เมื่อคุณซื้อโทรศัพท์เครื่องใหม่ คุณจะรีบหาซื้อเคสป้องกันทันที เพื่อป้องกันไม่ให้โทรศัพท์มีรอยหรือแตกหักแม้จะตกหล่น แล้วคุณคิดอย่างไรกับการติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยเพิ่มเติมนอกเหนือจากแอนตี้ไวรัส เพื่อปกป้องข้อมูลทั้งหมดที่คุณจะจัดเก็บไว้ในโทรศัพท์เครื่องใหม่นี้
แคสเปอร์สกี้ (Kaspersky) แนะเหตุผลสำคัญ 3 ประการว่าทำไมจึงจำเป็นต้องปกป้องโมบายดีไวซ์ด้วยซอฟต์แวร์
- เพราะมีเงินอยู่ในสมาร์ตโฟนของคุณ
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับการขนานนามว่าเป็นตลาดโมบายวอลเล็ต หรือกระเป๋าเงินออนไลน์ ที่เติบโตเร็วที่สุดหลังจากเหตุโรคระบาดที่ทำให้เกิดการยอมรับธนาคารออนไลน์และการใช้กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาคอย่างเฟื่องฟู
ในปีที่แล้ว การชำระเงินผ่านโมบายดีไวซ์ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยบริการเงินออนไลน์ทั้ง 86 บริการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และคาดการณ์ว่าจะมีสตาร์ตอัพกลุ่มยูนิคอร์นเพิ่มมากขึ้น และกระแสกระปุกออมสินดิจิทัลมากขึ้นเช่นกัน
การวิจัยของแคสเปอร์สกี้เรื่องการจ่ายเงินดิจิทัล หรือ Digital Payments ระบุว่าสมาร์ตโฟนแอนดรอยด์เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์มากที่สุดในภูมิภาคนี้
ผู้บริโภคส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้ใช้โทรศัพท์แอนดรอยด์ ผู้ใช้บริการการชำระเงินดิจิทัลในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์จำนวนมากกว่าสี่ในห้า (82%) ระบุว่าใช้อุปกรณ์แอนดรอยด์ในการทำธุรกรรม ขณะที่มาเลเซียมี 76% ประเทศไทย 73% เวียดนาม 67% และสิงคโปร์ 54%
ในปี 2022 แคสเปอร์สกี้ได้บล็อกโมบายแบ้งกิ้งโทรจันซึ่งเกือบทำให้ผู้ใช้ถูกโจมตีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งหมด 1,083 รายการ และบล็อกโมบายมัลแวร์ได้ 207,506 ครั้ง
นายเอเดรียน เฮีย กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แคสเปอร์สกี้ กล่าวว่า “หากเปรียบเทียบกับภัยคุกคามอย่างฟิชชิงและแรนซัมแวร์ การตรวจพบโมบายแบ้งกิ้งโทรจันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีจำนวนค่อนข้างต่ำ ส่วนใหญ่เป็นเพราะการตัดสินใจใช้โซลูชันความปลอดภัยบนโมบายดีไวซ์ซึ่งเป็นการป้องกันพื้นฐานนั้น ยังเพิ่งเริ่มพิจารณาดำเนินการ ตอนนี้บัญชีธนาคาร เงิน กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการลงทุนของพวกเราล้วนอยู่ในสมาร์ตโฟน ไม่ว่าจะเป็นแอนดรอยด์หรือ iOS จึงถึงเวลาปกป้องดีไวซ์ด้วยโซลูชันการรักษาความปลอดภัยที่แข็งแกร่งให้พ้นจากอาชญากรไซเบอร์ที่มีแรงจูงใจทางการเงิน”
- เพราะคุณรับส่งอีเมลงานผ่านสมาร์ตโฟน
เป็นที่ทราบกันดีว่า โมบายดีไวซ์นั้นเป็นความเสี่ยงทางธุรกิจอย่างหนึ่ง นอกเหนือจากธนาคารบนมือถือแล้ว สมาร์ตโฟนก็ถูกใช้เพื่อรับส่งอีเมลและข้อมูลต่างๆ ของบริษัทอีกด้วย
ข้อเท็จจริงเรื่องอันตรายของ BYOD (Bring Your Own Device) ก็คือสมาร์ตโฟน 96% ที่สามารถเชื่อมต่อและเข้าถึงเครือข่ายขององค์กรได้นั้น เป็นดีไวซ์ที่ไว้สำหรับการใช้งานส่วนตัว จึงทำให้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา นักวิจัยของแคสเปอร์สกี้พบการโจมตีของ Advanced Persistent Threats (APTs) ที่เข้าสู่ระบบของบริษัทธุรกิจผ่านโมบายดีไวซ์ส่วนตัวที่ติดมัลแวร์
APT ของโมบายมัลแวร์มือถืออย่าง Pegasus และ Chrysor เป็นสปายแวร์ที่ปรับใช้งานผ่านช่องโหว่ของแอนดรอยด์และ iOS ที่ติดตั้งบนสมาร์ตโฟนของเหยื่อ ในปี 2022 แคสเปอร์สกี้ตรวจพบการติดตั้งโทรจันแรนซัมแวร์บนโมบายดีไวซ์ 10,543 รายทั่วโลก
นายเอเดรียนกล่าวว่า “การไม่ใช้โซลูชันด้านความปลอดภัยบนโมบายดีไวซ์ส่วนบุคคลอาจส่งผลกระทบต่อทิศทางการรักษาความปลอดภัยด้านไอทีโดยรวมของบริษัท การใช้ BYOD นั้นสะดวกสบาย แต่องค์กรต่างๆ ก็ควรกระตุ้นและสนับสนุนให้พนักงานติดตั้งการป้องกันบนสมาร์ตโฟนที่เชื่อมต่อบนเครือข่ายที่สำคัญขององค์กร”
- เพราะโมบายดีไวซ์มีแอปโซเชียลทั้งหมดของคุณ
การสำรวจพบว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในเอเชียแปซิฟิกจำนวนหนึ่งในสี่ ตกเป็นเหยื่อการฉ้อโกงข้อมูลประจำตัวส่วนบุคคล แต่ผู้ใช้กลับไม่ค่อยสนใจเท่าที่ควร หลายคนไม่กังวลเรื่องการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลตัวตนจากการโจรกรรมและการฉ้อโกงทางออนไลน์
การฉ้อโกงส่วนใหญ่เกิดขึ้นบนโซเชียลมีเดีย ส่วนใหญ่เข้าถึงได้ผ่านโมบายดีไวซ์
การศึกษาเพิ่มเติมโดยแคสเปอร์สกี้ยังพบว่า ผู้ใช้โซเชียลมีเดียเกือบหนึ่งในสี่ (38%) ระบุว่ารู้จักบุคคลที่เคยถูกบุกรุกข้อมูลในขณะที่ใช้โซเชียลมีเดีย ขณะที่ผู้ใช้ที่มีอายุระหว่าง 18-34 ปี ถูกบุกรุกข้อมูลเกินครึ่ง (52%) นอกจากนี้ผู้ใช้ทั่วโลก 7% ระบุว่าตนเองเคยตกเป็นเหยื่อของการฉ้อโกงผ่านโซเชียลมีเดีย
รายงานฟิชชิงปี 2022 ของแคสเปอร์สกี้ยังเปิดเผยด้วยว่าโซลูชันโมบายของแคสเปอร์สกี้ป้องกันการคลิกลิงก์ฟิชชิงในแอปข้อความมากถึง 360,185 ครั้ง ซึ่งลิงก์ดังกล่าว 82.71% มาจากแอป WhatsApp, 14.12% จากแอป Telegram และอีก 3.17% จากแอป Viber
นายเอเดรียนกล่าวเสริมว่า “โมบายดีไวซ์เป็นขุมสมบัติของโซเชียลมีเดียและแอปส่งข้อความที่เราใช้งานทุกวัน ในแต่ละแอป เรามีรูปภาพ บทสนทนา และข้อมูลส่วนตัวที่เราต่างอยากเก็บให้พ้นมือมิจฉาชีพ ทางฝั่งอาชญากรไซเบอร์เองก็แฝงตัวอยู่ในแพลตฟอร์มเหล่านั้นเช่นกัน เพื่อรอให้เหยื่อตกหลุมพราง การป้องกันความปลอดภัยเป็นสิ่งจำเป็นเมื่อเราต้องการเพลิดเพลินกับการใช้สมาร์ตโฟน พร้อมกับรักษาตัวตนทางดิจิทัลและชื่อเสียงของเราในเวลาเดียวกัน”
ที่มา: พิตอน คอมมิวนิเคชั่น