“อีสต์ เวนเจอร์ส” เปิดตัวดัชนีวัดศักยภาพการแข่งขันทางดิจิทัลประจำปี 2566

ศักยภาพในการแข่งขันทางดิจิทัลมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น เอื้อต่อการเป็นประเทศดิจิทัลที่เสมอภาค

  • อีสต์ เวนเจอร์ส ร่วมกับคาตาดาต้า อินไซต์ เซ็นเตอร์ และพีดับบลิวซี อินโดนีเซีย ได้เปิดตัวดัชนีวัดศักยภาพการแข่งขันทางดิจิทัล  ประจำปี 2566 ภายใต้ธีม “ประเทศดิจิทัลที่เสมอภาค”  รายงานประจำปีนี้วัดประเมินศักยภาพการแข่งขันทางดิจิทัลใน 38 จังหวัดและ 157 เมือง/เขตในอินโดนีเซีย โดยเป็นฉบับที่สี่ของรายงานดังกล่าวนี้นับตั้งแต่เผยแพร่ฉบับแรกในปี 2563
  • ตั้งแต่ฉบับแรกของรายงานนี้เป็นต้นมา ศักยภาพการแข่งขันทางดิจิทัลในภูมิภาคต่าง ๆ ในอินโดนีเซียแสดงแนวโน้มเชิงบวกอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 ช่วงห่างหรือช่องว่างระหว่างคะแนนรายจังหวัดที่สูงที่สุดกับต่ำที่สุดได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากการแบ่งแยกจังหวัดระหว่างปาปัวกับปาปัวตะวันตก
  • รายงานวิจัยฉบับนี้ยังประกอบด้วยผลการสำรวจบริษัทดิจิทัล 39 แห่ง การวิเคราะห์ 8 หมวดธุรกิจ และมุมมองจาก 22 บุคคลสำคัญ นอกเหนือจากการวัดศักยภาพการแข่งขันทางดิจิทัลในอินโดนีเซีย

อีสต์ เวนเจอร์ส (East Ventures) บริษัทร่วมลงทุนที่บุกเบิกและไม่เจาะจงอุตสาหกรรม ซึ่งให้การสนับสนุนบริษัทเทคโนโลยีกว่า 300 แห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมกับคาตาดาต้า อินไซต์ เซ็นเตอร์ (Katadata Insight Center) และพีดับบลิวซี อินโดนีเซีย (PwC Indonesia) ได้เผยแพร่รายงานดัชนีวัดศักยภาพการแข่งขันทางดิจิทัล ประจำปี 2566 ในชื่อ East Ventures – Digital Competitiveness Index หรือ EV-DCI 2023 ซึ่งเป็นฉบับที่ 4 นับตั้งแต่ที่เริ่มเผยแพร่ฉบับแรกในปี 2563 รายงาน EV-DCI ประจำปี 2566 นี้นำเสนอการวัดประเมินศักยภาพการแข่งขันทางดิจิทัลของอินโดนีเซียภายใต้ธีม “ประเทศดิจิทัลที่เสมอภาค” (Equitable digital nation)

คุณวิลสัน ชัวเชอ (Willson Cuaca) ผู้ร่วมก่อตั้งและหุ้นส่วนผู้จัดการของอีสต์ เวนเจอร์ส กล่าวว่า “โดยทั่วไปแล้ว การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้มีความเท่าเทียมมากขึ้นในทุกจังหวัด (ยกเว้นจังหวัดใหม่ ๆ) ที่อีสต์ เวนเจอร์ส ได้วัดประเมินมาเป็นเวลา 4 ปีติดต่อกัน สิ่งนี้จะเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของอินโดนีเซียในอนาคต และจะส่งเสริมนวัตกรรมใหม่ ๆ ทั่วทั้งอินโดนีเซีย เราขอแสดงความขอบคุณอย่างสูงสุดต่อรัฐบาลอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นแหล่งของการพัฒนาดิจิทัลที่รวดเร็วและเท่าเทียมภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจโค วิโดโด (Joko Widodo) ตลอดจนรัฐบาลทุกระดับที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ด้วยโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่แข็งแกร่งและเสมอภาค การเติบโตของนวัตกรรมใหม่ ๆ ในทุกอุตสาหกรรมที่ให้ความสำคัญกับทุกกลุ่มคนและยั่งยืน ประกอบกับการสนับสนุนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ตั้งแต่นักลงทุน ผู้ก่อตั้ง สตาร์ตอัป ผู้บริโภค บริษัทเอกชน ไปจนถึงรัฐวิสาหกิจอินโดนีเซีย ขณะนี้เรากำลังเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วและเข้าใกล้มากขึ้นในการบรรลุการเป็นประเทศดิจิทัลที่เสมอภาค”

รายงาน EV-DCI ประจำปี 2566 ให้ข้อมูลเกี่ยวกับศักยภาพการแข่งขันทางดิจิทัลใน 38 จังหวัดและ 157 เมือง/เขตในอินโดนีเซีย ศักยภาพการแข่งขันทางดิจิทัลในภูมิภาคต่าง ๆ ในอินโดนีเซียแสดงแนวโน้มเชิงบวกอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากคะแนน EV-DCI ปี 2566 ที่ 38.5 คะแนน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 35.2 คะแนน (ปี 2565) และ 2 ปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 32.1 คะแนน (ปี 2564)

คุณอาเดค เมดียา โรซา (Adek Media Roza) ผู้อำนวยการของคาตาดาต้า อินไซต์ เซ็นเตอร์ เปิดเผยว่า ศักยภาพการแข่งขันทางดิจิทัลยังเพิ่มขึ้นในจังหวัดอื่น ๆ นอกเหนือจาก 10 อันดับแรกด้วย โดยกล่าวว่า “การเพิ่มขึ้นของค่ามัธยฐาน 4 ปีต่อเนื่องกันแสดงถึงการเพิ่มขึ้นของความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัล โดยเฉพาะในจังหวัดระดับกลางและระดับล่าง”

ค่าช่วงห่างหรือช่องว่างความแตกต่างระหว่างคะแนนรายจังหวัดที่สูงที่สุด (เขตพิเศษเมืองหลวงจาการ์ตา – 76.6 คะแนน) กับที่ต่ำที่สุด (ปาปัวกลาง – 23.3 คะแนน) ในรายงาน EV-DCI ประจำปี 2566 อยู่ที่ 53.2 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 48.3 ในปี 2565 อย่างไรก็ตามการเพิ่มขึ้นของช่วงห่างนี้มิได้เกิดจากความเสมอภาคของการพัฒนาสู่ดิจิทัลที่แย่ลง แต่เกิดจากการแบ่งแยกจังหวัดระหว่างปาปัวกับปาปัวตะวันตก

รายงาน EV-DCI ยังมาพร้อมกับผลการสำรวจบริษัทดิจิทัล 39 แห่ง การวิเคราะห์ 8 หมวดธุรกิจ และมุมมองจาก 22 บุคคลสำคัญ ทั้งผู้กำหนดนโยบายของรัฐบาล เช่น รองประธานาธิบดีสาธารณรัฐอินโดนีเซีย รัฐมนตรีประสานงานกิจการเศรษฐกิจ รัฐมนตรีประสานงานกิจการและการลงทุนทางทะเล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสหกรณ์และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และอื่น ๆ นอกจากนี้มุมมองดังกล่าวนี้ยังรวมถึงผู้ก่อตั้งสตาร์ตอัป อย่างเช่น ประธานบริษัททราเวลโลก้า (Traveloka) ซีอีโอของโคอินเวิร์คส์ (KoinWorks) ซีอีโอของนูซานติกส์ (Nusantics) และอื่น ๆ

บุคคลเหล่านี้ได้มอบมุมมองเกี่ยวกับการส่งเสริมความพยายามยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัลสู่การเป็นประเทศดิจิทัลที่เสมอภาค โดยเน้นย้ำขั้นตอนและกลยุทธ์ที่พวกเขาได้ใช้ในการบรรลุเป้าหมายเหล่านี้

คุณลูฮัต บินซาร์ ปันด์ใจตัน (Luhut Binsar Pandjaitan) รัฐมนตรีประสานงานกิจการและการลงทุนทางทะเล เปิดเผยว่า รัฐบาลดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมผู้เล่นด้านโทรคมนาคมในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายไปสู่พื้นที่ห่างไกล ด้วยโครงการปาลาปา ริง (Palapa Ring) และดาวเทียมอเนกประสงค์แซเทรีย (Satria) รัฐบาลยังมีส่วนเกี่ยวข้องในการสร้างเครือข่ายแกนหลัก สำหรับในฝั่งปลายน้ำ รัฐบาลทำงานร่วมกับพันธมิตรหลายรายเพื่อให้การฝึกอบรมทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล

รัฐบาลยังดำเนินการฝึกอบรมทักษะความเข้าใจและการแนะแนวธุรกิจ เพื่อให้วิสาหกิจขนาดเล็ก ย่อม และกลาง (MSME) มีทักษะความเข้าใจในด้านการตลาดดิจิทัลด้วยโครงการพราวด์ลี เมด อิน อินโดนีเซีย (Proudly Made in Indonesia หรือ Bangga Buatan Indonesia) และที่สำคัญที่สุด รัฐบาลจำเป็นต้องมีนโยบายเกี่ยวกับปัญหาการประสานงานระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งมักทำงานไม่สอดคล้องกัน

คุณแอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต (Airlangga Hartarto) รัฐมนตรีประสานงานเศรษฐกิจ หวังว่าการเติบโตทางดิจิทัลจะก่อผลดีแก่ประชาชนอินโดนีเซียทั้งหมด “เป็นที่คาดหวังว่าเศรษฐกิจดิจิทัลจะเป็นเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับทุกกลุ่มคน คล่องตัว ยั่งยืน และทำให้แน่ใจได้ว่าชาวอินโดนีเซียจะได้ประโยชน์จากการเติบโตทางดิจิทัลนี้ โดยสอดคล้องกับกรอบการทำงานว่าด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลปี 2565-2573 เช่นนี้ย่อมจะมีส่วนช่วยในการบรรลุวิสัยทัศน์ของอินโดนีเซียในปี 2588”

การทำงานร่วมกันสู่การเป็นประเทศดิจิทัลที่เสมอภาค

ขณะนี้เศรษฐกิจดิจิทัลของอินโดนีเซียกำลังเติบโต โดยได้แรงหนุนจากการบริโภคอย่างแข็งแกร่งและการพัฒนาสู่ดิจิทัลอย่างแพร่หลายมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งไม่สามารถแยกขาดจากการทำงานร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลากหลายฝ่ายในหลากหลายหมวดธุรกิจ รัฐบาลและภาคเอกชนกำลังทำงานร่วมกัน เพื่อรักษาระดับการพัฒนาของการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลในหมวดธุรกิจที่สำคัญ อย่างเช่น เทคโนโลยีการเงิน โลจิสติกส์ เทคโนโลยีการศึกษา และเทคโนโลยีสุขภาพ

คุณเตเตน มัสดูกี (Teten Masduki) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสหกรณ์และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ได้ให้สัมภาษณ์ในการจัดทำรายงานฉบับนี้ โดยได้อธิบายเกี่ยวกับการทำงานร่วมกับภาคเอกชนในการมุ่งสร้างความยุติธรรมเชิงดิจิทัล คุณเตเตนสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงเชิงดิจิทัลของวิสาหกิจขนาดเล็ก ย่อม และกลางด้วยการทำงานร่วมกับอีคอมเมิร์ซ นอกจากนี้ คุณแอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต รัฐมนตรีประสานงานเศรษฐกิจ ยังส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมสำหรับสตาร์ตอัป ขณะเดียวกัน คุณซานเดียกา อูโน (Sandiaga Uno) รัฐมนตรีการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มองว่าการทำงานร่วมกับสตาร์ตอัปเป็นสิ่งจำเป็น

การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลแสดงแนวโน้มเชิงบวกอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 กลยุทธ์ที่เหมาะสมในการรักษาระดับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของอินโดนีเซีย ประกอบด้วย (1) การกระจายการพัฒนาสู่ดิจิทัลอย่างเท่าเทียม (2) การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับพื้นฐานทางธุรกิจ (3) การเพิ่มการทำงานร่วมกัน และ (4) การดำเนินการตามหลักสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)

คุณรัดจู มูนูซามี (Radju Munusamy) หุ้นส่วนและเน็กซ์เลเวล ลีดเดอร์ (NextLevel Leader) ของพีดับบลิวซี อินโดนีเซีย กล่าวว่า “ความพยายามของอินโดนีเซียในการบรรลุความเสมอภาคทางดิจิทัลจำเป็นต้องใช้การทำงานร่วมกันจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบนิเวศเศรษฐกิจดิจิทัลประกอบด้วยบริษัททั้งประเภทสตาร์ตอัปและดั้งเดิม รัฐบาล นักลงทุน และสาธารณชน การทำงานร่วมกันในรูปแบบต่าง ๆ สามารถมุ่งเน้นการสร้างความเท่าเทียมในความพยายามพัฒนาสู่ดิจิทัล เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับพื้นฐานทางธุรกิจ และดำเนินกลยุทธ์ความยั่งยืนตามหลัก ESG โดยคาดว่าการทำสิ่งเหล่านี้จะเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างมูลค่าเพิ่มที่สนับสนุนการเกิดความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นในเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม”

คุณวิลสัน กล่าวเสริมว่า “ยังมี ‘การบ้าน’ อีกมากที่ต้องทำให้เสร็จและมีความท้าทายอีกหลายประการที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายต้องจัดการ เราจะดำเนินการต่อไปเพื่อสนับสนุนการกระจายความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลอย่างเท่าเทียมในอินโดนีเซีย และมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของอินโดนีเซียผ่านการลงทุนต่าง ๆ ประกอบกับโครงการริเริ่มหรือโครงการต่าง ๆ ของเรา”

เกี่ยวกับคะแนนดัชนีวัดศักยภาพการแข่งขันทางดิจิทัลของอีสต์ เวนเจอร์ส ประจำปี 2566

EV-DCI เป็นแผนที่ที่สะท้อนให้เห็นศักยภาพในการแข่งขันทางดิจิทัลระดับภูมิภาค โดยมี 3 ดัชนีย่อย, 9 เสาหลัก และ 50 ตัวชี้วัด ดัชนีย่อยที่ว่านี้ประกอบด้วย การรับเข้า ผลผลิต และการสนับสนุน ส่วนเสาหลักทั้ง 9 ได้แก่ ทรัพยากรมนุษย์ การใช้ไอซีที ค่าใช้จ่ายด้านไอซีที เศรษฐกิจ การเป็นผู้ประกอบการและผลิตภาพ การจ้างงาน โครงสร้างพื้นฐาน การเงิน ไปจนถึงข้อบังคับและความสามารถของรัฐบาลท้องถิ่น

จังหวัดที่มีคะแนน EV-DCI สูงสุดในปี 2566 ยังคงเป็นกรุงจาการ์ตาด้วยคะแนน 76.6 ในขณะเดียวกัน อันดับสองและสามเป็นของจังหวัดชวาตะวันตกและเขตพิเศษยอกยาการ์ตาด้วยคะแนน 62.2 และ 54.2 ตามลำดับ นอกจากนี้ ชวากลางได้กลับเข้าสู่ 10 อันดับแรกที่อันดับที่ 6 โดยมีคะแนนเพิ่มขึ้น 10.1 คะแนนเป็น 48.1 คะแนนในดัชนี EV-DCI ปี 2566 และสุมาตราเหนือได้กลับเข้าสู่ 10 อันดับแรกเช่นกันโดยมีคะแนนเพิ่มขึ้น 5.7 คะแนน

หลายจังหวัดนอกชวายังมีความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลเพิ่มขึ้นค่อนข้างดี ตัวอย่างเช่น จัมบีมีคะแนน EV-DCI เพิ่มขึ้นสูงที่สุดในปี 2566 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ทำให้อันดับของจัมบีเลื่อนขึ้นจากอันดับที่ 30 มาอยู่ที่อันดับที่ 14 โดยจัมบีมีคะแนนเพิ่มขึ้น 8.0 คะแนนเป็น 39.8 คะแนน หมู่เกาะบังกาเบลีตุงและกาลีมันตันตะวันตกมีความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นกัน โดยมีอันดับเลื่อนขึ้น 12 อันดับทั้งคู่

ดาวน์โหลดรายงาน EV-DCI ประจำปี 2566 ได้ที่ east.vc/dci

เกี่ยวกับอีสต์ เวนเจอร์ส

อีสต์ เวนเจอร์ส (East Ventures) เป็นบริษัทร่วมลงทุนชั้นนำที่บุกเบิกและไม่เจาะจงอุตสาหกรรม อีสต์ เวนเจอร์ส ก่อตั้งขึ้นในปี 2552 โดยได้พลิกโฉมเป็นแพลตฟอร์มแบบองค์รวมที่ให้การลงทุนในหลายระยะ ตั้งแต่ระยะ Seed ไปจนถึงระยะ Growth แก่บริษัทเทคโนโลยีกว่า 300 รายทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อีสต์ เวนเจอร์ส เชื่อมั่นในระบบนิเวศสตาร์ทอัพในอินโดนีเซียตั้งแต่แรกเริ่ม โดยเป็นนักลงทุนรายแรกของบริษัทยูนิคอร์นของอินโดนีเซีย ได้แก่ โทโกพีเดีย (Tokopedia) และทราเวลโลก้า (Traveloka) สำหรับบริษัทที่มีชื่อเสียงอื่น ๆ ที่อีสต์ เวนเจอร์ส ได้ร่วมลงทุนด้วยนั้นมีทั้งรวงกูรู (Ruangguru), เซอร์คโล (SIRCLO), คูโด้ (Kudo) (ถูกแกร็บซื้อกิจการ), โลเค็ต (Loket) (ถูกโกเจ็กเข้าซื้อกิจการ), เทค อิน เอเชีย (Tech in Asia), เซ็นดิต (Xendit), ไอดีเอ็น มีเดีย (IDN Media), โมกาพีโอเอส (MokaPOS) (ถูกโกเจ็กเข้าซื้อกิจการ), ช็อปแบ็ก (ShopBack), โคอินเวิร์กส์ (KoinWorks), แวร์ซิกซ์ (Waresix) และโซซิโอลลา (Sociolla)

อีสต์ เวนเจอร์ส ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นกองทุนร่วมลงทุนที่มีผลการดำเนินงานดีเด่นอย่างสม่ำเสมอที่สุดในโลกโดยพรีกิน (Preqin) ขณะที่สื่อหลายรายก็ยกให้เป็นนักลงทุนที่มีความกระตือรือร้นมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินโดนีเซีย นอกจากนี้ อีสต์ เวนเจอร์ส ยังเป็นบริษัทร่วมลงทุนแห่งแรกในอินโดนีเซียที่ลงนามในหลักการการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ (Principles of Responsible Investment หรือ PRI) ซึ่งสนับสนุนโดยสหประชาชาติ (UN) อีสต์ เวนเจอร์ส ยึดมั่นในการบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนและการนำผลกระทบเชิงบวกสู่สังคมผ่านโครงการริเริ่มและการปฏิบัติที่มุ่งเน้นหลัก ESG

รูปภาพ – https://mma.prnewswire.com/media/2048843/Peluncuran_East_Ventures___Digital_Competitiveness_Index_2023___1.jpg

คำบรรยายภาพ – เปิดตัวรายงานดัชนีวัดศักยภาพการแข่งขันทางดิจิทัล ประจำปี 2566

รูปภาพ – https://mma.prnewswire.com/media/2048844/Peluncuran_East_Ventures___Digital_Competitiveness_Index_2023___2.jpg

คำบรรยายภาพ – เปิดตัวรายงานดัชนีวัดศักยภาพการแข่งขันทางดิจิทัล ประจำปี 2566

ที่มา:  พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์