นายหลี่ เผิง ประธานกลุ่มธุรกิจโครงข่ายของหัวเว่ย ได้ขึ้นกล่าวปาฐกถาในการประชุม Day 0 Forum ของหัวเว่ย ภายในงาน Mobile World Congress (MWC) Barcelona 2023 เกี่ยวกับการที่ 5G ได้เปิดประตูพาผู้คนไปสู่โลกอัจฉริยะ และการก้าวย่างไปสู่เทคโนโลยี 5.5G จะเป็นหมุดหมายสำคัญต่อการเดินทางครั้งนี้ โดยนายหลี่ ยังได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ภาคอุตสาหกรรมจะต้องร่วมมือกัน เพื่อการเดินหน้าสู่โลกอัลตราบรอดแบนด์อัฉริยะที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยต้นแบบธุรกิจ “GUIDE” ซึ่งหัวเว่ยได้จัดทำขึ้นจะสามารถช่วยวางรากฐานไปสู่ความสำเร็จดังกล่าวนี้ได้
เมื่อโลกจริงทางกายภาพ (Physical) และโลกดิจิทัลขยับเข้ามาใกล้กันมากขึ้น การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลและโลกอัจฉริยะเป็นที่จะเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งในที่ทำงาน ที่บ้าน และการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ให้บริการโครงข่ายหลายรายได้ตอบรับต่อกระแสความต้องการที่เพิ่มขึ้นนี้ ด้วยการพัฒนาประสบการณ์ที่มีคุณภาพสูงขึ้นและมีประสิทธิผลที่ดียิ่งขึ้น นำมาสู่การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไอซีทีไปข้างหน้า
Connectivity + คือกุญแจสำคัญสู่การพัฒนา 5G
ภายในปลายปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา ทั่วโลกได้มีการวางโครงข่าย 5G ที่ให้บริการในเชิงพาณิชย์ไปแล้วมากกว่า 230 โครงข่าย รองรับผู้ใช้งาน 5G มากกว่า 1 พันล้านราย และอุปกรณ์ 5G อีกจำนวนมาก เครือข่าย 5G จึงมีส่วนช่วยผลักดันการพัฒนาอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมไอซีที ในส่วนของตลาดผู้บริโภคนั้น ผู้ให้บริการโครงข่ายได้พัฒนาแนวคิด “การเชื่อมต่อ+” (Connectivity+) ขึ้น ขณะที่ศักยภาพของ 5G พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ให้บริการเครือข่ายชั้นนำในยุโรป เอเชียแปซิฟิก และตะวันออกกลาง ได้คิดค้นบริการดิจิทัลใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง ผู้ให้บริการบางรายยังได้ผสานการเชื่อมต่อเข้ากับบริการประเภท Over-the-top (OTT) ในประเทศเพื่อสร้างความสำเร็จร่วมกัน บริการเหล่านี้ล้วนเป็นการบูรณาการการเชื่อมต่อและบริการด้านดิจิทัล เช่น โซเชียลมีเดีย ไว้ด้วยกัน และช่วยยกระดับธุรกิจให้เติบโตสู่ผู้ให้บริการดิจิทัลแบบครบจบในที่เดียว
นอกจากนี้ ตลาดครัวเรือนยังกลายเป็นพื้นที่ที่ผู้ให้บริการสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้น ในขณะที่ 5G และเครือขายไฟเบอร์กำลังเติบโตขยายความครอบคลุมอย่างต่อเนื่อง ผู้ให้บริการจึงขยาย “การเชื่อมต่อ+” เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้น บริการที่ยอดเยี่ยมมากขึ้น รวมถึงการดำเนินการและดูแลรักษา (O&M) ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น บริการบรอดแบนด์ภายในบ้านระดับพรีเมียม เช่น 5G FWA และ 10G PON จึงขยายตัวเร็วกว่าที่คาดไว้ ส่งผลให้ผู้ให้บริการในภูมิภาคต่าง ๆ รวมถึงในยุโรปและตะวันออกกลาง มีรายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้งาน (ARPU) เพิ่มขึ้น 30-60%
เดินหน้าอย่างฉับไว สู่โลกอัลตราบรอดแบนด์อัฉริยะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ในอนาคต โลกอัจฉริยะจะผสานเข้ากับโลกจริงทางกายภาพในเชิงลึกมากยิ่งขึ้น ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความบันเทิงส่วนตัว การทำงาน และการผลิตทางอุตสาหกรรม จะเชื่อมต่อกันอย่างอัจฉริยะ นั่นหมายความว่าเครือข่ายจะพัฒนาจากหลักกิกะบิต (Gbps) ไปสู่หลัก 10 กิกะบิต ที่สามารถเข้าถึงได้อย่างแพร่หลาย การเชื่อมต่อและเซ็นเซอร์ต่าง ๆ จะได้รับการผนวกรวมกัน และอุตสาหกรรมไอซีทีจะเปลี่ยนจากการใช้พลังงานแบบทั่วไปไปสู่การประหยัดพลังงานแทน ทั้งนี้ วิวัฒนาการจาก 5G ไปสู่ 5.5G คือกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้อุตสาหกรรมตอบสนองต่อความต้องการเหล่านี้ได้
หัวเว่ย พร้อมที่จะทำงานร่วมกับพันธมิตรในอุตสาหกรรมเพื่อส่งมอบประสบการณ์ระดับ 10 กิกะบิตสำหรับทุกคน ด้วยเทคโนโลยีไร้สาย ออพติคอล และ IP ที่เปี่ยมนวัตกรรม พร้อมทั้งสำรวจกรณีการใช้งานต่าง ๆ เช่น การทำงานร่วมกันระหว่างยานพาหนะกับถนน และการตรวจสอบสภาพแวดล้อมเพื่อบูรณาการเซ็นเซอร์และการสื่อสาร และสร้างระบบตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพการใช้พลังงานแบบครบวงจร เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เร่งเครื่องขยายธุรกิจสู่พรมแดนใหม่ พร้อมก้าวสู่ยุค 5.5G
หัวเว่ยมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับผู้ให้บริการเครือข่ายและพันธมิตรในอุตสาหกรรมทั่วโลกเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีที พร้อมวางรากฐานสู่ยุค 5.5G โดยต่อยอดความสำเร็จจาก 5G เพื่อความรุ่งโรจน์ยิ่งขึ้น
ภายในงานประชุม หัวเว่ยได้นำเสนอคุณลักษณะสำคัญทั้ง 5 ประการของ 5.5G ซึ่งประกอบด้วย 1) ประสบการณ์แบบ 10 กิกะบิต 2) รองรับอุปกรณ์ IoT ในทุกรูปแบบ 3) การบูรณาการระบบเซ็นเซอร์และการสื่อสารอย่างสมบูรณ์แบบ 4) เครือข่ายการขับขี่อัตโนมัติระดับ 4 และ 5) ระบบไอซีทีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นวัตกรรมเทคโนโลยีแห่งยุค 5.5G จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพเครือข่ายได้ดีกว่า 5G ถึง 10 เท่า
- ความเร็วเพิ่มขึ้น 10 เท่า: ผู้ใช้บรอดแบนด์ตามบ้านและแบบไร้สายจะได้สัมผัสความเร็วสูงสุดที่เพิ่มขึ้นจาก 1 กิกะบิต เป็น 10 กิกะบิต มั่นใจได้ถึงประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นจากการใช้บริการในรูปแบบ immersive และ interactive ต่างๆ
- การเชื่อมต่อมากขึ้น 10 เท่า: จากการพัฒนาของเทคโนโลยี IoT แบบ passive นำมาสู่อุปกรณ์ที่มีการเชื่อมต่อ ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 1 หมื่นล้านชิ้น เป็น 1 แสนล้านชิ้น
- ความแม่นยำเพิ่มขึ้น 10 เท่า: ทั้งในด้านความเสถียรของค่าความหน่วงในการรับส่งข้อมูล (latency) ความถูกต้องและแม่นยำของตำแหน่ง และความน่าเชื่อถือ
- ประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงานเพิ่มขึ้น 10 เท่า: อัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อเทราไบต์จากการส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายไร้สายจะลดลงมากถึง 10 เท่า
- ความอัจฉริยะมากขึ้น 10 เท่า: ช่วยยกระดับเครือข่ายการทำงานแบบอัตโนมัติ (ADN) จากระดับ 3 ขึ้นสู่ระดับ 4 และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการและดูแลรักษา (O&M) ได้ดีขึ้นมากกว่า 10 เท่า
นวัตกรรม 5.5G จะช่วยให้ผู้ให้บริการเครือข่ายสามารถขยายไปสู่พรมแดนธุรกิจใหม่ๆ ได้อีกมากถึง 5 ธุรกิจ และเพิ่มโอกาสใหม่ๆ ในโลกธุรกิจได้อีก 100 เท่า
หัวเว่ย เดินหน้าพันธกิจขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุคดิจิทัลด้วย 5G
สำหรับในประเทศไทย หัวเว่ยพร้อมเดินหน้าผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลของอาเซียน ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนสู่อุตสาหกรรมอัจฉริยะ โดยเริ่มจากการพัฒนาเทคโนโลยี 5G เพื่อขยายการเชื่อมต่อให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น ซึ่งหัวเว่ยเชื่อว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะช่วยขับเคลื่อนความก้าวหน้าของสังคม โดยหัวเว่ยจะนำเทคโนโลยีไฟเบอร์มาใช้เป็นสะพานเชื่อมทุกคนสู่โลกดิจิทัล นอกจากนี้ หัวเว่ยจะขยายสัญญาณ 5G ให้ครอบคลุมพื้นที่ต่างจังหวัดมากยิ่งขึ้น และจะยังคงเดินหน้าทำงานร่วมกับพันธมิตรในภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อส่งมอบบริการ 5G คุณภาพสูงในราคาที่เข้าถึงได้
สำหรับงาน MWC ในปีนี้ หัวเว่ย ได้ร่วมกับผู้ให้บริการโครงข่ายและพันธมิตรในอุตสาหกรรมทั่วโลก เรียกร้องให้ทั่วทั้งอุตสาหกรรมดำเนินงานตามต้นแบบธุรกิจ “GUIDE” เพื่อขับเคลื่อนความสำเร็จของเทคโนโลยี 5G พร้อมเดินหน้าสู่โลกอัลตราบรอดแบนด์อัจฉริยะ ที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน
ที่มา: คาร์ลบายร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์