บริษัท บิทคับ แล็บส์ จำกัด ผู้ให้บริการ “Bitkub Academy” ศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีบล็อกเชนและสินทรัพย์ดิจิทัล และวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ประกาศความร่วมมือทางวิชาการด้านเทคโนโลยีบล็อกเชนและสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมด้านการศึกษาให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน ตลอดจนเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและเพิ่มโอกาสในการสร้างอาชีพในอนาคต โดยมีนายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด และผู้ช่วยศาสตราจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช อธิการบดี วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงนี้ ณ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม กรุงเทพฯ
นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา กล่าวว่า “ความร่วมมือในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรและทรัพยากรคนรุ่นใหม่ให้มีความรู้ความเข้าใจในด้านเทคโนโลยีบล็อกเชนและสินทรัพย์ดิจิทัล ทำให้สามารถก้าวทันยุคดิจิทัล พร้อมเตรียมรับมือการแข่งขันในระดับภูมิภาคอาเซียนได้ โดยร่วมพัฒนาหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน และการวิจัยร่วมกัน ตลอดจนสนับสนุนการแลกเปลี่ยนบุคลากรและองค์ความรู้ รวมถึงการจัดฝึกอบรมและการฝึกงานกับผู้เชี่ยวชาญจริง เพื่อให้ทรัพยากรด้านเทคโนโลยีบล็อกเชนและสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยมีการพัฒนาและเติบโตอย่างยั่งยืน”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “วิทยาลัยเทคโนโลยีสยามมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการกับ บริษัท บิทคับ แล็บส์ จำกัด เพื่อจัดทำหลักสูตรการศึกษาที่จะพัฒนานักศึกษาและคณาจารย์ให้มีความรู้ก้าวทันโลกดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทางวิทยาลัยเห็นว่า หากได้นำความรู้ความเชี่ยวชาญของบริษัท บิทคับ แล็บส์ จำกัด มาเสริมรวมกับศักยภาพของทางวิทยาลัย จะสามารถยกระดับองค์ความรู้และบุคลากรให้พร้อมต่อการแข่งขันได้ในอนาคต”
Bitkub Academy มุ่งพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีบล็อกเชนและสินทรัพย์ดิจิทัลในไทย รวมถึงทักษะ Skill Set ที่จำเป็นในยุคดิจิทัล เพื่อให้คนไทยมีความรู้และทักษะที่สามารถเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศได้ ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ การจัดทำหลักสูตรสำหรับภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ การให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ตลอดจนการนำบล็อกเชนมาใช้เป็น Use Cases ในภาคธุรกิจ ภาคเทคโนโลยี และอุตสาหกรรมต่าง ๆให้แก่นักเรียนนักศึกษา เพื่อเตรียมพร้อมบุคลากรคนรุ่นใหม่ให้เป็น “มนุษย์ทองคำ” ในการเข้าสู่ยุคทองของอาเซียนและโลกยุคดิจิทัลต่อไป