The Story Thailand เว็บไซต์ข่าวธุรกิจ เทคโนโลยี และ ESG เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน ฉลองครบรอบ 4 ปีด้วยการจัดงานสัมมนา The Story Thailand Forum 2024 หัวข้อ “Tech Vanguard – CIOs Leading the Charge in AI and Sustainability” ระดมผู้นำด้านเทคโนโลยีและความยั่งยืน และบรรดาผู้เชี่ยวชาญระดับสูงขององค์กรต่าง ๆ มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองต่อการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ควบคู่กับการแก้ไขปัญหาสภาพแวดล้อมและเพิ่มความสำคัญต่อความยั่งยืน
ในยุคที่เทคโนโลยีและความยั่งยืนกลายเป็นประเด็นสำคัญระดับโลก ผู้นำองค์กรจำเป็นต้องเข้าใจและบูรณาการทั้งสองแนวคิดนี้เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจสู่อนาคต โดยเนื้อหาในสัมมนาประกอบด้วย 3 ส่วนใหญ่ ๆ ดังนี้
เทคโนโลยีและความยั่งยืน: คู่หูสำคัญสู่อนาคตเศรษฐกิจไทย
เปิดการสัมมนาด้วยมุมมองการใช้เทคโนโลยี AI โดย ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์ ว่าเป็นทั้งโจทย์และเครื่องมือสู่ความยั่งยืน ที่ต้องพิจารณาควบคู่กันในการพัฒนาองค์กรยุคใหม่ โดยได้นำเสนอแนวคิด “Net Positive” ที่มองเทคโนโลยีในฐานะทั้งประเด็นด้านความยั่งยืนและเครื่องมือเพิ่มความยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยี AI ที่แม้จะมีประโยชน์มหาศาล แต่ก็ส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมสูง เช่นเดียวกับศูนย์ข้อมูลคลาวด์และเทคโนโลยีบล็อกเชน ที่ใช้พลังงานและทรัพยากรจำนวนมาก เพื่อให้องค์กรสามารถพัฒนาและใช้งานเทคโนโลยีอย่างรับผิดชอบ
ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับ คุณสมคิด จิรานันตรัตน์ ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย และผู้อยู่เบื้องหลังแอปเป๋าตังและ K-Plus ที่กล่าวเสริมถึงความสำคัญของการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลกับทิศทางประเทศไทยว่า ความสำคัญของการปฏิรูปดิจิทัลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน โดยต้องประกอบด้วย 3 องค์ประกอบคือ ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ บุคลากรที่เปิดรับสิ่งใหม่ และความสามารถด้านเทคโนโลยีใหม่อย่าง AI แนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยควรนำ AI มายกระดับผลิตภาพ สร้างวัฒนธรรมนวัตกรรม กระจายโอกาสการศึกษาผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และส่งเสริมบทบาทของ AI ในด้านการศึกษาและสุขภาพ
ในขณะที่ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีก้าวข้ามขีดจำกัดเดิม ๆ จากที่เคยมา แต่ยังมีอีกเหรียญอีกด้านที่องค์กรทุกขนาดต้องพึงระวังด้วย นั่นคือ มาตรฐานความปลอดภัย ซึ่ง คุณปิยธิดา ตันตระกูล กรรมการผู้จัดการบริษัท เทรนด์ ไมโคร (ประเทศไทย) ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการสร้างระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อรับมือกับภัยคุกคามจาก AI โดยเน้นการสร้าง AI Ecosystem ที่ปลอดภัย ตรวจจับการปลอมแปลงด้วย Deepfake, ป้องกันการรั่วไหลข้อมูล และปกป้องบริการ AI ภายในองค์กร โดยใช้กลยุทธ์ “AI for Security” และ “Security for AI” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจจับ ระบุ ป้องกัน และตอบสนองต่อภัยคุกคามได้อย่างรวดเร็ว
AI กับการสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์
หลักการใช้เทคโนโลยี AI เสริมประสิทธิภาพในการทำธุรกิจนั้น คุณปริชญ์ รังสิมานนท์ ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ลูลู่ เทคโนโลยี จำกัด ได้นำเสนอกรณีศึกษาการนำ AI มาใช้ในธุรกิจจริง ทั้งระบบวิเคราะห์การพยากรณ์ ระบบแนะนำสินค้าส่วนบุคคล การอ่านข้อความจากเอกสาร แปลงเสียงเป็นข้อความ และระบบแนะนำสินค้าแบบเรียลไทม์ ทั้งนี้สำหรับ SME ที่มีงบประมาณจำกัดก็สามารถเริ่มศึกษาและนำ AI open source มาใช้ประโยชน์ จึงแนะนำให้ทุกองค์กรเห็นความสำคัญและนำ AI มาเพิ่มผลผลิต สินค้า บริการและประสิทธิภาพการทำงาน
หนึ่งในตัวอย่างจริงของสถาบันการเงินที่ใช้ คือ กสิกร บิซิเนส เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) ซึ่ง ดร.ทัดพงศ์ พงศ์ถาวรกมล Managing Director ของ KBTG มาเผยเคล็ดลับการนำ AI สู่ภาคธุรกิจอย่างยั่งยืนว่า ต้องสร้างระบบนิเวศให้พร้อม โดยเฉพาะ GenAI หรือ AI แบบกว้างที่มีความสามารถในการใช้งานได้หลากหลาย โดยทั่วโลกต่างตระหนักว่า GenAI มีแนวโน้มจะกลายเป็น “General-Purpose Technology” องค์กรควรมีความพร้อมในการนำ AI มาใช้ใน 3 ขั้นตอนหลัก ได้แก่ 1. Apply Phase เป็นการนำ AI solution มาทดลองใช้งาน ประเมินผล แล้วขยายผลหรือปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการใช้งาน 2. Build Phase เป็นการพัฒนาขีดความสามารถด้าน AI ภายในองค์กร และ 3. Commercialize Phase เป็นการจัดตั้งทีมธุรกิจ เพื่อนำ AI solution มาใช้งานเชิงพาณิชย์
ด้านการสร้างนวัตกรรม AI สู่การใช้งานท้องถิ่นมากขึ้น อย่างโมเดล “ไต้ฝุ่น” (Typhoon) ซึ่งเป็น Large Language Model สำหรับภาษาไทยโดยเฉพาะ คุณกวีวุฒิ เต็มภูวภัทร Head of R&D Innovation Lab จาก SCB X นำเสนอแนวทางการพัฒนา AI นี้ว่า ใช้หลัก Innovation Framework ที่คำนึงถึงทั้งความต้องการของมนุษย์ ความเป็นไปได้ทางธุรกิจ และความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยี เริ่มจากการนำ AI ไปใช้กับพนักงานหน้างานจริง เพื่อสร้างคุณค่าและแรงบันดาลใจ ก่อนจะขยายผลไปสู่ด้านอื่นๆ ขององค์กร เช่น การลดค่าใช้จ่ายและสร้างธุรกิจใหม่ ซึ่งเป็นแนวทางที่น่าสนใจสำหรับองค์กรที่ต้องการนำ AI มาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเปิดให้ใช้งานแบบ Open Source และเริ่มนำไปบูรณาการกับการทำงานจริง เช่น ช่วยตอบคำถามลูกค้า วิเคราะห์ความรู้สึก และสรุปข้อมูลสำคัญ
AI นวัตกรรมเคียงข้าง ESG เพื่อการใช้งานจริงในบริบทไทย
เมื่อเทคโนโลยี AI ครอบคลุมการใช้งานในทุกระดับและคนรุ่นใหม่คุ้นชินในการใช้งานอย่างรวดเร็ว ดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE ประเทศไทย นำเสนอแนวคิด “Humanized AI” ซึ่งเป็นการนำ AI มาพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตประจำวันของผู้ใช้งาน ก่อนนำ AI มาประยุกต์ใช้นั้น ทั้งธุรกิจและผู้ใช้งานปลายทางต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ เช่น ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน การยอมรับและนำ AI มาใช้ในองค์กร นโยบายภาครัฐ กฎหมาย ศักยภาพบุคลากร และการนำ AI ไปปรับใช้จริง ตัวอย่างที่ LINE ได้นำ AI มาใช้ในหลายผลิตภัณฑ์ เช่น Translator Bot, Message Summary, AI Assistant, และระบบแนะนำคอนเทนต์ที่ใช้ AI วิเคราะห์ความสนใจของผู้ใช้ นอกจากนี้ยังมีการนำ AI มาใช้ในบริการอื่นๆ
คุณจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัท บิทคับ แคปปิตอล เสนอมุมมองของการใช้กลยุทธ์นำเทคโนโลยี AI เสริมความยั่งยืนว่า การสร้างความยั่งยืนให้กิดขึ้นนั้น องค์กรไม่ควรมุ่งเน้นแค่ผลประกอบการเท่านั้น แต่ต้องให้ความสำคัญกับบทบาทและอัตลักษณ์ขององค์กรด้วย โดย “Sustainability” ไม่ได้หมายถึงเพียงด้านสิ่งแวดล้อม แต่ครอบคลุมถึงมิติทางสังคมและการกำกับดูแลองค์กรด้วย ควรมีความหลากหลายทางความคิด มีทั้งบทบาทในงานอาชีพและให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมต่อสังคมมากขึ้น สร้างสรรค์สังคมที่ดีขึ้น และพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงด้านแรงงานจากการนำ AI มาใช้
ในขณะที่ ภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ใช้แนวคิดนวัตกรรม AI สร้างความยั่งยืนได้รับเกียรติจาก ดร.เอื้อมพร ปัญญาใส จากบริษัท แปซิฟิกไพพ์ จำกัด นำเสนอกรณีศึกษาการนำแนวคิด ESG มาปฏิบัติจริงในองค์กร โดยครอบคลุมทั้งมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาสนับสนุนการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การปรับปรุงระบบเพื่อรองรับโครงสร้างข้อมูลใหม่ การพัฒนาระบบบริหารลูกค้าสัมพันธ์ ไปจนถึงการสร้างกระบวนการดิจิทัลที่สอดคล้องกับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แนวทางนี้แสดงให้เห็นว่าการนำ ESG มาปฏิบัติจริงสามารถทำได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยอาศัยเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ
ภายในงานยังมีการเสวนา “The role of Chief Information and Technology Officer and the strategy of AI and ESG” โดยมีผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมสนทนาบนเวทีอาทิ ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ คุณสมคิด จิรานันตรัตน์ และดร.ทัดพงศ์ พงศ์ถาวรกมล ซึ่งประเด็นที่ผู้ร่วมงานได้ซักถามส่วนใหญ่ คือ การย้ำถึงความสำคัญของบทบาทผู้นำองค์กรในยุคดิจิทัล ที่ต้องมีวิสัยทัศน์กำหนดกลยุทธ์การนำ AI และวิถีความยั่งยืนมาปรับใช้กับธุรกิจอย่างทันท่วงที เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง สร้างสรรค์งานที่มีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ผู้บริโภค และช่วยสร้างผลกำไรให้องค์กรพร้อมกับเติบโตแบบยั่งยืนทั้งต่อตนเอง ลูกค้า และสิ่งแวดล้อม
เนื้อหาทั้งหมดในงานสัมมนา The Story Thailand Forum 2024 หัวข้อ “Tech Vanguard – CIOs Leading the Charge in AI and Sustainability” สรุปได้ว่าผู้นำองค์กรตระหนักถึงความสำคัญของการนำ AI มาใช้ประโยชน์ในธุรกิจ ประเมินผลกระทบของเทคโนโลยีแบบรอบด้าน ทั้งในแง่บวกและลบ และควรดำเนินการควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืนให้องค์กรผ่านมิติด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลที่ดี (ESG) รวมถึงมีระบบรักษาความปลอดภัยที่เหมาะสม เพื่อให้การนำ AI มาประยุกต์ใช้เป็นการผสานเทคโนโลยีและความยั่งยืนเข้าด้วยกันอย่างชาญฉลาด เหมาะสมกับบริบทขององค์กรและประเทศ จะช่วยให้องค์กรสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงในระยะยาว พร้อมรับมือกับความท้าทายในโลกธุรกิจยุคดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว