เลือกตั้ง 66 TikTok มาแรง ครองยอด Engagement สูงสุด ตามมาด้วยเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์

โซเชียลมีเดียเป็นแพลตฟอร์มที่มีบทบาทไม่น้อยไปกว่าการลงพื้นที่หาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2566 ผลการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ในสังคมออนไลน์โดยบริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด พบว่า ติ๊กต๊อก (TikTok) เป็นสื่อที่มียอดการมีส่วนร่วม (Engagement) สูงสุดบนโซเชียลมีเดียถึง 63% ตามมาด้วยเฟซบุ๊ก 18% และทวิตเตอร์ 15%

ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 คือบทพิสูจน์ว่า ณ วันนี้ บริบททางสังคมและการเมืองไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว เรามิอาจมองข้ามเสียงของสังคม (Social Listening) บนโลกออนไลน์ได้อีกต่อไป

บริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด ได้เก็บข้อมูลและวิเคราะห์จากการฟังเสียงประชาชนในสังคมออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์ม DXT360 โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 16 เมษายน – 15 พฤษภาคม 2566 พบว่า มีการกล่าวถึง (Mention) และ การมีส่วนร่วม (Engagement) ในเรื่องการเลือกตั้งสูงถึง 297,603,177 ครั้ง แบ่งเป็นการกล่าวถึงและมีส่วนร่วมผ่านแพลตฟอร์ม TikTok จำนวน 63%, Facebook 18%, Twitter 15%, Instagram 3% และ YouTube 1%

TikTok มาแรง เป็นช่องทางที่มียอด Engagement สูงสุด

  • TikTok : มีการกล่าวถึงและการมีส่วนร่วม ( Mention & Engagement) หรือ Buzz สูงสุดถึง 186,393,775 ครั้ง คิดเป็น 63% จากทั้งหมด ถึงแม้ว่าใน TikTok จะมีจำนวนการกล่าวถึง (Mention) น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มอื่น แต่บน Tiktok สร้าง Engagement จากการมีส่วนร่วมได้สูงมาก จากการกด Like, กดแชร์คลิปวิดีโอ รวมถึงการแสดงความคิดเห็น (Comments) ต่างๆ โดยในการเลือกตั้งครั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า คลิปวิดีโอสั้น บน TikTok มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการเป็นพื้นที่โปรโมทประชาสัมพันธ์ให้แก่พรรคการเมืองในช่วงหาเสียงเลือกตั้งในช่วงที่ผ่านมา ทั้งกระแสในด้านบวก และ ลบ
  • Facebook : ในช่องทาง Facebook กวาด Buzz ในลำดับรองลงมาอยู่ที่ 54,729,106 ครั้ง คิดเป็น 18% เนื่องจากการที่ผู้คนเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นและกด react กันอย่างล้นหลาม และต้องการติดตามช่องทางที่เป็นแหล่งรวมสื่อสำนักข่าวต่าง ๆ โดยพบว่า เพจ ‘เรื่องเล่าเช้านี้’ และ เพจ ‘สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว’ ได้รับ Engagement รวมกันไปกว่า 8 ล้านครั้งตลอดเดือนที่ผ่านมา สำหรับประเด็นเลือกตั้งครั้งนี้
  • Twitter : ได้รับ Buzz อยู่ที่ลำดับ 3 จำนวน 45,026,759 ครั้ง คิดเป็น 15% ซึ่งน้อยกว่า TikTok และ Facebook แต่ในส่วนของการกล่าวถึงช่องทาง Twitter นั้นได้รับสัดส่วนมากที่สุดจากช่องทางทั้งหมด เนื่องจากผู้ใช้งาน Twitter มักแสดงความคิดเห็นโดยการโพสต์ทวีตซึ่งสะดวกรวดเร็วกว่าช่องทางอื่น ๆ เหมาะสำหรับผู้ใช้งานที่ต้องการติดตามข่าวสารและรายงานสถานการณ์สด ในประเด็นการเลือกตั้ง 66 ที่เป็นกระแสที่มีความรวดเร็วและต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง
  • Instagram : ได้รับ Buzz จำนวน 7,468,309 ครั้ง คิดเป็น 3% เนื่องจากคนส่วนใหญ่ให้ความสนใจในส่วนของ การปราศรัย หรือการดีเบตผ่านเวทีต่าง ๆ ซึ่งเหมาะสมในการรับชมผ่านวิดีโอ ซึ่งไม่ค่อยตอบโจทย์สำหรับช่องทาง Instagram ที่เด่นในด้านสื่อที่เป็นรูปภาพ
  • YouTube : ในช่องทาง YouTube ที่ถือได้ว่าเป็นช่องหลักในส่วนของสื่อวิดีโอ แต่ได้รับ Buzz น้อยที่สุดอยู่ที่ 3,985,168 คิดเป็น 1% เมื่อเทียบกับช่องทางอื่น ๆ เนื่องจาก Facebook และ TikTok ได้เริ่มมีการขยายตัวในด้านสื่อวิดีโอมากขึ้น เช่น Live คลิปสั้น Highlight จากการสัมภาษณ์หรือเวทีดีเบต ซึ่งเป็นสื่อวิดีโอที่มีระยะเวลาที่ค่อนข้างสั้น ทำให้เข้าถึงง่าย แตกต่างกับ YouTube ที่ต้องการระยะเวลาในการรับชมที่นานกว่า

ก้าวไกลกระแสโซเชียลดีทั้งคนทั้งพรรค

การเลือกตั้ง 66 ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากประชาชนทั่วประเทศ โดยเฉพาะกระแสบนโซเชียลที่การกล่าวถึงการเลือกตั้ง 66 พรรคการเมือง นโยบาย รวมถึงแคนดิเดต สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคการเมืองที่ถูกกล่าวถึงและได้รับความสนใจมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่

  1. พรรคก้าวไกล
  2. พรรคเพื่อไทย
  3. พรรครวมไทยสร้างชาติ
  4. พรรคภูมิใจไทย
  5. พรรคพลังประชารัฐ

นอกจากพรรคการเมืองแล้ว แคนดิเดตที่จะก้าวขึ้นเป็นนายกคนที่ 30 ของประเทศไทยก็ได้รับความสนใจไม่แพ้กัน โดยชื่อที่ถูกกล่าวถึงและได้รับความสนใจมากที่สุดบนโซเชียล ได้แก่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ตามด้วย ประยุทธ์ จันทร์โอชา, เศรษฐา ทวีสิน, แพทองธาร ชินวัตร และ ประวิตร วงษ์สุวรรณ ตามลำดับ

Rank Candidate Buzz % Buzz
1 พิธา 49,020,289 63%
2 ประยุทธ์ 18,706,257 24%
3 เศรษฐา 4,945,940 6%
4 อุ๊งอิ๊ง 4,548,966 6%
5 ประวิตร 1,016,533 1%

10 อันดับแฮชแท็กที่มีการกล่าวถึงมากที่สุดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 66

จากการวิเคราะห์ข้อมูล พบว่าแฮชแท็กที่มีการกล่าวถึงมากที่สุดคือ #เลือกตั้ง66 โดยมีจำนวน Buzz 209,639,785 ครั้ง มีอัตราการเติบโต (Growth rate) จาก 30 วันที่ผ่านมา คิดเป็น 513.44% รองลงมาเป็น #พรรคก้าวไกล มีจำนวน Buzz 111,426,652 ครั้ง มีอัตราการเติบโต คิดเป็น 21,927.35% และ #เลือกตั้ง2566 มีจำนวน Buzz 86,136,040 ครั้ง มีอัตราการเติบโต 5736.04%

แฮชแท็ก #กกตมีไว้ทำไม-ต้องติดคุก ทำให้ยอดกล่าวถึง กกต. พุ่งทะลุ 22,996.08% ช่วงเลือกตั้งล่วงหน้า

ทั้งนี้ พบว่า Hashtag กกต. จาก 30 วันที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตการกล่าวถึงสูงถึง 22,996.08% โดยในช่วงการเลือกตั้ง66 ประชาชนให้ความสนใจการทำงานของ กกต. เป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นหน่วยงานสำคัญในการนับคะแนนและประกาศผลการเลือกตั้งที่มาจากเสียงความหวังของประชาชน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการทำงานของ กกต. อาจเพราะความไม่ชัดเจนในการเลือกตั้งปี 2562 และการเลือกตั้งล่วงหน้าวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 จนเกิดแฮชแท็ก #กกตมีไว้ทำไม และ #กกตต้องติดคุก

กระแส “พิธา” พีคสูงสุดในช่วง 20 – 23  เม.ย. 66

จากการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลตลอด 30 วัน พบนัยยะที่น่าสนใจว่า ในช่วงวันที่ 20-23 เมษายน 2566 ‘พิธา’ ได้รับการกล่าวถึง (Mention) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะวันที่ 22 เมษายน ได้รับการกล่าวถึงสูงที่สุดกว่า 36,821 ครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเด็น ถามไว ตอบไว กับ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคก้าวไกล โดยพิธาได้แสดงไหวพริบการตอบคำถามในรายการคนดังนั่งเคลียร์ ของช่อง 8 ที่มีอาจารย์ยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฎาวงศ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งได้มีการตัดบางช่วงมาลง TikTok เป็นเวลากว่า 3 นาที เป็นการแสดงให้เห็นไหวพริบและความชาญฉลาด ส่งผลให้ประชาชนชื่นชมเป็นอย่างมาก

โดยภาพรวมความคิดเห็นประชาชนกล่าวว่า ตอบคำถามได้ลื่นไหล มีความชัดเจน แสดงให้เห็นถึงจุดยืนของพรรค รวมถึงความสามารถในการตอบคำถามของตัวพิธาเอง

ในขณะเดียวกันในวันที่ 23 เมษายน 2566 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้โพสต์บน Facebook ส่วนตัว ในหัวข้อ ‘9 วาระเปลี่ยนประเทศไทยของรัฐบาลก้าวไกล’ ซึ่งส่งผลให้โพสต์นี้ได้รับ Buzz สูงสุดกว่า 71,220 ครั้ง โดยเนื้อความหลักกล่าวถึง วาระก้าวไกล 9 เปลี่ยน ถ้าพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล จะใช้วาระ 9 เปลี่ยนนี้เป็นเรือธงในการเปลี่ยนประเทศไทยที่สิ้นหวัง เป็นประเทศที่มีอนาคต พร้อมกับประกาศจุดยืนหลักในการร่วมรัฐบาลของพรรคก้าวไกล ง่าย ๆ สั้น ๆ ว่า “มีลุง ไม่มีเรา” และ “มีเรา ไม่มีลุง”

ปั่นวาทะ “ช้างป่วย” ยิ่งหนุนกระแส “ก้าวไกล”

9 พฤษภาคม ‘พิธา’ ตกเป็นที่สนใจจากประเด็นนโยบายเงินบำนาญ ที่กลับมาเป็นประเด็นร้อนแรงอีกครั้ง เพราะถูกขั้วฝ่ายตรงข้ามขุดวาทะ ‘ช้างป่วย’ ปั่นกระแสข่าวปลอมโจมตีพรรคก้าวไกล แต่กระแสก็ถูกตีกลับหลังตัวแทนพรรคก้าวไกลออกแถลงการณ์และชี้แจงข้อเท็จจริงว่าไม่มีนโยบายตัดงบบำนาญข้าราชการแต่อย่างใด

หลังช่วงวันหาเสียงครั้งสุดท้ายวันที่ 13 พฤษภาคมจะเห็นได้ว่า ยอดการกล่าวถึงแคนดิเดตของทุกพรรคลดลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากตามกฏระเบียบ กกต. ที่ห้ามผู้สมัคร ส.ส. และพรรคการเมืองหาเสียงตั้งแต่หกโมงเย็น วันที่ 13 พฤษภาคม จนถึงเวลาปิดหีบเลือกตั้งของ วันที่ 14 พฤษภาคม

อย่างไรก็ตาม ช่วงวันที่ 14 – 15 พฤษภาคม การกล่าวถึง ‘พิธา’ กลับมาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากออกมาประกาศจัดตั้งรัฐบาล ร่วมกับขั้วพรรคฝ่ายค้านเดิม ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย และพรรคเป็นธรรม ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้คนส่วนใหญ่รอคอยและติดตามมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้โพสต์ที่เกี่ยวข้องในประเด็นนี้ได้รับความสนใจ (Engagement) สูงจากทั้งในส่วนของยอด Reaction (เช่นการกดไลก์) ยอดแชร์ และคอมเมนต์ที่เข้ามาร่วมแสดงความรู้สึกและความคิดเห็น

ชาวเน็ตติดตามผลเลือกตั้ง! ดันยอดชม+เอ็นเกจเม้นท์ เพจ “เรื่องเล่าเช้านี้” พุ่งกระโดด

โพสต์ไลฟ์จากรายการข่าว ‘เรื่องเล่าเช้านี้’ รายงานผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ พรรคก้าวไกลคว้าชัยชนะ วันแรกหลังวันเลือกตั้งครั้งใหญ่ของคนไทยในวันที่ 14 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ผ่านช่องทาง Facebook ได้รับ Engagement หลักแสนครั้ง โดยมีผู้เข้าชมกว่า 3 ล้านครั้ง ภายในเวลาไม่ถึง 24 ชม. โดยประชาชนส่วนใหญ่ร่วมแสดงความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน คือดีใจและยินดีกับผลการเลือกตั้งที่จะได้คนรุ่นใหม่ที่มีอุดมการณ์มาบริหารประเทศ และอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของประเทศให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น

สาเหตุที่โพสต์ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก นอกจากด้วยตัวประเด็นเลือกตั้งเองแล้ว ทั้งความนิยมของรายการ ผู้ดำเนินรายการ สไตล์การเล่าข่าว และการโพสต์วิดีโอที่เป็นไลฟ์รายการข่าว ทำให้ผู้คนเข้ามาแสดงความคิดเห็นทั้งแบบสด ๆ และหลังจากการโพสต์ไลฟ์รายการ รวมถึงคนไทยจำนวนมากยังคงนิยมใช้โซเชียลมีเดียผ่านช่องทาง Facebook ส่งผลให้ Engagement พุ่งสูง

“พิธา” ฟีเวอร์ ครองพื้นที่โซเชียลทุกช่องทาง โดยเฉพาะบน Twitter ก้าวไกล ไม่เคยแผ่ว

โพสต์จาก Twitter ของพิธา (Pita Limjaroenrat) โพสต์ขอบคุณหลังจากชนะการเลือกตั้ง 66 พร้อมแจ้งสถานที่และเวลาสำหรับขบวนแห่เพื่อพบปะประชาชน โดยโพสต์ดังกล่าวได้รับ Engagement หลักแสนครั้ง ซึ่งผู้ใช้งาน Twitter ร่วมแสดงความยินดี พร้อมฝากความหวังและอนาคตของประเทศไทยไว้กับ ‘พิธา’ เป็นจำนวนมาก

จากการรวบรวมและวิเคราะห์หา Insight ในประเด็นการเลือกตั้ง เห็นได้ว่ากระแสความตื่นตัวของประชาชนคนไทยที่มีต่อการเลือกตั้งครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการเปลี่ยนแปลงของคนส่วนใหญ่ มีการแสดงความคิดเห็น และการแสดงออกถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนบนสังคมออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์มและช่องทางต่าง ๆ จนเกิดเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจว่า เสียงบนโซเชียลที่มีต่อความนิยมชื่นชอบในตัว ‘พิธา’ และ พรรคก้าวไกล ได้แปรเปลี่ยนเป็นคะแนนเสียงจริงให้แก่พรรคก้าวไกลจนคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้

ข้อมูลทั้งหมดที่นำมาวิเคราะห์หา Insight ในประเด็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย ครั้งที่ 27 หรือการเลือกตั้ง 66 รวบรวมมาจาก DXT360 แพลตฟอร์มติดตามข่าวสารและเสียงของผู้บริโภค (Social Listening) ของ บริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด (dataxet:infoquest) โดยเก็บข้อมูลระหว่าง 16 เม.. – 15 .. 2566

ที่มา: ดาต้าเซ็ต