ศ.ดร. ธีรวุฒิ บุณยโสภณ นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เปิดเผยว่า ทีมหุ่นยนต์ iRAP Robot (ไอราฟ โรบอท) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) คว้าแชมป์โลกรางวัลชนะเลิศ หุ่นยนต์กู้ภัย World Robocup Rescue 2024 โดยเป็นแชมป์โลกสมัยที่ 10 และอีก 2 รางวัลนวัตกรรมยอดเยี่ยมระดับโลก คือรางวัล Best in class mobility (รางวัลนวัตกรรมสมรรถนะการขับเคลื่อนยอดเยี่ยมระดับโลก) และรางวัล Best in class Dexterity (รางวัลสมรรถนะการทำงานแขนกลยอดเยี่ยมระดับโลก) ระหว่างวันที่ 16-21 กรกฎาคม 2567 ณ เมืองไอนด์โฮเวน ประเทศเนเธอร์แลนด์ ท่ามกลางการต้อนรับแสดงความยินดีและชื่นชมในความสามารถของนักศึกษาที่สร้างชื่อเสียงมาสู่มหาวิทยาลัยและประเทศชาติ จากคณะผู้บริหาร อาจารย์ นักศึกษา และสมาชิกชมรมหุ่นยนต์
ผลงานหุ่นยนต์ iRAP Robot ได้สร้างชื่อเสียงในระดับโลกให้ประเทศไทยและ มจพ. ด้วยการคว้าแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยเป็นสมัยที่ 10 มจพ. จึงเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกแห่งเดียวในโลกที่เป็นแชมป์หุ่นยนต์กู้ภัยถึง 10 สมัย ตัวเต็งยืนหนึ่งโชว์ศักยภาพหุ่นยนต์และนวัตกรรมที่ยอดเยี่ยมระดับโลก นับได้ว่ามีความสำเร็จเป็นอย่างมากทั้งในด้านฝีมือ และพลังทีมเวิร์คของนักศึกษาทีมแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัย โดยมีทีมหุ่นยนต์กู้ภัยเข้าร่วมการแข่งขัน 20 ทีม จาก 10 ประเทศทั่วโลก โดยแต่ละรอบของการแข่งขันทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP ROBOT ทำคะแนนรวมได้ดีเยี่ยมจากทุกสนามเป็นอันดับที่ 1 เมื่อหุ่นยนต์ iRAP Robot ปรากฏตัวขึ้นในสนาม “ย่อมเป็นตัวเต็งในการแข่งขันครั้งนี้ สามารถสะกดสายตาทีมอื่น ๆ
ด้วยศักดิ์ศรีที่เป็นแชมป์โลกหลายสมัย กอปรด้วยทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP ROBOT ได้พัฒนาศักยภาพ สร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมและประดิษฐ์สิ่งใหม่ ๆ ใช้งานได้จริงบนเวทีระดับโลก เป็นอีกเหตุผลที่ช่วยทีมเติบโตอย่างต่อเนื่อง คือ การคิดเชิงนวัตกรรม (Innovative Thinking) แบบ 100% นั่นเอง” เติมเต็มทุกกระบวนการในการสร้างหุ่นยนต์ให้ตรงความต้องการของโจทย์และกติกาการแข่งขันในเวทีระดับโลกอย่างรอบด้าน เพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดและให้ความสำคัญเทคโนโลยีทุกด้าน รวมถึงการสร้างหุ่นยนต์ให้เป็นอัตโนมัติมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในเวทีอื่น ๆ ต่อไป
จุดเด่นที่ทำให้ทีมหุ่นยนต์กู้ภัยคว้าแชมป์โลกในครั้งมีอยู่ 2 องค์ประกอบที่บ่งบอกถึงสมรรถนะหุ่นยนต์สุดยอดเหนือชั้นจากทีมทั่วโลกประเทศอื่น ๆ ได้แก่ 1. Mobility หรือด้านการขับเคลื่อน หุ่นยนต์ของเราสามารถวิ่งผ่านสิ่งกีดขวางอย่างเช่น หิน ทราย หรือบล๊อกไม้ซึ่งเป็นการจำลองการเกิดอุบัติภัย อาคารถล่ม 2. Dexterity หรือด้านการใช้แขนกล หุ่นยนต์สามารถใช้แขนกลในการหยิบจับสิ่งกีดขวางหรือวัตถุในพื้นที่ประสบภัย หรือการเปิดประตูอาคาร
การออกแบบและสร้างหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP ROBOT อาจกล่าวได้ว่าทั้งหมดของฮาร์ดแวร์ ส่วนโครงสร้าง และการออกแบบ ถูกออกแบบและสร้างด้วยฝีมือเด็กไทย มีเพียงชิปประมวลผล (Processing chip) ที่ยังต้องอาศัยจากต่างประเทศเนื่องจากประเทศไทยยังผลิตไม่ได้ ส่วนซอฟต์แวร์ทั้งหมดก็ถูกออกแบบและสร้างขึ้นจากฝีมือนักศึกษาและอาจารย์ในทีมทั้งหมดไม่ได้ใช้ของจากต่างประเทศ เสริมให้สมรรถนะของหุ่นยนต์ iRAP Robot สามารถทำคะแนนรวมจากทุกสนามเป็นคะแนน 1612 % เข้าสู่รอบก่อนชิงชนะเลิศ (Semi-Final) เป็นอันดับที่ 1 ซึ่งทำให้บรรยากาศการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศเป็นไปอย่างเข้มข้น สร้างความกดดันให้กับทุกทีม จากเวทีการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยโลก “World RoboCup Rescue 2024” และเมื่อเข้าสู่การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP Robot มจพ. จากประเทศไทยโดยการคว้าแชมป์โลกได้นั้น สามารถได้คะแนนสูงสุด 1076 คะแนน ส่วนรองแชมป์โลกอันดับ 2 ทีม Shinobi ประเทศญี่ปุ่น ได้ 921 คะแนน และรองแชมป์โลกอันดับ 3 ทีม Alert ประเทศเยอรมัน ได้ 825 คะแนน
นับได้ว่าความสำเร็จในครั้งนี้ เป็นความมุ่งมั่นในการทำงานอย่างเป็นระบบ มีการทำงานเป็นทีมและมีเป้าหมายร่วมกัน หุ่นยนต์กู้ภัยโลก สมัยที่ 10 ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งอีกครั้งบนเวทีระดับโลก และสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย อาจกล่าวได้ว่า มจพ. เป็นแชมป์โลกหุ่นยนต์ที่นานาชาติรู้จักฝีไม้ลายมือและชื่อเสียงเยาวชนไทยเป็นอย่างดี เป็นการตอกย้ำความเป็นที่สุดของแชมป์โลกแบบครบเครื่องในระยะเวลาถึง 18 ปี ตั้งแต่แชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัย World RoboCup Rescue สมัยที่ 1 ของ มจพ.ในปี 2549 ณ เมืองเบรเมน ประเทศเยอรมัน ล่าสุด แชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยสมัยที่ 10 ของ มจพ. ปี 2567 ณ เมืองไอนด์โฮเวน ประเทศเนเธอร์แลนด์