เปิด 6 คำทำนายธุรกิจคลาวด์เมื่อโลกก้าวสู่ยุคไอทีเต็มรูปแบบ ซีอีโอ ออราเคิล ประเทศไทย ร่วมไขทางออกสำหรับกลุ่มผู้ให้บริการคลาวด์ในปัจจุบัน
กระแสการใช้คลาวด์ที่แพร่หลายไม่ใช่เรื่องใหม่แล้วในวันนี้ แต่สิ่งที่แตกต่างออกไปก็คือ องค์กรทุกประเภทต่างตระหนักแล้วว่าไม่มีผู้ให้บริการคลาวด์ “สำเร็จรูป” รายใดที่จะสามารถทำงานได้ทั้งหมดแบบเบ็ดเสร็จ เพราะธุรกิจต่าง ๆ ต้องการระบบคลาวด์ที่ดีที่สุดซึ่งเหมาะกับภาระงานหลักของบริษัทที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างถ้าคลาวด์ระบบ A เหมาะที่สุดสำหรับการรันแอปบนเดสก์ท็อป และคลาวด์ระบบ B ทำได้ดีเยี่ยมบนฐานข้อมูลของเซิร์ฟเวอร์ นั่นก็คือต้องเลือกคลาวด์ A และ B ตามรูปแบบงานนั้น
เมื่อเราก้าวเข้าสู่ปี 2023 บริษัทลูกค้าส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการใช้แค่คลาวด์สาธารณะเท่านั้น แต่พวกเขายังต้องการทางเลือกที่เอื้อต่อการพัฒนาด้านอื่น ๆ เพื่อให้สามารถจัดการภาระงานบางอย่างได้บนโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ของบริษัทตัวเอง
หนึ่งในคำทำนายอย่างง่าย ๆ ก็คือธุรกิจบริการประมวลผลบนคลาวด์ (Cloud Computing) ที่มีขนาดใหญ่ในปัจจุบันจะมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลเดือนเมษายนของ Gartner ประเมินว่าค่าใช้จ่ายสำหรับบริการคลาวด์สาธารณะของไทยในปี 2023 จะสูงขึ้น 31.8% โดยสูงกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยทั่วโลกซึ่งคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 20.7%
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในวันนี้คือลูกค้าต้องการทางเลือกอื่น ๆ (และจะได้รับในไม่ช้า) โดยตัวลูกค้าซึ่งแม้จะไม่ใช่ผู้ให้บริการ แต่ก็จะกลายเป็นผู้ขับเคลื่อนและบริหารจัดการระบบคลาวด์ได้ด้วยตัวเอง
รายละเอียดและสาระสำคัญของคำทำนายทั้ง 6 มีดังนี้
1. ระบบมัลติคลาวด์จะถูกใช้งานเป็นเรื่องปกติ
บริษัทต่าง ๆ จะใช้ระบบคลาวด์สาธารณะที่เหมาะสมภาระงานหลักของตนเองมากที่สุด และการใช้งานจะเพิ่มสูงขึ้นตลอดทศวรรษข้างหน้า
แม้แต่อุตสาหกรรมที่อยู่มาอย่างยาวนานซึ่งมักหลีกเลี่ยงความเสี่ยง อาทิ บริการทางการเงิน ก็ยังนำคลาวด์มาใช้มากกว่าหนึ่งระบบ ซึ่งในความเป็นจริงนั้น สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ทุกแห่งในวันนี้ล้วนใช้คลาวด์มากกว่าหนึ่งระบบสำหรับการรันแอปพลิเคชันและโครงสร้างพื้นฐาน และนั่นทำให้ความจำเป็นในการใช้คลาวด์หลายระบบ (มัลติคลาวด์) เพิ่มสูงขึ้น
ผู้ให้บริการคลาวด์บางรายสนับสนุนเทรนด์นี้ด้วยการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกของระบบคลาวด์ไว้บริเวณใกล้เคียงกัน เพื่อลดความหน่วงสัญญาณให้น้อยที่สุด ซึ่งช่วยรับประกันว่าลูกค้าที่ใช้บริการจากผู้ให้บริการทั้งสองรายจะได้ประสิทธิภาพด้านเวลาสัญญาณตอบสนอง (Response Time) ที่รวดเร็ว
ยกตัวอย่างเช่น Oracle Interconnect for Azure ซึ่งสนับสนุนการทำงานของบริษัทต่าง ๆ ทั้ง IntegraLife Sciences และ Mestec ก็มีการรันแอปพลิเคชันบางตัวข้ามไปมาระหว่างคลาวด์ทั้งสองระบบ
สาระสำคัญสองเรื่องในหัวข้อนี้ก็คือ 1. ลูกค้าต้องการคลาวด์มากกว่าหนึ่งระบบ และ 2. ผู้ให้บริการคลาวด์ต้องสร้างการเชื่อมต่อ (Bridge) ไม่ใช่กำแพงปิดกั้นบริการอื่น ๆ เพื่อหวังลดการใช้งานคลาวด์หลายระบบ
กล่าวโดยสรุป ลูกค้าต้องการให้บรรดาผู้ให้บริการคลาวด์ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อมอบบริการลที่ดีร่วมกันในฐานะผู้ให้บริการมืออาชีพ โดยลูกค้าควรสอบถามข้อมูลกับผู้ให้บริการคลาวด์ที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันหรือที่คิดจะใช้ในอนาคตให้ชัดเจน เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ให้บริการรายนั้นจะช่วยอำนวยความสะดวก ไม่ใช่ปิดกั้นการใช้คลาวด์หลายระบบ
2. ภาคธุรกิจต้องการทางเลือกเพื่อการพัฒนา
การใช้งานสิ่งที่ครั้งหนึ่งเราเคยเรียกว่า “ไฮบริด” และเรียกว่าคลาวด์ “แบบกระจายศูนย์ (Distributed)” ในวันนี้ กำลังเป็นที่พูดถึงกันอย่างมาก โดยในโมเดลคลาวด์แบบกระจายศูนย์ บริษัทจะจัดการภาระงานบางอย่างบนคลาวด์สาธารณะภายนอกและจัดการระบบในศูนย์ข้อมูลที่ควบคุมโดยบริษัท ซึ่งโดยทั่วไปจะต้องปฏิบัติให้สอดคล้องตามกฎระเบียบ กฎหมาย เหตุผลด้านประสิทธิภาพ หรือด้านอื่น ๆ
การใช้งานแบบผสมนี้ถือว่าเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับบริษัทที่ต้องเก็บรักษาข้อมูลขององค์กรหรือของลูกค้า แต่ก็ยังจำเป็นต้องนำข้อมูลมา “ระเบิดออก” เพื่อทำการวิเคราะห์หรือจัดการภาระงานที่ต้องใช้ทรัพยากรมากในการอัปโหลดไปเป็บไว้ในคลาวด์สาธารณะ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องยากเนื่องจากองค์กรต้องชั่งน้ำหนักอย่างรอบคอบระหว่างการใช้เทคโนโลยีภายในองค์กร โครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ส่วนบุคคล และระบบคลาวด์สาธารณะ
กล่าวอย่างชัด ๆ ก็คือ แม้ว่างานบางอย่างจะดำเนินการ “ในสถานที่ปฏิบัติงาน” ก็ไม่ได้หมายความว่ามันไม่ได้ “เกี่ยวข้องกับระบบคลาวด์” แม้จะไม่ใช่ทั้งหมด แต่ผู้ให้บริการบางรายก็กำลังนำเสนอบริการที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถรันงานบางอย่างได้ทั้งในสถานที่ปฏิบัติงานและในคลาวด์สาธารณะผ่านกระแสข้อมูลที่ทำงานง่ายและไม่ต้องจ่ายแพง ซึ่งเมื่อลูกค้าใช้บริการคลาวด์ภายในสถานที่ปฏิบัติงานก็จะได้ประโยชน์จากต้นทุนแบบใช้เท่าไหร่จ่ายเท่านั้น โดยศูนย์วิจัย NRI ได้จัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์เฉพาะด้านสำหรับ Oracle Cloud Infrastructure (OCI) แห่งที่สองในศูนย์ข้อมูลของตัวเองที่โอซากาเมื่อต้นปีที่แล้ว หลังจากประสบความสำเร็จจากการใช้งานแห่งแรกที่ศูนย์ข้อมูลโตเกียว ซึ่งเมื่อรัน OCI แล้ว ระบบคลาวด์แบบกระจายศูนย์ภายในศูนย์ข้อมูลของ NRI ทั้งที่โตเกียวและโอซากาก็สามารถยกระดับประสิทธิภาพและความยืดหยุ่นในการใช้ทรัพยากรของ OCI ได้อย่างดีเยี่ยม โดยยังสามารถรักษาธรรมาภิบาลทางการเงินขั้นสูงและการเรียกใช้งานได้ทุกเวลาที่ต้องการ
ตอนนี้ไม่ควรมีใครสงสัยแล้วว่ามัลติคลาวด์และการใช้งานไฮบริดควรเปิดใช้ฟรีสำหรับทุกคน ซึ่งจะเป็นการเปิดทางสู่ยุคการประมวลผลบนคลาวด์ หากย้อนไปในอดีต แผนกต่าง ๆ หรือแม้แต่ในระดับคนทำงานในบริษัทต่างจำเป็นต้องเริ่มใช้บริการคลาวด์ โดยมักไม่ได้รับอนุญาตหรือแม้แต่ความรู้ด้านไอที แต่ในวันนี้ การใช้งานคลาวด์แบบกระจายศูนย์จำเป็นต้องได้รับการวางแผนอย่างรัดกุม เพื่อรองรับความสามารถในการทำงานร่วมกันและการตรวจสอบธรรมาภิบาลที่ดีได้ตั้งแต่ในขั้นตอนแรก
สาระสำคัญก็คือผู้ให้บริการคลาวด์ต้องตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั้งภาคธุรกิจและหน่วยงานรัฐบาลในจุดที่พวกเขาต้องการ ไม่ใช่ผลักใสภาระการรันข้อมูลและแอปพลิเคชันทั้งหมดให้ไปตกอยู่บนคลาวด์ระบบเดียวของผู้ให้บริการรายใดรายหนึ่ง
3. ทุกคนต้องการอธิปไตยในระบบคลาวด์ที่มั่นคง
ข้อดีของคลาวด์สมัยใหม่คือมีรูปแบบและขนาดที่หลากหลาย เนื่องจากประเทศและภูมิภาคต่าง ๆ ทุกวันนี้ล้วนต้องการคลาวด์ในรูปแบบของตัวเอง หลายประเทศมีกฎระเบียบด้านอธิปไตยของข้อมูลที่กำกับว่าข้อมูลต้องถูกเก็บและประมวลผลภายในประเทศ โดยต้องไม่ถูกส่งไปยังสหรัฐอเมริกาหรือเมืองที่อยู่นอกพรมแดน ทำให้โมเดลการใช้ศูนย์ข้อมูลคลาวด์เชิงเดี่ยวเพื่อให้บริการหลาย ๆ ประเทศในหนึ่งภูมิภาคแบบเดิมกลายเป็นเรื่องล้าหลังไปแล้ว
โพสต์ล่าสุดในบล็อก Forrester Research ได้ระบุถึงข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณสมบัติผู้ให้บริการคลาวด์ในสหภาพยุโรปที่มั่นคงปลอดภัย รวมถึงข้อมูลของรัฐบาลหรือพลเมืองที่คงอยู่ในประเทศและโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ซึ่งดำเนินการโดยพลเมืองของประเทศนั้น โดยผู้ให้บริการระบบคลาวด์ต้องยินยอมแสดงหลักฐานให้เห็นว่าตนปฏิบัติตามกฎหมายท้องถิ่นและข้อบังคับด้านความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
ภาคธุรกิจต้องตระหนักว่าการไม่ปฏิบัติตามกฎอธิปไตยของข้อมูลอาจนำไปสู่การเสียเงินค่าปรับอย่างมหาศาล ซึ่งอาจสูงหลายร้อยล้านดอลลาร์ นี่ยังไม่ต้องพูดถึงความเสียหายต่อแบรนด์ที่ประเมินค่าไม่ได้
ประเทศและท้องถิ่นต่าง ๆ ที่ต้องเก็บข้อมูลในพื้นที่เฉพาะ ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าระบบคลาวด์ที่ตนเลือกใช้สอดคล้องกับข้อกำหนดดังกล่าว แท้จริงแล้วผู้ให้บริการคลาวด์ Gen 1 บางรายก็ยังไม่เคยทำสิ่งใดมากไปกว่าออกข่าวประชาสัมพันธ์แสดงความตั้งใจที่จะให้บริการคลาวด์ที่มั่นคงปลอดภัยเท่านั้นเอง
ปัจจุบัน คลาวด์ที่มีความมั่นคงปลอดภัยซึ่งใช้เทคโนโลยีของออราเคิล เปิดให้บริการแล้วในบางประเทศ
4. องค์กรต่าง ๆ จะใช้ HCM บนคลาวด์เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนทางธุรกิจ
ทศวรรษที่ 2020 ทำให้เราได้เห็นถึงความซับซ้อนในการบริหารงานบุคคล เมื่อบริษัทต่าง ๆ ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดครั้งใหญ่จนต้องเปลี่ยนไปใช้ระบบการทำงานนอกสถานที่และยังประสบกับช่องว่างด้านทักษะจาก “การลาออกครั้งใหญ่” โดยหลายแห่งต้องมีการเลิกจ้างและการปรับสถานะพนักงานเนื่องจากเศรษฐกิจที่ผันผวน ปัจจัยเหล่านี้รวมถึงความจำเป็นในการฝึกอบรมทักษะที่ต้องรวดเร็วขึ้นเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาด ล้วนเป็นความท้าทายที่ระบบการบริหารทุนมนุษย์ (HCM) บนคลาวด์สามารถช่วยชี้นำทิศทางการทำงานของบริษัทได้
การเปลี่ยนแปลงกำลังเกิดขึ้นในทุกอุตสาหกรรม ทั้งเฮลธ์แคร์ บริการโรงแรมที่พัก ธุรกิจค้าปลีก และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ล้วนต้องว่าจ้าง จัดตารางเวลา บริหารจัดการ และจ่ายเงินให้กับพนักงานพาร์ตไทม์หรือพนักงานสัญญาจ้างจำนวนมาก ซึ่งพนักงานจำนวนมากในภาคธุรกิจดังกล่าวไม่สามารถทำงานจากที่บ้านได้ แม้ว่าพวกเขาไม่ต้องอยู่ที่โต๊ะทำงานหรือต้องปฏิบัติงานในสถานที่เฉพาะเจาะจง อย่างเช่นพยาบาลซึ่งไม่ต้องนั่งทำงานที่โต๊ะ แต่ก็ต้องเดินไปมาระหว่างห้องตรวจภายในโรงพยาบาล เป็นต้น โดยระบบ HCM บนคลาวด์สมัยใหม่และแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้องจะช่วยบริหารจัดการและสนับสนุนผู้ปฏิบัติงานแบบ “ไร้โต๊ะทำงาน” เหล่านี้ได้อย่างเหมาะสมที่สุด
ในทำนองเดียวกัน ธุรกิจต่าง ๆ ยังต้องสนับสนุนผู้ที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ทั้งแบบเต็มเวลาหรือไม่เต็มเวลาให้ได้รับประสบการณ์แบบเดียวกับผู้ที่ทำงานอยู่ในบริษัท เพราะความต้องการความยืดหยุ่นในสถานที่ปฏิบัติงานจะไม่มีทางลดลงแม้ว่าการแพร่ระบาดจะผ่อนคลายลงแล้วก็ตาม ผลสำรวจ “Asia Pacific Workforce Hopes & Fears Survey 2022” โดย PwG เมื่อเร็ว ๆ นี้แสดงให้เห็นว่า พนักงานในไทยกว่า 73% คาดหวังให้นายจ้างเสนอรูปแบบการทำงานทางไกลในช่วง 12 เดือนข้างหน้า และมีเพียง 4% ที่ชอบการทำงานแบบพบหน้ากันจริง ๆ ในสำนักงาน
ย้ำอีกครั้งว่า HCM บนคลาวด์ที่มีการติดตั้งปัญญาประดิษฐ์จะเป็นตัวช่วยที่ดีมาก ด้วยการทำให้ภาระงานทั่วไปที่ต้องใช้เวลานานเปลี่ยนเป็นแบบอัตโนมัติ ซึ่งระบบเหล่านี้จะช่วยให้การจ้างงานใหม่ทำได้ง่ายและเร็วขึ้น
ผู้ช่วยดิจิทัลที่ติดตั้งปัญญาประดิษฐ์จะช่วยรวบรวมข้อมูลจากพนักงาน ทำการตีความและตอบคำถามโดยใช้การประมวลผลด้วยภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing: NLP) แชตบอตเหล่านี้จึงช่วยให้งานทั่วไปดำเนินไปได้เร็วขึ้น ลดการโทรศัพท์ติดต่อและส่งอีเมลถึงฝ่ายบุคคล ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ช่วยดิจิทัลยังให้ประโยชน์แก่พนักงาน โดยสามารถให้คำแนะนำทั้งในเรื่องใบจัดซื้ออุปกรณ์ การรายงานค่าใช้จ่าย และงานอื่นๆ
ข่าวดีก็คือพนักงานไม่รังเกียจที่จะทำงานกับปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นข้อมูลจากการศึกษาระดับโลก AI@Work ของ Oracle เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งชี้ว่า 82% ของผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 14,500 คน รู้สึกว่าหุ่นยนต์สามารถสนับสนุนหน้าที่การงานของพวกเขาได้ดีกว่ามนุษย์ เนื่องจากหุ่นยนต์สามารถให้คำแนะนำที่ปราศจากอคติ
ปัญญาประดิษฐ์ยังสามารถช่วยให้พนักงานเข้าถึงเนื้อหาการฝึกอบรมที่ต้องการได้อย่างง่ายดาย โดยพิจารณาจากลักษณะงานในปัจจุบัน สถานที่ปฏิบัติงาน ภูมิหลัง และความใฝ่ฝันในอาชีพ
สิ่งสำคัญในเรื่องนี้ไม่ได้มีเฉพาะแค่ HCM เท่านั้น แต่แอปพลิเคชันทางธุรกิจทั้งหมดจะต้องเป็นมิตรกับผู้ใช้มากกว่าในอดีตด้วย ภายในปี 2024 แอปพลิเคชันรุ่นเก่าส่วนใหญ่จะได้รับการปรับปรุงประสิทธิภาพให้ทันสมัยโดยใช้บริการคลาวด์ตาม IDC แต่คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ ช่วงเวลาดังกล่าวนี้เร็วพอหรือยัง?
การติดตั้งปัญญาประดิษฐ์ลงในแอปพลิเคชันเหล่านี้ทำให้ผู้คนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น พนักงานสามารถประหยัดเวลาสามชั่วโมงต่อสัปดาห์จากการป้อนข้อมูล ก็สามารถใช้เวลาสามชั่วโมงนั้นในการถามคำถามเกี่ยวกับข้อมูล เพื่อหาวิธีประหยัดรายจ่ายหรือเพิ่มรายรับให้กับบริษัทแทน
โดยรวมแล้ว การใช้เทคโนโลยี อาทิ HCM อย่างชาญฉลาด ช่วยให้ธุรกิจสามารถเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนการบริหาร จัดการ ช่วยเก็บรักษาพนักงานผู้มีความสามารถให้อยู่กับองค์กร และมอบประโยชน์อีกมากมายในอนาคต
หนึ่งในบริษัทที่ได้ประโยชน์จากการใช้ HCM คือ?ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้เลือกใช้ Oracle Fusion Cloud Human Capital Management (HCM) เพื่อส่งเสริมการทำงานระบบดิจิทัลด้วยการยกระดับประสบการณ์พนักงานให้ดียิ่งขึ้น และด้วยการสนับสนุนของ Oracle Cloud HCM ทำให้ ธปท. สามารถลดขั้นตอนการทำงานด้วยมนุษย์และช่วยให้ระบบงานดำเนินไปอย่างราบรื่นยิ่งขึ้น
5. บริษัทจะทำให้การเข้าถึงและการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นประชาธิปไตย
ธุรกิจต่าง ๆ ล้วนเกี่ยวข้องกับข้อมูล ทั้งข้อมูลการขายผลิตภัณฑ์ การจัดจำหน่าย สินค้าคงคลัง การผลิต ตลอดจนการดำเนินงานทั้งหมดของบริษัท แต่ข้อมูลที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้งานก็จะไม่มีประโยชน์ ปัญหาก็คือการทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น ดังนั้น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เช่น การเรียนรู้ของเครื่อง (ML) จึงถูกติดตั้งอยู่ในระบบขององค์กรเพื่อวางพื้นฐานในการทำให้ข้อมูลเป็นประชาธิปไตย
ในการสนับสนุนเรื่องนี้ บริษัทจำเป็นต้องนำเอา “การวิเคราะห์เสริม (Augmented analytics)” มาใช้เพื่อทำให้ข้อมูลเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่ายสำหรับ “คนธรรมดา” อย่างนักธุรกิจ เพราะการเข้าใจในการสร้างและการทดสอบโมเดลธุรกิจต้องไม่จำกัดเฉพาะแค่ในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลเท่านั้น ซึ่งนี่เป็นเรื่องสำคัญ เหตุผลหนึ่งก็คือนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลหาตัวยากและมีค่าแรงสูง อีกเหตุผลก็คือ พวกเขามักมีความรู้เกี่ยวกับธุรกิจของบริษัทน้อยกว่าผู้จัดการในสายงานจริง
หากหัวหน้าแผนกสามารถใช้ภาษามนุษย์ปกติในการถามคำถามเกี่ยวกับข้อมูลได้ ผู้จัดการคนนั้นก็ไม่จำเป็นต้องรอให้นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลหรือผู้เชี่ยวชาญมาคอยหาคำตอบ
สถานการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ในเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้นก็คือ เมื่อเราสามารถวิเคราะห์ข้อมูลด้วย ML ส่งรายงานหรือแจ้งเตือนไปยังผู้จัดการฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ทันที โดยพิจารณาตามผลการสืบค้น หน้าที่ของผู้จัดการ และปัจจัยอื่น ๆ เพราะคงเป็นเรื่องที่ดีมากถ้าเราสามารถได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ ก่อนที่เราจะร้องขอ!
ดังที่ แบรด ชิมมิน หัวหน้านักวิเคราะห์ของ Omdia ชี้ว่า “…สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับการผลักดันวิทยาศาสตร์ข้อมูลที่ ‘เป็นประชาธิปไตย’ ที่ทุกคนเข้าถึงได้ก็คือ มันไม่ได้ให้ประโยชน์เฉพาะกับผู้คนจำนวนมากที่ซึ่งก็คือผู้ใช้งานทางธุรกิจโดยเฉลี่ยของคุณเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ ML สามารถไหลเวียนไปทั่วองค์กร เพื่อให้บุคคลที่ต้องการใช้งานสามารถหยิบมันขึ้นมาใช้ได้ทันทีในเวลาที่เหมาะสม เพื่อทำงานบางอย่างให้เสร็จลุล่วงได้อย่างรวดเร็ว”
การวิเคราะห์และการเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็วสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพของแอปพลิเคชันได้อย่างมาก นับตั้งแต่รถยนต์ฟอร์มูล่า 1 และการแข่งเรือใบ SailGP ไปจนถึงการตรวจจับการฉ้อโกง ซึ่งการเข้าถึงข้อมูลแบบเรียลไทม์จะเป็นอีกหนึ่งตัวขับเคลื่อนหลักในอนาคต
6. ธุรกิจต้องเป็นผู้นำด้านบรรษัทภิบาล
เมื่อเกิดความวิตกกังวลด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคจึงต้องการทราบว่าผลิตภัณฑ์และบริการมีแหล่งที่มา วิธีการผลิตและการจัดส่งอย่างไร โดยผู้คนจำนวนมากขึ้นต้องการทำธุรกิจกับบริษัทที่มีค่านิยมด้านสังคมและบรรษัทภิบาล (ESG) ที่เข้มแข็ง บริษัทที่ชาญฉลาดจึงต้องพบกับความท้าทายด้วยการต้องลงมือทำจริง ไม่ใช่แค่การพูดปากเปล่า โดยในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Summit) เมื่อเร็ว ๆ นี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความยั่งยืนและขอความร่วมมือทั้งจากภาคเอกชนและภาครัฐบาลในการรับมือกับปัญหาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
การวิจัยแสดงให้เห็นว่าห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดต้องได้รับการคำนวณผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากบริษัท เนื่องจากกว่า 90% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบริษัทมาจากขั้นตอนในห่วงโซ่อุปทานของบริษัทนั่นเอง
จึงไม่น่าแปลกใจที่บริษัทในภาคธุรกิจต่าง ๆ กล่าวว่าพวกเขาจะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้มั่นใจว่าแนวทางการปฏิบัติงานในการจัดหาทรัพยากร การผลิต และการจัดจำหน่าย ตั้งอยู่บนความยั่งยืนอยู่เสมอ แต่ในความเป็นจริงนั้น หลายครั้งที่เป็นเพียงเรื่องผักชีโรยหน้า โดยรายงานการพัฒนาด้านความยั่งยืน Deloitte 2022 CXO Sustainability Report บริษัทที่ปรึกษาแห่งนี้พบว่าองค์กรมากกว่า 1 ใน 3 ดำเนินการเพียงหนึ่งในห้าส่วนของแผนงานด้านความยั่งยืน
ยกตัวอย่างเช่น 67% ของบริษัทที่ CXO สำรวจ กล่าวว่าบริษัทของพวกเขากำลังใช้วัสดุที่มีความยั่งยืนมากขึ้น และ 66% กล่าวว่าพวกเขากำลังเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงาน แต่มีเพียง 49% ของบริษัทมากกว่า 2,000 แห่งที่ CXO สำรวจ กล่าวว่าพวกเขากำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นมิตรต่อสภาพอากาศ และมีเพียง 37% เท่านั้นที่กำหนดให้ค่าตอบแทนของผู้บริหารระดับสูงแปรผันตามประสิทธิภาพด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน
การสร้างเปลือกนอกให้ดูดีอย่างเดียวไม่เพียงพออีกต่อไป บริษัทต่าง ๆ จำเป็นต้องแก้ไขห่วงโซ่อุปทานเพื่อปรับปรุงภาวะทางการเงินของตัวเองด้วย นอกเหนือจากสถิติก๊าซเรือนกระจก 90% ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ห่วงโซ่อุปทานของบริษัทยังก่อให้เกิดต้นทุนการดำเนินงาน 50- 70% โดยรายงาน EY Supply Chain Sustainability 2022 ได้ตั้งข้อสังเกตว่า “นอกจากการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงและการปฏิบัติตามกฎระเบียบแล้ว องค์กรต่าง ๆ กำลังแสวงหาวิธีสร้างมูลค่าระยะยาวด้วยการผสานแนวคิดความยั่งยืนไว้ในการดำเนินงานห่วงโซ่อุปทานของบริษัท”
ในการรับมือกับความท้าทายที่ละเอียดอ่อนนี้ ธุรกิจต่าง ๆ จำเป็นต้องมีมุมมองที่รอบด้านและอัปเดตอยู่เสมอทั้งในเรื่องสินค้าคงคลัง รวมไปถึงซัพพลายเออร์และพันธมิตรการกระจายสินค้า และดังที่กล่าวไว้ข้างต้น พวกเขาต้องการการวิเคราะห์ในระดับโลกเพื่อแยกแยะข้อมูลเหล่านี้ และเมื่อติดตั้งเครื่องมือที่จำเป็น พวกเขาจะสามารถจัดหาและผลิตสินค้าให้อยู่ใกล้กับผู้ซื้อมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดระยะทางและต้นทุนเชื้อเพลิงในการขนส่งให้น้อยที่สุด นอกจากนี้ ยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพคลังสินค้าได้ดีขึ้น เพื่อช่วยในการคาดการณ์หรือป้องกันสินค้าขาดตลาด และปรับปรุงการวางแผนห่วงโซ่อุปทานเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมของธุรกิจ
สิ่งสำคัญคือเราต้องตระหนักว่าไม่มีบริษัทใดที่ทำงานได้ด้วยตัวคนเดียว แต่ละแห่งต้องทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์และพันธมิตรอื่น ๆ เพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานที่มีประสิทธิภาพและจริยธรรม
นอกจากประโยชน์ต่าง ๆ แล้ว การย้ายการทำงานส่วนใหญ่ใช้การประมวลผลบนคลาวด์ (Cloud Computing) ก็สามารถช่วยเยียวยาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลกได้ โดย IDC ประเมินว่าการนำระบบคลาวด์มาใช้ในวงกว้างสามารถป้องกันการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 1 พันล้านเมตริกตันระหว่างปี 2021 ถึง 2024
ความสำคัญของการดำเนินงาน ESG ที่แท้จริงไม่สามารถกล่าวอ้างเกินจริงได้ ในด้านหนึ่ง ลูกค้าเรียกร้องสิ่งนี้ ส่วนอีกด้านนั้น รัฐบาลต่าง ๆ กำลังมีการเคลื่อนไหวกันอย่างรวดเร็วในการออกกฎระเบียบ เพื่อให้แน่ใจว่าธุรกิจจะมีการใช้เงินลงทุน (และนโยบาย) ไปในด้านความยั่งยืน
ที่กล่าวมานั้นคือความท้าทายที่ต้องเผชิญ หากรางวัลที่จะได้รับก็คือบริษัทที่ปรับปรุงห่วงโซ่อุปทานและการดำเนินการอื่น ๆ ผ่านการใช้เทคโนโลยีที่กล่าวมาข้างต้น สามารถกล่าวอ้างได้ว่าบริษัทช่วยลดผลกระทบเชิงลบต่อโลกให้เหลือน้อยที่สุดได้อย่างแท้จริง และเสริมสร้างชื่อเสียงให้กับแบรนด์ของตน ซึ่งผู้บริโภคที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมจะสังเกตเห็นสิ่งนี้ได้แน่นอน
กล่าวโดยสรุป เมื่อเข้าสู่ช่วงกลางถึงปลายทศวรรษที่ 2020 ผู้ซื้อบริการคลาวด์ต้องการเทคโนโลยีที่จะช่วยให้พวกเขาสามารถจัดการต้นทุน เพิ่มรายได้ และพวกเขาต้องการทางเลือกในการใช้งานเทคโนโลยีนั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่าพวกเขาจะให้ความสำคัญกับผู้ให้บริการคลาวด์ที่ช่วยอำนวยความสะดวก ไม่ใช่คอยขัดขวางเมื่อพวกเขาต้องการสะสางภาระงานบนคลาวด์
นายทวีศักดิ์ แสงทอง กรรมการผู้จัดการ ออราเคิล คอร์ปอเรชั่น ประเทศไทย กล่าวว่า “ออราเคิล ในฐานะผู้ให้บริการโซลูชันชั้นนำสำหรับวิสาหกิจ ตระหนักถึงเทรนด์การใช้งานมัลติคลาวด์มาโดยตลอด ทำให้เรามุ่งมั่นผสานโซลูชันของเราเข้ากับระบบคลาวด์ของพันธมิตรหลายราย ไม่ว่าจะเป็น Microsoft Azure เพื่อให้ลูกค้าไมโครซอฟท์สามารถเข้าถึงการทำงานในระบบฐานข้อมูลบน Oracle Cloud Infrastructure โดยตรงภายใต้มาตรฐานเดียวกัน หรือแม้แต่การเปิดให้ใช้งาน Oracle MySQL HeatWave บนแพลตฟอร์ม Amazon Web Services (AWS) เมื่อไม่นานมานี้ ออราเคิลยังคงขยายความร่วมมือไปสู่พันธมิตรไอทีรายอื่น ๆ โดยจะเริ่มจากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มรายใหญ่ที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก เพื่อมอบความสะดวกในการทำงานและการประมวลผลผ่านคลาวด์ที่รวดเร็วแก่ลูกค้าของทุกฝ่าย และแสดงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมว่าออราเคิลคือผู้ให้บริการคลาวด์และโซลูชันแบบครบวงจร ที่มุ่งมั่นมอบความสะดวกสบายและการทำงานข้ามระบบที่ไร้พรมแดนอย่างแท้จริง”
ที่มา: วิวาลดี้ อินทิเกรเต็ด พับลิค รีเลชั่นส์