ภาคการศึกษาแรกของประเทศไทยสิ้นสุดในช่วงเดือนตุลาคม และจะเริ่มเรียนภาคเรียนที่สองช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน สำหรับเด็กๆ แล้วการปิดเทอมคือสวรรค์ที่เด็กๆ จะได้เพลิดเพลินกับกิจกรรมทั้งในร่มและกลางแจ้ง และไม่ต้องสงสัยเลยว่าในยุคดิจิทัลเช่นนี้ งานอดิเรกสุดโปรดของเด็กๆ ก็คือการเล่นสมาร์ตโฟน และติดอยู่หน้าจอเกือบตลอดเวลา เชื่อมต่อโซเชียลเน็ตเวิร์ก ดูสื่อต่างๆ บน YouTube และเล่นเกมออนไลน์
แต่สำหรับผู้ปกครองแล้วสถานการณ์นั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง พ่อแม่ส่วนใหญ่อยากให้ลูกไปโรงเรียนทุกวัน เพราะในช่วงปิดเทอม พ่อแม่ต้องใช้เวลาดูแลบุตรหลานเพิ่มขึ้น หรือหาคนมาช่วยดูแลเพราะพ่อแม่ต้องทำงาน ผู้ปกครองต้องวางแผนกิจกรรมเพื่อเด็กๆ เพิ่มเติม รวมถึงพาครอบครัวท่องเที่ยว เพื่อไม่ให้เด็กๆ เบื่อการอยู่ในบ้านและเริ่มอาละวาดงอแง ผู้ปกครองจำนวนมากทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ยังใช้วิธีเดิม ๆ คือยื่นสมาร์ตโฟนให้เด็กๆ อยู่กับหน้าจอเพื่อต่อเวลาความสงบเงียบที่บ้านสักสองสามนาที หรือระหว่างการเดินทางอันยาวนาน
ทั้งนี้ การดูแลเด็กๆ ให้ปลอดภัยทางออนไลน์ถือเป็นประเด็นสำคัญสำหรับผู้ปกครอง จากการสำรวจเด็กไทยและความเสี่ยงทางออนไลน์ที่จัดทำโดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม 2565 พบว่าเด็กไทยอายุ 9 – 18 ปีจำนวน 81% มีแท็บเล็ตหรือสมาร์ตโฟน เด็กจำนวน 85% ใช้โซเชียลมีเดียเป็นประจำทุกวันหรือเกือบทุกวัน และเด็ก 75% เล่นเกมทางอินเทอร์เน็ต
ผลการสำรวจสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงทางอินเทอร์เน็ตอื่น ๆ ได้แก่
- 54% ดูสื่อลามก
- 36% เคยจีบกันทางออนไลน์
- 26% เคยเปิดวิดีโอคอลทางเพศ
- 26% ถูกรังแกทางออนไลน์
- 12% ถูกล่อลวงทางออนไลน์ (กรูมมิ่ง)
- 11% ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
- 11% เคยเข้าเว็บไซต์ที่ผิดกฎหมายหรือเป็นอันตราย
- 7% เล่นการพนันออนไลน์
ดังนั้น การสอดส่องดูแลและสร้างความตระหนักรู้ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้กับเด็ก ๆ ถือเป็นความรับผิดชอบอย่างสูงของผู้ปกครอง เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมทางดิจิทัลที่ดีของบุตรหลานและดูแลเด็ก ๆ ให้ปลอดภัยจากภัยคุกคามออนไลน์
นางสาวเบญจมาศ จูฑาพิพัฒน์ ผู้จัดการประจำประเทศไทยของแคสเปอร์สกี้ กล่าวว่า “การวิจัยของแคสเปอร์สกี้นั้นชัดเจนว่าทุกคนมีความเสี่ยงต่อการหลอกลวงและภัยคุกคามออนไลน์ ผู้ก่อภัยคุกคามไม่สนใจว่าคุณจะอายุเท่าไร หรือเป็นใครมาจากไหน ทุกคนคือเหยื่อในเกม วิธีเดียวที่จะหยุดยั้งการตกเป็นเหยื่อภัยออนไลน์ได้คือ การให้ความรู้การศึกษาที่ดีขึ้นที่มากยิ่งขึ้น เพื่อให้คนทุกวัยรู้จักสังเกตและหลีกเลี่ยงกลโกงการหลอกลวงที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้”
แคสเปอร์สกี้ขอแนะนำเคล็ดลับเพื่อสร้างความสงบสุขในครอบครัวช่วงปิดเทอม และช่วยให้เด็กๆ ลดการพึ่งพาหน้าจอสมาร์ตโฟนเพื่อความบันเทิงและลดความเสี่ยงออนไลน์ ดังนี้
1.กำหนดขีดจำกัด – สร้างกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับการใช้เวลาอยู่หน้าจอและปฏิบัติตามกฎเหล่านั้น เช่น จำกัดเวลาไว้สองถึงสามชั่วโมงต่อวัน
- ส่งเสริมกิจกรรมทางเลือก – แนะนำให้เด็ก ๆ รู้จักกับกิจกรรมออฟไลน์อื่น ๆ มากมายที่สามารถสร้างความสนุกสนานเพลิดเพลินได้ ส่งเสริมงานอดิเรก เช่น อ่านหนังสือ วาดรูป เล่นเครื่องดนตรี หรือทำกิจกรรมออกกำลังกาย เช่น กีฬาหรือเกมกลางแจ้ง
- ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง – แสดงให้บุตรหลานเห็นว่า ผู้ปกครองก็ยินดีที่จะแยกตัวออกจากหน้าจอเช่นกัน สร้างเวลาคุณภาพร่วมกันในครอบครัวโดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใดๆ เช่น เล่นเกม หรือไปเที่ยวสวนสาธารณะ
- สร้างโซนปลอดเทคโนโลยี – กำหนดให้บางพื้นที่ในบ้านของคุณ เช่น ห้องนอนหรือห้องรับประทานอาหาร เป็นโซนปลอดเทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยสร้างขอบเขตที่ดีและส่งเสริมการสื่อสารระหว่างกันในครอบครัว
- จัดหาทางเลือกอื่นเพิ่มเติม – เสนอแหล่งความบันเทิงทางเลือกอื่น ๆ เช่น เกมกระดาน เกมปริศนา อุปกรณ์ศิลปะและงานฝีมือ หรือหนังสือที่สอดคล้องกับความสนใจของบุตรหลานของคุณ
- มีส่วนร่วมในกิจกรรมร่วมกัน – การเข้าร่วมกิจกรรมที่ลูกชื่นชอบจะช่วยกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัว และเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้สัมผัสกับความสุขที่ไม่ใช่ดิจิทัล
- ส่งเสริมการเล่นกลางแจ้ง – ส่งเสริมให้บุตรหลานใช้เวลานอกบ้าน เช่น ขี่จักรยาน เล่นในสวนสาธารณะ หรือร่วมทีมแข่งขันกีฬา
ทั้งนี้โปรดจำไว้ว่า สิ่งสำคัญคือการสื่อสารกับบุตรหลานถึงเหตุผลในการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านี้ และให้เด็กๆ ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ ผู้ปกครองควรอดทนและให้กำลังใจเด็กๆ ในการเปลี่ยนแปลงนี้
“ตอนนี้เราอยู่ในสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล เด็ก ๆ คืออนาคตของเรา และยังมีอีกหลายสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องทำทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน เพื่อสอนเด็กๆ ถึงวิธีการออนไลน์อย่างปลอดภัย ถึงแม้ว่าเด็กๆ มักจะเชื่อว่าตนนั้นมีความรู้และทักษะเพียงพอในการป้องกันตัวเอง แต่แท้จริงแล้ว เด็กและเยาวชนก็ยังคงตกเป็นเหยื่อของกลโกงฟิชชิงที่ง่ายที่สุด และเนื่องจากข้อมูลของผู้ใช้ในโลกออนไลน์มีมากขึ้น ภัยคุกคามจึงมีความซับซ้อนมากขึ้นเช่นกัน” นางสาวเบญจมาศกล่าวเสริม
ท่านสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องป้องกันตนเองทางออนไลน์ทั้งเด็กและผู้ใหญ่จากภัยคุกคามความปลอดภัยทางไซเบอร์ โปรดเข้าเว็บไซต์ Kaspersky Safe Kids
https://www.kaspersky.co.uk/safe-kids
รายงานฉบับเต็มของแคสเปอร์สกี้เรื่อง Overconfident and over exposed: Are Children Safe Online? โปรดเข้าที่ลิงก์นี้
https://media.kasperskydaily.com/wp-content/uploads/sites/86/2023/02/21115456/Kaspersky-State-of-Children-Online-Report-15-02.pdf
ที่มา: พิตอน คอมมิวนิเคชั่น