สมาคมจีเอสเอ็มเผย การแก้ไข ‘ความเหลื่อมล้ำด้านการใช้งาน’ บนโทรศัพท์มือถือคือกุญแจสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

รายงานประจำปี GSMA SDG Impact Report ครั้งที่ 7 แสดงให้เห็นว่าความครอบคลุมทางดิจิทัลคือศูนย์กลางแห่งความพัฒนาของ SDG

จีเอ็สเอ็มเอ (GSMA) หรือสมาคมจีเอสเอ็ม เปิดเผยรายงานประจำปีภายใต้หัวข้อ “ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือ: เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Mobile Industry Impact Report: Sustainable Development Goals) ครั้งที่ 7 โดยระบุว่า การกำจัด ‘ความเหลื่อมล้ำด้านการใช้งาน’ ของอินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือควรเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกสำหรับประเทศที่ต้องการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ขององค์การสหประชาชาติ (UN)

รายงานฉบับนี้แสดงให้เห็นว่า 6 ปีให้หลังการกลายเป็นอุตสาหกรรมแรกที่มุ่งมั่นใน SDG อุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือยังคงเพิ่มการมีส่วนร่วมในการบรรลุเป้าหมายทั้ง 17 ประการอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือจะมีความมุ่งมั่นบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งปี 2573 อย่างต่อเนื่อง แต่หนทางโดยรวมยังคงยาวไกลนัก

ความขัดแย้งทั่วโลก การขาดแคลนอาหารและพลังงานที่เพิ่มขึ้น ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และผลกระทบอย่างต่อเนื่องของโควิด-19 กำลังสร้างความท้าทายอย่างมีนัยสำคัญต่อความก้าวหน้าของ SDG ทั่วโลก รายงานฉบับนี้ได้เน้นย้ำถึงบทบาทที่สำคัญของการเชื่อมต่อผ่านระบบมือถือและเทคโนโลยีที่เชื่อมต่อกันในการเป็นตัวขับเคลื่อนและสนับสนุนประเทศต่าง ๆ เพื่อ ‘สร้างอนาคตที่ดีกว่าเดิม’ ขณะแสวงหาการฟื้นตัวและภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจ

ในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง โทรศัพท์มือถือเป็นวิธีหลักในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต การลงทุนของผู้ให้บริการมือถือในโครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายช่วยลด ‘ความเหลื่อมล้ำด้านความครอบคลุม'[1] สำหรับเครือข่ายบรอดแบนด์บนมือถือจากเดิมที่มีถึง 1.4 พันล้านคนในปี 2558 เหลือเพียง 400 ล้านคนในปี 2565 ซึ่งมีส่วนสนับสนุนตัวชี้วัด SDG ต่าง ๆ อย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ผู้คนราว 3.2 พันล้านคนซึ่งอยู่ในเครือข่ายยังคงไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการเชื่อมต่อนี้ได้เนื่องจากขาดทักษะ, ความรู้, ความสามารถในการชำระเงิน, เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง และปัจจัยอื่น ๆ ส่งผลให้ ‘ความเหลื่อมล้ำด้านการใช้งาน’ นี้กำลังก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว และเป็นหนึ่งใน ‘อุปสรรค’ ที่ใหญ่ที่สุดต่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลก

รายงานฉบับนี้แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่สามารถเข้าถึงเครือข่ายที่รวดเร็วและเชื่อถือได้ สามารถเชื่อมต่อกับเพื่อนและครอบครัว ทำงานจากระยะไกล เข้าถึงบริการด้านการศึกษาและบริการด้านสุขภาพ สร้างธุรกิจใหม่ ๆ ยกระดับประสิทธิภาพ และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างไร ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงสิ่งเหล่านี้จะเสี่ยงได้รับผลกระทบจากภาวะดิสรัปชั่นทางเศรษฐกิจและสังคมมากที่สุด และเสี่ยงต่อการถูกทิ้งไว้ข้างหลังมากขึ้นเมื่อโลกกำลังฟื้นตัวหลังวิกฤตโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อบริการออนไลน์กลายเป็นส่วนสำคัญในสังคมมากขึ้น

คุณโฆเซ-มาเรีย อัลวาเรซ พัลเลตต์ (Jose-Maria Alvarez Pallete) ซีอีโอของเทเลโฟนิกา (Telefonica) และประธานสมาคมจีเอสเอ็ม กล่าวว่า ในโลกที่ความขัดแย้ง ความไม่มั่นคงด้านอาหาร และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจกำลังเป็นประเด็นสำคัญอันดับต้น ๆ ของโลก โทรศัพท์มือถือจัดว่ามีบทบาทสำคัญมากยิ่งกว่าที่เคย รายงานฉบับนี้ของ GSMA แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่วงการสื่อสารได้สร้างขึ้นเพื่อรับมือกับความท้าทายมหาศาลเหล่านี้ โดยทำหน้าที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาสำหรับการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก และนำเสนอความก้าวหน้าที่มีความหมาย”

คุณแม็ตส์ แกรนริด (Mats Granryd) ผู้อำนวยการสมาคมจีเอสเอ็ม กล่าวว่า การประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่เมืองนิวยอร์กในสัปดาห์นี้ เป็นเครื่องเตือนใจอันทรงพลังถึงความสำคัญของการดำเนินการร่วมกันเพื่อเผชิญหน้ากับความท้าทายระดับโลกที่เพิ่มสูงขึ้น SDG ยังคงเป็นเข็มทิศนำทางสำหรับความก้าวหน้าระดับโลก และภาคอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือมีความภูมิใจที่ได้เป็นทั้งผู้สนับสนุนในแผนการเหล่านี้ และเป็นผู้ขับเคลื่อนสำคัญในการส่งมอบเป้าหมายเหล่านี้”

“การเชื่อมต่อผ่านโทรศัพท์มือถือและความครอบคลุมทางดิจิทัลเป็นเครื่องมือสำคัญในการบรรลุเป้าหมายอันทะเยอทะยานในวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2573 และช่วยให้โลกสามารถเผชิญกับปัญหาความไม่เท่าเทียมกัน ความยากจน และความขัดแย้งต่าง ๆ ได้ เราขอเรียกร้องให้ผู้กำหนดนโยบายจัดการกับอุปสรรคที่จำกัดการลงทุนของภาคเอกชนด้านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่มีคุณภาพสูง และร่วมกับเราในการลด ‘ความเหลื่อมล้ำด้านการใช้งาน’ ที่เป็นตัวฉุดผู้คนจำนวนมากให้ไม่สามารถใช้ชีวิตตามศักยภาพในโลกที่เชื่อมต่อกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ได้อย่างเต็มที่ พวเราสามารถใช้ประโยชน์จากพลังของการเชื่อมต่อในฐานะตัวเร่งให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางสังคม และความครอบคลุมทางดิจิทัล ยกระดับชีวิตผู้คนนับล้านทั่วโลก”

การมีส่วนร่วมใน SDG ของอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือ

  • อุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือมีส่วนในการสนับสนุน SDG ทั้ง 17 ประการเพิ่มขึ้นในปี 2564 โดยมีคะแนนเฉลี่ยที่ 53 เพิ่มขึ้นจาก 49 ในปี 2563 และ 32 ในปี 2558 ซึ่งหมายความว่า อุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือประสบความสำเร็จอยู่ที่ 53% ในแง่ของการปฏิบัติเพื่อนำไปสู่ SDG ไฮไลต์อื่น ๆ ยังประกอบด้วย:
    – ขณะนี้มี SDG จำนวน 11 ประการที่อุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือมีคะแนนการมีส่วนร่วมสูงกว่า 50 คะแนน เทียบกับ 6 ประการในปี 2563 และ 0 ประการในปี 2558
    – อุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือยังคงบรรลุคะแนนสูงสุดใน SDG ประการที่ 9: อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐานที่ขับเคลื่อนโดยการเข้าถึงเครือข่ายมือถือ และการเข้าใช้บริการอินเทอร์เน็ตบนมือถือ
    – ด้านที่ทำได้ดีขึ้นมากที่สุดของอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือ ได้แก่ ใน SDG ประการที่ 1: การปราศจากความยากจน, SDG ประการที่ 2: การปราศจากความหิวโหย และ SDG ประการที่ 4: การศึกษาที่มีคุณภาพ ทั้งนี้เนื่องมาจากสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในกิจกรรมส่งเสริมการใช้ชีวิต เช่น การเข้าถึงบริการของรัฐ การสมัครและหางาน และการรับข้อมูลการศึกษาสำหรับตนเองหรือบุตรหลาน

ดาวน์โหลดรายงานได้ที่ https://www.gsma.com/betterfuture/2022sdgimpactreport

หมายเหตุสำหรับบรรณาธิการ:

  • ภายในสิ้นปี 2564 ผู้คนจำนวน 5.3 พันล้านคน (66% ของประชากรโลก) มีโทรศัพท์มือถือ ในขณะที่ผู้คนจำนวน 4.3 พันล้านคน (55% ของประชากรโลก) สามารถใช้อินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือ ครอบคลุมสมาชิกอินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือกว่า 3.3 พันล้านรายในประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง (LMIC) ซึ่งใช้โทรศัพท์มือถือเป็นบริการหลัก และในหลายกรณีเป็นเพียงช่องทางเดียวที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้
  • ความเหลื่อมล้ำด้านการใช้งาน‘ – ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ของเครือข่ายบรอดแบนด์แต่ยังไม่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ – มีจำนวนน้อยลงเป็นปีที่สามติดต่อกัน แต่ยังคงคิดเป็นจำนวนประชากรกว่า 3.2 พันล้านคน อุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือและพันธมิตรยังคงจัดการกับสาเหตุของความเหลื่อมล้ำด้านการใช้งาน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมักเกี่ยวกับการขาดความสามารถในการชำระเงิน ความรู้และทักษะ ความเกี่ยวข้อง นอกเหนือจากข้อกังวลด้านความปลอดภัย
  • การใช้งานบริการบนโทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2564 เนื่องจากผู้ใช้โทรศัพท์มือถือหันมาใช้บริการออนไลน์มากขึ้น
    – 
    ผู้คน 3.5 พันล้านคน (67% ของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ) ใช้โทรศัพท์ของตนเพื่อวิดีโอคอลในปี 2564 เพิ่มขึ้น 330 ล้านคนจากปี 2563 ช่วยให้สามารถทำงานทางไกลและกิจกรรมออนไลน์อื่น ๆ ได้
    – ผู้คน 2.5 พันล้านคน (48% ของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ) ใช้โทรศัพท์เพื่อเข้าถึงข้อมูลการศึกษาสำหรับตนเองหรือบุตรหลาน เพิ่มขึ้น 410 ล้านคนจากปี 2563
    – ผู้คน 2.1 พันล้านคน (41% ของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ) ใช้โทรศัพท์เพื่อรักษาหรือติดตามสุขภาพ เพิ่มขึ้น 270 ล้านคนจากปี 2563
  • การใช้งานบริการบนโทรศัพท์มือถือยังคงมีจำนวนน้อยในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉลี่ยแล้ว ช่องว่างระหว่างการใช้บริการบนโทรศัพท์มือถือในประเทศที่มีรายได้สูงกับ LMIC อยู่ที่ 17 จุดเปอร์เซ็นต์ ซึ่งตอกย้ำถึงความสำคัญของความพยายามของผู้ให้บริการในการนำเสนอเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่น และยกระดับเครือข่ายเพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ ที่ต้องการการเชื่อมต่อที่มีคุณภาพ
  • อุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องในการเปิดเผยข้อมูลผลกระทบต่อสภาพอากาศ และการกำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อยมลพิษ โดยในสิ้นปี 2564 ผู้ประกอบการจำนวน 66% ตามจำนวนการเชื่อมต่อ และ 82% ตามจำนวนรายได้ มีการเปิดเผยผลกระทบต่อสภาพอากาศ ในขณะที่ 34% ของผู้ประกอบการตามจำนวนการเชื่อมต่อ และ 44% ตามจำนวนรายได้ ได้ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593
  • เทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือและดิจิทัลสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงเพียง 40% ของจำนวนที่จำเป็นตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2573 โดยอุตสาหกรรมที่การปล่อยมลพิษมากที่สุดได้แก่อุตสาหกรรมการผลิต, เชื้อเพลิงและพลังงาน, การขนส่ง และการก่อสร้างอาคาร คิดเป็น 80% ของการปล่อยมลพิษทั่วโลก
  • มีการเติบโตอย่างมากในการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนในภาคส่วนอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือ ชี้ให้เห็นว่าผู้ประกอบการได้รับเงินทุนเพิ่มขึ้นบนพื้นฐานของการบรรลุเป้าหมายทางสังคมและสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากเป้าหมายทางการเงินเพียงอย่างเดียว
  • เมื่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีความชาญฉลาดและตระหนักถึงข้อเรียกร้องด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) มากขึ้น แนวทางที่มีประสิทธิภาพและสม่ำเสมอในการวัดผลและการสื่อสารจึงมีความสำคัญมากขึ้นกว่าที่เคย สมาคมจีเอสเอ็มได้เปิดตัว ESG Metrics for Mobile ซึ่งเป็นกรอบการรายงานด้าน ESG ของอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือครั้งแรกที่ประกอบด้วยดัชนีชี้วัดความสำเร็จ (KPI) เฉพาะอุตสาหกรรมจำนวน 10 รายการ โดย KPI เหล่านี้จะช่วยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นเกี่ยวกับรายละเอียดและบริบทของอุตสาหกรรม และสร้างโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่สอดคล้องกันมากขึ้น

เกี่ยวกับสมาคมจีเอสเอ็ม

จีเอสเอ็มเอ (GSMA) หรือสมาคมจีเอสเอ็ม เป็นองค์การระดับโลกที่รวมระบบนิเวศการสื่อสารเคลื่อนที่ (mobile ecosystem) เข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว เพื่อค้นพบ พัฒนา และส่งมอบนวัตกรรมที่เป็นพื้นฐานของการสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในเชิงบวก วิสัยทัศน์ของเราคือ การปลดล็อกพลังแห่งการเชื่อมต่อ เพื่อให้ผู้คน อุตสาหกรรม และสังคมเจริญรุ่งเรือง สมาคมจีเอสเอ็มเป็นตัวแทนของผู้ให้บริการมือถือและองค์กรต่าง ๆ ทั่วทั้งระบบนิเวศการสื่อสารเคลื่อนที่ ตลอดจนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง สมาคมจีเอสเอ็มให้บริการแก่สมาชิกในสามด้านใหญ่ ๆ ได้แก่ การเชื่อมต่อที่ดี บริการและโซลูชันสำหรับอุตสาหกรรม และการขยายขอบเขตการเข้าถึง ซึ่งรวมไปถึงการผลักดันนโยบาย การจัดการกับความท้าทายทางสังคมที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน การสนับสนุนเทคโนโลยีและความสามารถในการทำงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการสื่อสารเคลื่อนที่ ตลอดจนการจัดการประชุมที่ใหญ่ที่สุดในโลกสำหรับระบบนิเวศการสื่อสารเคลื่อนที่ ที่งาน MWC และ M360

กรุณาดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ gsma.com

สื่อมวลชนติดต่อ

ฝ่ายข่าวของ GSMA
อีเมล: [email protected]

[1] ‘ความเหลื่อมล้ำด้านความครอบคลุม’  หมายถึงผู้ที่อาศัยอยู่นอกเขตสัญญาณเครือข่ายบรอดแบนด์บนมือถือ

ที่มา:  พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์