ปัจจุบันเทคโนโลยี AI ได้เข้ามามีบทบาทมากมายทั้งในโลกธุรกิจ การทำงาน ตลอดจนการใช้ชีวิตประจำวันของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยี Generative AI (Gen-AI) ซึ่งเป็น AI ในยุคใหม่ที่ถูกออกแบบมาโดยเฉพาะให้ มีความสามารถในการ “สร้างใหม่” จากชุดข้อมูลที่มีอยู่ ด้วยอัลกอริทึมแบบ Generative Model โดยผลสำรวจการ์ทเนอร์ เผยผู้บริหารกว่า 70% บอกว่าองค์กรของตนอยู่ในช่วงของการสำรวจและศึกษาเทคโนโลยี Generative AI และมีการประเมินการจัดสรรงงบประมาณบางส่วนให้กับโซลูชัน Generative AI พร้อมตั้งคำถามว่าควรจัดสรรงบประมาณเท่าใดถึงจะคุ้มค่าต่อการลงทุน ซึ่งหนึ่งในเทคโนโลยี Generative AI ที่กำลังร้อนแรงและโด่งดังที่สุดขณะนี้คงหนีไม่พ้น ChatGPT
หลังจาก ChatGPT เปิดตัวเมื่อปลายปี 2022 ทำให้ทั่วโลกได้เข้าใจถึงความสามารถของปัญญาประดิษฐ์ทันที และเกิดแรงกระเพื่อมมากมายทั้งในวงการเทคโนโลยีและสังคมถึงการปรับตัวอยู่ร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI โดย ChatGPT ที่ถูกพัฒนาโดย OpenAI องค์กรวิจัยและพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ ก่อนที่จะเปิดให้บุคคลทั่วไปใช้ได้เมื่อ 30 พ.ย. 2022 ที่ผ่านมาจนประสบความสำเร็จ ด้วยความสามารถในการตอบคำถามต่างๆ ได้น่าเชื่อถือในเวลาเพียงไม่กี่วินาที สรุปข้อมูลยาว ๆ มาให้อ่านได้ภายในไม่กี่ย่อหน้า หรือแม้กระทั่งเป็นผู้ช่วยวางแผนในเชิงธุรกิจ ตลอดจนถึงการช่วยทำงานให้กับโปรแกรมเมอร์ที่ให้ ChatGPT ช่วยเขียนโค้ดโปรแกรมบางส่วน และยังสามารถถาม-ตอบเป็นภาษาไทยได้อีกด้วย
ล่าสุด ทาง เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) หนึ่งในบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลกที่มีความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันแบบครบวงจร ได้ให้ความคิดเห็นต่อข้อควรระวังในการใช้เครื่องมือปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI อย่าง ChatGPT นั่นคือเรื่องของความแม่นยำของข้อมูล ที่ไม่ว่า ChatGPT จะสามารถเขียนข้อมูลได้อย่างน่าเชื่อถือเพียงใด แต่ถ้าเจาะลึกลงไปในความถูกต้องและการอ้างอิงข้อมูลจากต้นทางแล้ว ยังพบว่าข้อมูลที่ระบบ ChatGPT นำมาใช้นั้นยังมีความไม่แม่นยำอยู่บ้าง
คุณกิตติภูมิ เลิศนิติพงศ์ ผู้อำนวยการฝ่าย CIO Advisory บริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ได้แสดงความคิดเห็นต่อการใช้ ChatGPT ไว้อย่างน่าสนใจว่า “ถึงแม้ว่า ChatGPT จะเป็นเสมือนเพื่อนผู้รอบรู้ สามารถตอบคำถามที่สงสัยได้เกือบทุกข้อ แต่ก็ยังคงมีความน่ากังวลเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ของเนื้อหาและคำตอบที่ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI กลุ่มนี้แสดงผลออกมา ว่าแท้จริงแล้วเป็นการจับแพะชนแกะของข้อมูล หรือเป็นการนำเอาผลงานหรือข้อมูลต่างๆ ที่มีเจ้าของผสมรวมออกมา ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ข้อมูลที่นำมาใช้ก็มีความเสี่ยงสูงที่อาจส่งผลต่อการถูกฟ้องร้องกันในภายหลังได้ ดังนั้น ในความคิดเห็น ChatGPT จึงเป็นเพียงหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยเปิดโอกาสความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการทำงาน และทำให้งานสำเร็จได้เร็วขึ้น มากกว่าที่จะนำเอาสิ่งที่ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI กลุ่มนี้คิดมาเป็นชิ้นงานสำเร็จรูปและนำไปใช้เลยโดยไม่ได้มีการตรวจแก้หรือสืบค้นถึงแหล่งที่มาของข้อมูล”
ทั้งนี้ คุณกิตติภูมิ กล่าวเพิ่มเติมว่า “อีกหนึ่งประเด็นที่น่าคิดคือเรื่องของความปลอดภัยทางไซเบอร์หรือ Cyber Security เพราะปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ประเภทนี้จำเป็นจะต้องนำเอาข้อมูลที่เราป้อนถามกลับไปประมวลผลคำตอบที่เซิร์ฟเวอร์หลัก ซึ่งหมายความว่าหากเรานำข้อมูลภายในองค์กรไปถาม อาทิ การนำเอาตัวเลขทางการเงิน หรือตัวเลขในการทำงานต่าง ๆ ของบริษัทไปให้ ChatGPT, Google Bard หรือ Bing Chat ที่เป็นปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ประเภทเดียวกันมาช่วยประมวลผลนั้น ก็มีความเสี่ยงสูงมากที่ข้อมูลภายในองค์กรจะหลุดออกไปด้วย ยกตัวอย่างกรณีของผู้ผลิตสมาร์ตโฟนยักษ์ใหญ่ระดับโลกรายหนึ่งได้ออกนโยบายสั่งแบนและห้ามพนักงานใช้ ChatGPT และปัญญาประดิษฐ์หรือ AI อื่นๆ เพื่อป้องกันข้อมูลองค์กรรั่วไหล สาเหตุอันเนื่องมาจากมีพนักงานภายในบริษัทอย่างน้อย 3 รายที่ใช้ ChatGPT เพื่อสรุปการประชุม และช่วยปรับปรุงโค้ดโปรแกรมและแก้ไขปัญหาของโค้ด ซึ่งข้อมูลทั้งหมดที่พนักงานป้อนเข้าระบบก็คือความลับของบริษัทนั่นเอง จากกรณีศึกษาดังกล่าวส่งผลให้ผู้พัฒนา OpenAI ได้ตระหนักถึงปัญหาข้อนี้ ในอนาคตจึงเตรียมปล่อยแผนการให้บริการ ChatGPT for Business ที่ยืนยันว่าจะไม่นำข้อมูลของผู้ใช้มาเทรนปัญญาประดิษฐ์หรือ AI เพิ่มเติม และสามารถควบคุมการใช้งานในองค์กรได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพอีกด้วย”
จากมุมมองของ เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) มีความคิดเห็นว่า หากมองการเปลี่ยนผ่านของดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชันที่ผ่านมาจนกระทั่งปัจจุบันของระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI และระบบอัตโนมัติต่าง ๆ รวมไปถึงกระแสข่าวที่ออกมาเป็นระยะต่อเรื่องที่ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI จะเข้ามามาแทนที่การทำงานของมนุษย์นั้น ดูเหมือนว่าจะมีความเป็นไปได้กับงานที่จริง ๆ แล้วอาจไม่เหมาะกับมนุษย์มาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เช่น งานที่ต้องทำซ้ำ ๆ หรืองานที่ยุ่งเกี่ยวกับข้อมูลจำนวนมหาศาลที่ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มีความรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำมากกว่ามนุษย์ตั้งแต่แรก
สุดท้ายแล้วเราคงหยุดความก้าวหน้าของโลกไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นมนุษย์ในยุคต่อไปต้องพัฒนาและปรับเปลี่ยนจากการเรียนคอมพิวเตอร์เพื่อใช้งานไปสู่การเรียนใช้งานระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เพื่อใช้งานสนับสนุนในชีวิตประจำวันแทน และงานที่ยังต้องการมนุษย์อยู่ก็จะเป็นงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับงานที่ต้องใช้ Soft Skill ต่าง ๆ ส่วนใครที่มีทักษะการทำงานที่ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ทำงานแทนได้ ก็จะนำไปสู่การ Re-Skill เพื่อเรียนรู้ใหม่เพื่อให้ทำงานได้ต่อไป
ที่มา: เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย)