ปัจจุบัน เทรนด์การพัฒนาประเทศไทยภายใต้บริบทโลกยุคใหม่ที่เชื่อมโยงกับการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญ เช่นเดียวกับกรมโยธาธิการและผังเมืองที่เห็นความสำคัญในการวางและจัดทำผังนโยบายระดับประเทศ เพื่อกำหนดกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ของประเทศ จึงได้จัดงานเสวนาในหัวข้อ Future Thailand Toward 2037 “อนาคตประเทศไทยต้องรู้” สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ประเทศไทยปี 2580 โดยมี บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้นำระดับโลกด้านเทคโนโลยีที่มาร่วมแบ่งปันข้อมูลด้านเทรนด์นวัตกรรมอัจฉริยะ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การเกษตร และการพัฒนาเมือง พร้อมด้วยตัวแทนภาคการศึกษาที่ร่วมแบ่งปันความคิดเห็น และความรู้ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเศรษฐกิจเพื่อเชื่อมโยงกันในทุกมิติกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค รวมถึงการมุ่งเน้นสร้างความสมดุลในการพัฒนาสามด้าน ได้แก่ การพัฒนาเศรษฐกิจยั่งยืน การพัฒนาสังคมยั่งยืน และการพัฒนาสิ่งแวดล้อมยั่งยืน
ศาสตราจารย์ ดร. กิตติ ประเสริฐสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึง ความสำคัญของความเชื่อมโยงว่า “ด้วยความได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์ของประเทศไทย ภาครัฐจึงผลักดันด้านความเชื่อมโยงมาตั้งแต่ปี 2553 โดยไทยมีบทบาทสำคัญในการผลักดันแผนความร่วมมืออาเซียน (ASEAN) ที่สอดคล้องกับแผนพัฒนา Belt and Road Initiative ของประเทศจีน ทำให้ประเทศไทยและอาเซียนมีความเชื่อมโยงกับประเทศจีนมากขึ้น และด้วยสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป ประกอบกับการเข้าถึงความเชื่อมโยงที่มีอยู่สามมิติ คือ มิติกายภาพของเมืองและโครงสร้างพื้นฐาน มิติด้านพลังงาน และมิติบุคคล ผมจึงมีความคิดเห็นว่าการพัฒนาเมืองหลักระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเป็นรูปแบบเครือข่ายเชื่อมโยงกันระหว่างเมืองจะมีความเหมาะสมมากกว่าการพัฒนาเป็นศูนย์กลางด้านต่างๆ เพียงอย่างเดียว และด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลมากยิ่งขึ้น ภาคเศรษฐกิจของประเทศจะเปลี่ยนเป็นภาคบริการมากขึ้น การวางผังเมืองจึงต้องคำนึงถึงกระแสการเข้าสู่โลกดิจิทัล ประกอบกับเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ที่สามารถทำงานที่ไหนก็ได้ จึงควรพัฒนาเมืองหลักให้เกิดความกระจายในภูมิภาค รวมถึงเชื่อมโยงกับเมืองรองให้มีบทบาทสำคัญรองรับเทรนด์ที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน”
ดร. ชวพล จริยาวิโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงบริบทการแข่งขัน และจุดยืนของประเทศไทยในการพัฒนาด้านนวัตกรรมว่า “เราเห็นความแตกต่างระหว่างช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 ที่คนไทยรู้สึกว่าเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเรื่องไกลตัว แต่เมื่อผ่านสถานการณ์ดังกล่าว เห็นได้ว่าคนไทยคุ้นเคยและมีความพร้อมกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากยิ่งขึ้น ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทุกประเทศเริ่มขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจดิจิทัล รวมทั้งนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาผสานการทำงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยที่ผ่านมาเศรษฐกิจดิจิทัลโตเร็วกว่าเศรษฐกิจการค้าดั้งเดิมถึง 25 เท่า โดยภายในปี 2030 หัวเว่ยคาดการณ์ว่า 30% ของจีดีพีจะมาจากภาคเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งเทรนด์ของการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลต่อจากนี้จะเป็นไปใน 3 ด้านหลัก โดยด้านแรกคือ เรื่อง IoT (Internet of Things) ที่อุปกรณ์ต่าง ๆ จะเชื่อมต่อถึงกันและมีการโต้ตอบกันอย่างอัตโนมัติมากขึ้น ด้านที่สองคือ เทคโนโลยีการเชื่อมต่อ 5G ที่จะทำให้อัตราการส่งข้อมูลสูงถึงระดับกิกะบิตต่อวินาที และมีค่าความหน่วงน้อยกว่า 4G ถึง 20 เท่า และด้านที่สามคือ การที่เทคโนโลยีชาญฉลาดจะไปอยู่บนแพลตฟอร์มคลาวด์ คอมพิวติ้งทั้งหมด ช่วยให้ทุกคนบนโลกเข้าถึงเทคโนโลยีได้ ซึ่งในประเทศไทยก็ได้มีการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ทำรถพยาบาล 5G ภาคการเกษตรอัจฉริยะ และท่าเรืออัจฉริยะให้เห็นกันแล้ว”
ดร. ชวพล ยังกล่าวเสริมว่า นอกเหนือจากภาคการผลิต หัวเว่ยยังให้ความสำคัญในภาคการท่องเที่ยวเช่นเดียวกัน ซึ่งได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเสนอไอเดีย แบ่งปันข้อมูลความรู้ และเทคโนโลยีในการทำงานร่วมกัน เพราะเทคโนโลยีดิจิทัลสามารถสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวใหม่ๆ ให้แก่นักท่องเที่ยว พร้อมทั้งยกระดับการบริการให้ดียิ่งขึ้น และด้วยความสามารถของเทคโนโลยีดิจิทัลที่กระจายการเข้าถึงได้จากทุกที่ทุกเวลา ทำให้ผู้ประกอบการไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือขนาดกลางสามารถเข้าสู่กลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น สร้างโอกาสได้มากยิ่งขึ้น
ศาสตราจารย์ ดร. วิลาศ นิติวัฒนานนท์ คณบดี คณะสิ่งแวดล้อมทรัพยากรและการพัฒนา สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) กล่าวถึงการพัฒนาด้านความยั่งยืนของประเทศในปัจจุบันว่า “ความยั่งยืนเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนมากและเชื่อมโยงในหลายระดับ โดยมีภูมิหลังมาจากความท้าทายในการทำให้เกิดความสมดุลด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อาทิ การพัฒนาด้านอุตสาหกรรมที่จะกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เพราะสิ่งที่ตามมาคือการปล่อยก๊าซคาร์บอนมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นความท้าทายที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญขณะนี้ โดยมีการส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยว การผลิต ระบบคมนาคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ซึ่งการพัฒนานั้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 มุมมองคือ ผลกระทบเชิงลบ และผลกระทบเชิงบวก ทั้งนี้ เป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะออกมาตรการที่ทำให้เกิดผลกระทบเชิงลบน้อยลง ขณะเดียวกันก็เพิ่มผลกระทบเชิงบวกให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”
ดร. ชวพล กล่าวเพิ่มเติมถึงความสำคัญสำหรับอีโคซิสเต็มดิจิทัลคือ การสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความสามารถด้านดิจิทัลของบุคลากรในประเทศ ทั้งในระดับนักเรียนและคนทำงาน เพื่อการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาหัวเว่ยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นพิเศษด้วยการจับมือกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำโครงการให้ความรู้และฝึกทักษะด้านดิจิทัล มอบโอกาสการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลในระดับนักเรียนนักศึกษา เตรียมความพร้อมกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน รวมถึงสนับสนุนเทคโนโลยีโครงการที่บ่มเพาะธุรกิจสตาร์ทอัพให้มีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยให้คนไทยและภาคธุรกิจของประเทศเกิดความรู้ความเข้าใจและนำมาต่อยอดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หัวเว่ย ในฐานะบริษัทชั้นนำระดับโลกด้านเทคโนโลยีดิจิทัล มุ่งมั่นนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ที่หลากหลาย และพร้อมร่วมสนับสนุนเทคโนโลยีดิจิทัลของหัวเว่ยในการวางผังนโยบายของประเทศไทย เพื่อการเชื่อมโยงและการใช้พื้นที่ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยั่น รวมถึงช่วยกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจต่อผู้ผลิต ผู้ประกอบการอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลก
ที่มา: คาร์ลบายร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์