ผู้อำนวยการ สกสว. นำคณะผู้บริหาร เยี่ยมชมผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริม ววน. ในงานนิทรรศการอุปกรณ์ป้องกันประเทศ ซึ่งมีผู้ประกอบการ กว่า 500 บริษัท จาก 40 ประเทศทั่วโลก พร้อมทั้งหารือแนวทางสนับสนุนและขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมป้องกันประเทศ ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ สร้างเสถียรภาพกองทัพ ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม
เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สกสว.เยี่ยมชมงานนิทรรศการอุปกรณ์ป้องกันประเทศ (Defense & Security 2023) โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงกลาโหม กับผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ กว่า 500 บริษัท จาก 40 ประเทศทั่วโลก เพื่อประชาสัมพันธ์พัฒนาการของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและการรักษาความปลอดภัยของประเทศไทยสู่สายตาประชาคมโลก โดยมี พล.ท.เขมชาติ ปัตตะนุ เจ้ากรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม และคณะผู้บริหาร นำเยี่ยมชมงานนิทรรศการและบรรยายผลงานวิจัยเด่นของกลาโหม ภายใต้การสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) เช่น
รถทำลายล้างพิษต้นแบบเคลื่อนที่แบบลากจูง เคมี ชีวะ (โควิด 19) นวัตกรรมใหม่เพื่อทำลายล้างพิษระบบอัตโนมัติแบบเคลื่อนที่ รวมถึงระบบการจัดการกับสารพิษหลังชำระล้างร่างกาย เพื่อลดอันตรายที่เกี่ยวข้องกับการโจมตี เคมี ชีวะ โดยการใช้เชื้อโรคและสารพิษเป็นอาวุธ ได้แก่ แอนแทรค อหิวาต์ ไข้ทรพิษ กาฬโรค เป็นต้น และนอกจากลดอันตรายที่เกิดขึ้นจากการจงใจใช้อาวุธ เคมี ชีวะ แล้ว ยังสามารถนำไปใช้ในการระงับเหตุและช่วยเหลือประชาชนจากกรณีรั่วไหลของสารเคมี รถขนส่งสารเคมีเกิดอุบัติเหตุ อีกทางหนึ่ง
ชุดแหวนยางกันซึมของปืนใหญ่หนักกระสุนวิถีราบแบบ 95 (ปบค.95) (M101 A1 Modified) ปรับปรุง ขนาด 105 มิลลิเมตร จากการวิจัยและพัฒนาด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีวิศวกรรมย้อนกลับ (Reverse Engineering) ทั้งในด้านของขนาด รูปทรง และวัสดุที่ใช้ในการผลิต การใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ช่วยในการออกแบบ และผลิตทางวิศวกรรม (CAD/CAM) ในการออกแบบและผลิตชุดแหวนยางกันซึมฯ ชุดแม่พิมพ์ที่ใช้ในการผลิต รวมถึงเทคโนโลยีในการตัดเฉือนขึ้นรูปแหวนกันซึมฯ และผลงานชุดแหวนยางกันซึมฯนี้ ได้ผ่านการทดสอบคุณสมบัติด้านวัสดุจากหน่วยงานห้องปฏิบัติการที่ได้รับรองมาตรฐานสากล ผ่านการทดสอบการใช้งาน ทั้งในการจำลองการยิงเบื้องต้น และการทดสอบภาคสนามด้วยการยิงกระสุนจริง ปัจจุบันได้รับการรับรองมาตรฐานจากคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานยุทโธปกรณ์กองทัพบก
แบตเตอรี่ใช้เซลล์ลิเทียมไอออนในการผลิต แรงดัน 24V ความจุ 90Ah จ่ายไฟ ให้กับระบบค้นหา และระบุพิกัดของปืนใหญ่ให้สามารถทำงานได้ไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง และสามารถทำงานได้ทุกสภาพอากาศ ซึ่งปัจจุบันกองทัพได้นำมาใช้ทดแทนการนำเข้าแบตเตอรี่และเครื่องชาร์จแบตเตอรี่จากต่างประเทศ
รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล กล่าวว่า สกสว. เป็นหน่วยงานที่มีพันธกิจในการจัดทำนโยบายและแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) และจัดสรรงบประมาณด้าน ววน. ทั้งในส่วนของงบประมาณสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ (Strategic Fund) เพื่อยกระดับการพัฒนาของประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ แก่หน่วยบริหารจัดการทุน (PMU) จำนวน 9 แห่ง และงบประมาณสนับสนุนงานมูลฐาน (Fundamental Fund) เพื่อเสริมสร้างศักยภาพหน่วยงานตามพันธกิจการพัฒนาประเทศ จำนวน 188 หน่วยงาน ซึ่งรวมถึงกรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม
นอกจากงบประมาณสนับสนุนงานมูลฐานแล้ว กรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม สามารถเสนอของบประมาณเชิงกลยุทธ์ เพื่อทำวิจัยเชิงประเด็นตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ หรือประเด็นที่เชื่อมโยงกับแผนด้าน ววน. ของประเทศ รวมถึงงบประมาณสนับสนุนการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ และงบประมาณสนับสนุนโครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาความสามารถทางเทคโนโลยีด้านความมั่นคงของไทย ให้สามารถพึ่งพาตนเองในอุตสาหกรรมด้านการป้องกันประเทศและการรักษาความมั่นคงภายใน ลดการนำเข้าและส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการส่งออกอุปกรณ์ทางการทหารที่ผลิตภายในประเทศต่อไป