บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ผสานความร่วมมือกับทางจังหวัดนครศีธรรมราช ร่วมด้วยสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ร่วมพิธีเปิดโครงการ “รถดิจิทัล กิจกรรมเพื่อสังคมในพื้นที่ห่างไกล” ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 21 – 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 โครงการนี้ถือเป็นหนึ่งในโครงการเรือธงที่หัวเว่ยดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 2 ปี เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาองค์ความรู้เทคโนโลยีในพื้นที่ห่างไกลของประเทศไทย โดยตั้งเป้าฝึกอบรมความรู้ด้านดิจิทัลให้แก่นักเรียน 3,000 คน และปีนี้ได้เพิ่มเนื้อหาเกี่ยวกับไซเบอร์และพลังงานสะอาด ครั้งนี้รถดิจิทัลเพื่อสังคมเดินทางไปที่โรงเรียนขนอมพิทยา ตำบลขนอม อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมทั้งต่อยอดเรื่องพลังงานสะอาดและการอนุรักษ์ธรรมชาติให้แก่คนรุ่นใหม่
นายขจรเกียรติ รักพานิชมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้กล่าวถึงโครงการ “รถดิจิทัล กิจกรรมเพื่อสังคมในพื้นที่ห่างไกล” ที่ได้จัดขึ้น ณ โรงเรียนขนอมพิทยา ว่า “การเร่งพัฒนาบุคลากรของประเทศถือเป็นหนึ่งในวาระสำคัญ ที่ทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความสำคัญ โดยเฉพาะในช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งการสร้างบุคลากรทางดิจิทัลถือเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันให้กับประเทศ สำหรับความร่วมมือในโครงการครั้งนี้ เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นการยกระดับการศึกษาของประเทศไทย ผ่านการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านเทคโนโลยีดิจิทัลทั้งในเชิงทฤษฏีและปฎิบัติให้กับเยาวชนในพื้นที่ห่างไกล รวมถึงการปลูกฝังจิตสำนึกและความรู้ในเรื่องพลังงานสะอาดและการอนุรักษ์ธรรมชาติให้กับเยาวชนของจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งจะสามารถผลักดันบุคลากรให้ก้าวสู่การเป็นบุคลากรไอซีทีที่มีคุณภาพของประเทศไทยต่อไปในอนาคต สอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัด 5 ปี (พ.ศ.2566-2570) ซึ่งมีหนึ่งในเป้าหมายสำคัญคือ การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”
พลอากาศตรีอมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ได้กล่าวถึงโครงการความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “ในปัจจุบันประเทศไทย มีจำนวนประชากรอินเทอร์เน็ตมากถึง 61.21 ล้านคน คิดเป็น 85.3% ของประชากรทั้งประเทศ ใช้เวลาบนโลกออนไลน์และดิจิทัลสูงถึง 8 ชั่วโมงต่อวัน และใช้โมบายล์ แบงก์กิ้ง ติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก ดังนั้นการให้ความรู้ความเข้าใจกับประชากรในเรื่องความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ถือเป็นหนึ่งในพันธกิจสำคัญของประเทศ และเป็นสิ่งที่สกมช. กำลังดำเนินการอย่างเร่งด่วน ซึ่งรวมถึงในด้านการสร้างองค์ความรู้ให้กับเยาวชนไทยในพื้นที่ห่างไกล ให้มีความพร้อมในการรับมือกับภัยบนโลกไซเบอร์ ทั้งด้านการป้องกันและการรับมือเมื่อเกิดเหตุ โครงการรถดิจิทัล กิจกรรมเพื่อสังคมในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งริเริ่มโดยหัวเว่ย ถือเป็นโครงการที่สะท้อนถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐและองค์กรชั้นนำ ที่จะช่วยยกระดับการพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลรุ่นใหม่ของประเทศ และมุ่งสู่การสร้างบุคลากรไอซีทีคุณภาพเข้าสู่ตลาดแรงงานของไทยต่อไปในอนาคต”
นายสุรชัย ฉัตรเฉลิมพันธุ์ ผู้บริหารระดับสูงฝ่ายความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และความเป็นส่วนบุคคล บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ได้ให้ข้อมูลว่า “ในปัจจุบันประเทศไทยยังคงเผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ห่างไกล การบ่มเพาะทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลจึงถือกุญแจในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลของประเทศ ซึ่งหัวเว่ย ประเทศไทย มุ่งมั่นขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความเสมอภาคและยกระดับคุณภาพผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ผ่านโครงการต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงโครงการเรือธงอย่างรถดิจิทัลเพื่อสังคม โดยโครงการนี้ถือเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญ ในการส่งมอบองค์ความรู้ พัฒนาทักษะ และผลักดันการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่จะพัฒนาประชาชนในพื้นที่ห่างไกลให้ได้รับองค์ความรู้อย่างเท่าเทียม ซึ่งหัวเว่ยมองว่าในปัจจุบัน ทักษะด้านเทคโนโลยีคือสิ่งสำคัญที่ควรเรียนรู้และนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิตประจำวัน รวมถึงต่อยอดการประยุกต์ไปสู่สายอาชีพของผู้เรียนด้วย”
ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา หัวเว่ยได้เดินหน้าต่อยอดโครงการรถดิจิทัลเพื่อสังคม ผ่านการผนึกกำลังกับหน่วยงานภาครัฐและพันธมิตรภาคเอกชน ในการนำรถดิจิทัลบัส ที่มาพร้อมเทคโนโลยีอัจฉริยะระดับโลกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น 5G, AI, IOT, คลาวด์ ฯลฯ ที่หัวเว่ยได้พัฒนาขึ้น เพื่อเร่งพัฒนาศักยภาพบุคลากรไอซีทีในพื้นที่ห่างไกลของประเทศไทยในจังหวัดต่าง ๆ กว่า 13 จังหวัด จนถึงปัจจุบัน โครงการรถดิจิทัลเพื่อสังคมสามารถสร้างองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ รวมถึงความปลอดภัยทางไซเบอร์ และเสริมทักษะให้กับบุคลากรของประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนในช่วงชั้นประถมศึกษา และมัธยมศึกษา นอกจากนี้หัวเว่ยยังได้ทำงานร่วมกับส่วนงานพาณิชย์จังหวัดพะเยา กระทรวงพาณิชย์ เพื่อฝึกอบรมเทรนด์เทคโนโลยีให้แก่เจ้าหน้าที่ รวมถึงกลุ่มฝีมือแรงงานทั้งในและนอกระบบ โดยได้ร่วมมือกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดเพชรบูรณ์จำนวน 700 คน สำหรับโครงการรถดิจิทัลเพื่อสังคมในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่หัวเว่ยร่วมมือกับสกมช. ในการสร้างองค์ความรู้เรื่องภัยคุกคามทางไซเบอร์ ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยทางโรงเรียนขนอมพิทยามีอาคารศูนย์ USO Net ของ สำนักงาน กสทช. ในการใช้เป็นห้องเรียนคอมพิวเตอร์ และครั้งนี้มีเยาวชนกว่า 300 คน เข้าร่วมการฝึกอบรมองค์ความรู้เชิงลึก นอกจากจะมีการบ่มเพาะองค์ความรู้ในด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ความปลอดภัยทางไซเบอร์และความเป็นส่วนบุคคล ให้ประชากรในพื้นที่ห่างไกลสามารถรับมือกับภัยคุกคามบนโลกไซเบอร์ในปัจจุบันแล้ว กิจกรรมในครั้งนี้ยังมุ่งสร้างความตระหนักและจิตสำนึกให้กับเยาวชนในด้านพลังงานสะอาดและพลังงานทดแทน รวมไปถึงการปลูกฝังจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติผ่านกิจกรรมปลูกต้นไม้ภายในสถานศึกษา เพื่อนำประเทศไทยให้เข้าสู่ยุคดิจิทัล ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน ตอกย้ำพันธกิจ “เติบโตไปพร้อมกับประเทศไทย ร่วมสนับสนุนประเทศไทย” ของหัวเว่ย ในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้มีความได้เปรียบทางการแข่งขันในอนาคตอย่างแท้จริง