วิกฤตการณ์โควิด-19 เป็นจุดเปลี่ยนของใครหลายคนที่มีสถานะทางการเงิน คุณภาพชีวิตด้านการเงินเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง จากภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น หนี้ครัวเรือนของไทยสูงขึ้นถึงร้อยละ 91 ของ GDP อัตราค่าครองชีพสูง รวมไปถึงปัญหาการกู้ยืมหนี้นอกระบบ โดยเฉพาะ GEN Z ที่มีสถิติเป็นหนี้เพิ่มสูงอย่างรวดเร็ว คนสูงวัยก็ไม่มีเงินเก็บออมหลังวัยเกษียณและอีกหลายกลุ่มยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อ สิ่งเหล่านี้กลายเป็นข้อท้าทายของประเทศไทย เพราะทำให้คนไทยเริ่มห่างไกลจากการมี “Financial Well-being” หรือ “ชีวิตทางการเงินที่ดี” ซึ่งเป็นที่มาให้ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี จัดงาน “Financial Well-being Hackathon for Thais” การแข่งขันเพื่อค้นหาโซลูชันทางการเงินเพื่อคนไทย ด้วยการนำเทคโนโลยีและฐานข้อมูล (Tech & Data) มาเป็นพื้นฐานในการแก้ปัญหา รวมทั้งมีการรวมพลังจากทุกภาคส่วนเพื่อยกระดับชีวิตทางการเงินของคนไทยให้เติบโตในทิศทางที่ดีขึ้น
นายนริศ สถาผลเดชา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้า ttb analytics ได้พูดถึงโจทย์ของการแข่งขันครั้งนี้ว่า “เราจะยกระดับชีวิตทางการเงินของคนไทยให้ดีขึ้นได้อย่างไร โดยนำ Tech & Data มาประยุกต์ใช้ให้ถูกจุด คือ ‘การเลือกปัญหาที่ใช่ ที่เราจะแก้ไข’ (Problem Worth Solving) เราต้องเข้าใจปัญหาของคนที่เราจะแก้ไขปัญหาและวิธีการแก้ไขปัญหาจะเป็นแนวทางหลักในการตัดสินผลงานของผู้เข้าแข่งขัน Hackathon ในครั้งนี้ ซึ่งทีเอ็มบีธนชาตเล็งเห็นถึงความสำคัญที่ต้องแก้ปัญหาเหล่านี้โดยเร็วที่สุดและต้องทำทันที เพื่อยกระดับชีวิตทางการเงินของคนไทยให้ดีขึ้นทั้งวันนี้ และอนาคต”
งาน “Financial Well-being Hackathon for Thais” มีนักศึกษา คนรุ่นใหม่ ร่วมกันส่งแนวคิดเพื่อช่วยยกระดับชีวิตทางการเงินของคนไทยกว่า 100 โครงการ ครอบคลุมปัญหาทางการเงินของคนไทย ตั้งแต่ GEN Z คนทำงาน SME เกษตรกร ผู้สูงวัย เพื่อไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สะท้อนให้เห็นมุมมองของคนรุ่นใหม่ต่อการเงินและการจัดการปัญหาทางการเงิน โดยมีที่ปรึกษาที่เชี่ยวชาญ (Mentor) จากทีเอ็มบีธนชาต และที่ปรึกษาจากบริษัทภายนอกหลากหลายสาขามาช่วยขัดเกลาไอเดียและต่อยอดให้ครอบคลุม 3 แกนหลัก ได้แก่ แผนธุรกิจ (Business), Tech และ Data ในการร่วมกันสร้างโซลูชันทางการเงินอย่างแท้จริง
- Business ที่มีเคสที่น่าสนใจอย่าง ทีทีบี ออลล์ฟรี ที่เข้ามาแก้ปัญหาทางการเงินให้กับลูกค้า เช่น ปัญหาที่ว่าคนไทยกว่า 70% ไม่ทำประกัน เพราะมองว่าการทำประกันคือการสิ้นเปลือง แล้วจะแก้ปัญหานี้อย่างไร? ทีเอ็มบีธนชาตจึงพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าให้หันมาสนใจทำประกันกันมากขึ้นด้วยการมอบวงเงินประกันให้กับลูกค้าฟรี และช่วยลดค่ารักษาพยาบาล ซึ่งการแก้ปัญหาที่ตรงจุดเริ่มจากการมองหาความต้องการของลูกค้า ศึกษาปัญหาของลูกค้า เพื่อสร้างสรรค์โซลูชันที่เข้าใจง่ายและได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง
- Techเช่น การแก้ปัญหาด้วยการนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในประเทศไทย เริ่มต้นจากปัญหาที่เกษตรกรนำเงินทุนจากโรงงานผู้ผลิตน้ำตาลไปใช้ไม่เพียงพอ บ้างก็นำไปใช้ในด้านอื่นแทนการนำไปลงทุนปลูกอ้อย ทำให้เกิดผลกระทบแบบลูกโซ่ คือ เกษตรกรมีเงินทุนไม่พอ ทำให้ปลูกอ้อยได้น้อยหรือคุณภาพต่ำ ส่งผลให้โรงงานผลิตน้ำตาลได้น้อย เสียโอกาสทางการค้า จึงออกแบบโซลูชัน ‘แอปพลิเคชัน’ ที่ช่วยให้โรงงานสามารถติดตามการทำงานของเกษตรกรได้ ในขณะเดียวกันเกษตรกรก็จะสามารถรับเงินทุนสนับสนุนจากโรงงานผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งกว่าจะออกมาเป็นโซลูชันเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์กับการใช้ชีวิตของผู้บริโภคนั้น ธนาคารต้องศึกษาและสังเกตจากประสบการณ์สถานที่จริงเพื่อที่จะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง ผ่านเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่เหมาะสม
และ 3. Data ปัจจุบันมีแพลตฟอร์มมากมายที่นำเอาข้อมูลมาใช้พัฒนาบริการ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตของคนไทยในด้านของการเกษตรให้ดีขึ้น เช่น การนำเอาข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมมาช่วยในการคาดการณ์การเพาะปลูก และพยากรณ์สภาพอากาศเพื่อให้เกษตรกรได้เตรียมรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ นอกจากนี้ยังสามารถนำมาพัฒนาโซลูชันแบบ Personalization หรือ แบบปัจเจกบุคคล ที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละคนได้อย่างตรงจุด
ทั้งนี้ งาน “Financial Well-being Hackathon for Thais” จะจัดกิจกรรม “Hack Day” ขึ้นในวันที่ 29 – 30 ตุลาคมนี้ โดยมี 15 ทีมสุดท้ายที่ผ่านการคัดเลือกมานำเสนอโซลูชันทางการเงินต่อคณะกรรมการ และจะประกาศผลรางวัลแก่ทีมผู้ชนะ เพื่อคว้ารางวัลรวมมูลค่ากว่า 280,000 บาท พร้อมกับโอกาสร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาโซลูชันกับทีเอ็มบีธนชาต รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถอ่านได้ที่ https://www.ttbbank.com/ttbfb-hackathon2022
ที่มา: ชมฉวีวรรณ