้เหมือนกับระบบของต่างประเทศ
ศ. ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ หัวหน้าศูนย์ TCI ระบุว่า ในปัจจุบัน ฐานข้อมูล TCI มีวารสารรวมทั้งสิ้น 1,417 วารสาร จำนวนผลงานตีพิมพ์รวมกันมากกว่า 452,525 บทความ และมีผู้แต่งถึง 1,538,355 ท่าน หากสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ในฐานข้อมูล TCI มาทำการศึกษาวิเคราะห์ผ่าน “ระบบวิเคราะห์สมรรถนะการวิจัยของประเทศไทย” (ThaiRAP) ที่ผ่านการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2564 จะทำให้สามารถวิเคราะห์สมรรถนะการวิจัยของประเทศไทยได้ ทั้งในระดับประเทศ ระดับหน่วยงาน/มหาวิทยาลัย และระดับบุคคล โดยมีดัชนีชี้วัดที่หลากหลาย เช่น จำนวนผลงานตีพิมพ์ในแต่ละปี จำนวนผู้แต่ง สาขาวิชาที่มีการตีพิมพ์ คำสำคัญที่แสดง เนื้อหาบทความ จำนวนการอ้างอิงโดยรวม จำนวนการอ้างอิงต่อบทความ และความร่วมมือทางวิชาการระหว่างหน่วยงาน ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งอาจารย์ นักศึกษา นักวิจัย ผู้บริหาร ผู้กำหนดนโยบาย หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน หน่วยงานให้ทุนสนับสนุนการวิจัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบายและทิศทางการวิจัยของประเทศ
โดยสามารถนำผลการวิเคราะห์จากระบบ ThaiRAP ร่วมกับการวิเคราะห์ข้อมูลผลงานตีพิมพ์ของไทยในฐานข้อมูลนานาชาติ เช่น ฐานข้อมูล Scopus ไปใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลผลงานวิจัย ความเชี่ยวชาญของนักวิจัยและหน่วยงานวิจัย สถานการณ์และภาพรวมของการวิจัย เพื่อประโยชน์ในการจัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของหน่วยงานหรือของประเทศ รวมทั้งการกำหนดทิศทางการวิจัยและนวัตกรรม และการติดตามและประเมินขีดความสามารถด้านการวิจัยและนวัตกรรม ที่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทยต่อไป
ทั้งนี้ การพัฒนาระบบ ThaiRAP (เวอร์ชัน 2024) (https://thairap.in.th/) ได้แล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2567 โดยมีพิธีเปิดตัวการใช้งานระบบดังกล่าวแก่หน่วยงานนำร่อง 30 หน่วยงาน เพื่อให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้มากขึ้น ก่อนที่ระบบ ThaiRAP จะเปิดให้บริการกับทุกหน่วยงานในช่วงปี 2568 เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกของโลก ที่มีระบบวิเคราะห์สมรรถนะการวิจัยในระดับชาติ
ที่สามารถเทียบเคียงได้กับระดับนานาชาติ