ดีป้า และ COM7 BUSINESS ประกาศความร่วมมือด้านการขับเคลื่อนบัญชีบริการดิจิทัลและอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย อำนวยความสะดวกผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปที่มองหาเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีมาตรฐาน ในราคาที่สมเหตุสมผลได้โดยเหมาะสมกับบริบทของตนเอง ผู้ประกอบการดิจิทัลสามารถขยายตลาดภาคเอกชน และเข้าสู่ตลาดภาครัฐได้ง่ายขึ้น พร้อมปูพรมนำเสนอรายชื่อของผู้ประกอบการดิจิทัลที่ขึ้นทะเบียนบัญชีบริการดิจิทัลและรายละเอียดต่าง ๆ บนหน้าจอของร้าน BaNANA ในห้างสรรพสินค้าชั้นนำให้ประชาชนที่สนใจได้เลือกสรร
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า และ นายภาคภูมิ เสตะรัต ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการสายงานปฏิบัติการสาขา บริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) หรือ COM7 BUSINESS ประกาศความร่วมมือด้านการขับเคลื่อนบัญชีบริการดิจิทัลและอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย โดยมี นางสาวพรเพ็ญ แก้วสุระพล Education & Enterprise Director และ นายสิทธิวัจน์ เวชยาพันธุ์ Head of Cloud & Enterprise Solution COM7 BUSINESS พร้อมด้วย นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการใหญ่ และ ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า ร่วมเป็นสักขีพยาน
ผศ.ดร.ณัฐพล เปิดเผยว่า บัญชีบริการดิจิทัล คือหนึ่งในกลไกยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัลไทยที่มีการรวบรวมสินค้าและบริการดิจิทัลจากดิจิทัลสตาร์ทอัพและผู้ให้บริการดิจิทัลสัญชาติไทย เป็นตัวช่วยในการคัดกรองผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนและเป็นไปตามข้อกำหนดตามมาตรฐาน dSURE (ดีชัวร์) หรือ Digital Sure ที่ ดีป้า กำหนดขึ้นสำหรับซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน อาทิ มาตรฐานด้านความปลอดภัยในการใช้งาน และมาตรฐานด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ มั่นใจข้อมูลถูกจัดเก็บในประเทศ ไม่รั่วไหล อีกทั้งมีการระบุราคาที่ชัดเจน เชื่อถือได้ และเป็นไปตามข้อกำหนดของกรมบัญชีกลาง
นอกจากนี้ บัญชีบริการดิจิทัลยังอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ รวมถึงประชาชนทั่วไปที่กำลังมองหาผลิตภัณฑ์หรือบริการดิจิทัล อีกทั้งสามารถนำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 200% ขณะเดียวกันหน่วยงานภาครัฐที่ต้องการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาการให้บริการประชาชน สามารถจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์และบริการที่ขึ้นทะเบียนบัญชีบริการดิจิทัลโดยเลือกใช้วิธีเฉพาะเจาะจงโดยไม่จำกัดวงเงิน ซึ่งเงื่อนไขเป็นไปตามกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2566 กระทรวงการคลัง
“สำหรับความร่วมมือระหว่าง ดีป้า และ COM7 BUSINESS ในครั้งนี้จะช่วยให้ประชาชนที่กำลังมองหาโซลูชันสามารถเข้าถึงและเลือกใช้ผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลที่มีมาตรฐาน ในราคาที่สมเหตุสมผลได้โดยเหมาะสมกับบริบทของตนเอง ขณะเดียวกันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการดิจิทัลที่สามารถขยายตลาดภาคเอกชน และเข้าสู่ตลาดภาครัฐได้ง่ายขึ้น โดยปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลที่ขึ้นทะเบียนบัญชีบริการดิจิทัลแล้วมากกว่า 400 รายการสินค้าและบริการ” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว
ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวเสริมว่า นอกเหนือจากบัญชีบริการดิจิทัลแล้ว ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าวยังมุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกม ซึ่ง ดีป้า และ COM7 BUSINESS เล็งเห็นว่า การขยายตัวของอุตสาหกรรมเกมจะเป็นแรงผลักดันให้ตลาดคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ (Smart Devices) เติบโตตาม ดังนั้น ดีป้า และ COM7 BUSINESS จะเดินหน้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกมควบคู่ไปกับตลาดคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ อีกทั้งร่วมสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนอีกทางหนึ่ง
ด้าน นายภาคภูมิ กล่าวว่า ความร่วมมือกับ ดีป้า ในครั้งนี้จะช่วยสร้างการรับรู้เกี่ยวกับบัญชีบริการดิจิทัล และดึงดูดให้ประชาชนทั่วไป รวมถึงผู้ประกอบการที่กำลังมองหาผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลสามารถเข้าถึงบัญชีบริการดิจิทัลได้โดยง่ายผ่านการนำเสนอรายชื่อของผู้ประกอบการดิจิทัลที่ขึ้นทะเบียนในบัญชีบริการดิจิทัล รวมถึงรายละเอียดของเทคโนโลยีต่าง ๆ บนหน้าจอของร้าน BaNANA ในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยที่ใช้บริการคลาวด์ของนิติบุคคลที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องในประเทศ เช่น Amazon Web Services ให้ได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด
ทั้งนี้ ดีป้า ยังมีโครงการดี ๆ อย่าง โครงการ CONNEXION ที่มุ่งยกระดับองค์ความรู้ พัฒนาชุดทักษะใหม่ด้านดิจิทัลให้กับคนไทย โดยเฉพาะผู้ว่างงานและนักศึกษาจบใหม่ที่กำลังหางานให้มีความพร้อมต่อการประกอบอาชีพใหม่ในยุคดิจิทัล และมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซไทยอย่าง คอนเทนต์ครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์ หรือจะประกอบอาชีพอื่น ๆ ในสายอย่าง ออแกไนเซอร์ นักออกแบบ นักพากย์ นักเล่าเรื่อง เป็นต้น
และอีกหนึ่งโครงการกับ เปิดเมือง เปิดท่องเที่ยวไทยด้วยดิจิทัล กับการพัฒนา ThailandCONNEX เพื่อเป็นแพลตฟอร์มกลางที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางรูปแบบ Business to Business (B2B) ในลักษณะ Wholesales สำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยให้สามารถเข้าถึง นำเสนอสินค้าและบริการสู่ผู้ให้บริการท่องเที่ยว (Online Travel Agents : OTAs) ทั้งในประเทศและต่างประเทศทั่วโลก อีกทั้งช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและเพิ่มโอกาสการเข้าถึงนักท่องเที่ยวทั่วโลกให้กับผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม ลดการพึ่งพาแพลตฟอร์มต่างชาติ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ซึ่งที่ผ่านมาโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย โดยมีผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อาทิ กลุ่มธุรกิจที่พัก ร้านอาหาร และธุรกิจบริการเช่า ยานพาหนะเข้าร่วมแพลตฟอร์ม ThailandCONNEX กว่า 1 แสนราย มีสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวกว่า 2 แสนรายการ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 12,000 ล้านบาท