บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด จับมือสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) สานต่อเฟส 2 ของ ‘โครงการพัฒนาทักษะดิจิทัลเพื่อการจ้างงาน’ เดินหน้าพัฒนาขีดความสามารถของแรงงานไทย ด้วยการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการสอบมาตรฐานสมรรถนะความสามารถด้านการใช้ดิจิทัล (Digital Literacy) เปิดสอบวันที่ 11, 16 และ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยตั้งเป้าหมายในการรองรับกลุ่มบุคคลทั่วไปและกลุ่มนักเรียนและนักศึกษาที่เพิ่งจบการศึกษาไม่เกินสองปีเป็นจำนวนทั้งหมด 1,000 คน พร้อมโอกาสในการรับใบประกาศนียบัตรเพื่อรับรองสมรรถนะความสามารถด้านการใช้ดิจิทัล เพื่อเพิ่มโอกาสในการจ้างงานในอนาคต โดยผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2565 ได้ที่นี่
ข้อมูลจากรายงานผลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับทักษะและการทำงานปี พ.ศ. 2564 (EIC Labor Survey 2021) เผยว่า แม้ว่าผู้ตอบแบบสอบถาม 56 เปอร์เซ็นต์จะได้พัฒนาทักษะในช่วงปีที่ผ่านมาไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงการพัฒนาทักษะของแรงงานยังมีความไม่เท่าเทียมกันอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มคนรายได้น้อยที่มีสัดส่วนของคนที่ได้พัฒนาทักษะน้อยกว่าคนรายได้สูงอย่างเห็นได้ชัด โดยกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามที่มีรายได้น้อยกว่า 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน มีสัดส่วนผู้ที่ได้พัฒนาทักษะในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาเพียง 40 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่กลุ่มผู้มีรายได้ที่มากกว่า 1 แสนบาทต่อเดือน มีสัดส่วนผู้ที่ได้พัฒนาทักษะสูงสุดถึง 69 เปอร์เซ็นต์
นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “เรายังคงเดินหน้าสานต่อโครงการพัฒนาทักษะดิจิทัลเพื่อการจ้างงานในเฟสที่ 2 ร่วมกับพันธมิตรของเราอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างสภาพแวดล้อมของตลาดแรงงานที่ใช้ทักษะให้มีความเท่าเทียมกันมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่อัตราการว่างงานยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากผลกระทบของสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา โดยเราเชื่อมั่นว่าการดำเนินงานร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) เพื่อเปิดทดสอบสมรรถนะความสามารถด้านการใช้ดิจิทัลของแรงงานไทยจะสร้างประโยชน์ให้กับผู้ประกอบอาชีพในการรับรองสมรรถนะบุคคลตามมาตรฐานอาชีพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดงาน ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการก็จะมีโอกาสในการเลือกบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถที่ตรงกับความต้องการขององค์กรมากยิ่งขึ้น และนำไปสู่การพัฒนาธุรกิจให้เติบโตยิ่งขึ้นในอนาคต”
นอกจากนี้ รายงานผลสำรวจดังกล่าวยังได้ชี้ให้เห็นว่ากลุ่มลูกจ้างเอสเอ็มอีก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มแรงงานที่ได้รับโอกาสในการฝึกทักษะน้อยกว่ากลุ่มลูกจ้างบริษัทใหญ่หรือลูกจ้างของภาครัฐในอัตราที่สูงมาก โดยมีเพียง 36 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มลูกจ้างเอสเอ็มอีที่ได้รับการพัฒนาทักษะผ่านคอร์สฝึกอบรมที่นายจ้างจัดหาให้ ในขณะที่กลุ่มลูกจ้างบริษัทเอกชนขนาดใหญ่และกลุ่มลูกจ้างภาครัฐมีโอกาสในการเข้าถึงการพัฒนาทักษะสูงถึง 69 เปอร์เซ็นต์ สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการด้านการสนับสนุน ให้ทุกกลุ่มได้เข้าถึงโอกาสในการพัฒนาทักษะอย่างเท่าเทียม เพื่อปรับตัวให้พร้อมสำหรับการทำงานในยุคที่ธุรกิจถูกปฏิรูปด้วยดิจิทัล
นายสุรพล พลอยสุข ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวว่า “การพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลแก่บุคลากรภาครัฐและภาคเอกชนในทุกสาขาอาชีพให้มีความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญในระดับที่ได้มาตรฐานสากล จะผลักดันให้เกิดการจ้างงานที่มีคุณภาพและการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้า ในยุคเศรษฐกิจและสังคมที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อน โดยการมอบใบประกาศนียบัตรเพื่อรับรองสมรรถนะความสามารถด้านการใช้ดิจิทัลให้กับผู้ที่ผ่านการทดสอบจะเป็นเครื่องมือที่ตอบโจทย์ในการสร้างมาตรฐานทางด้านไอทีสำหรับพลเมืองในยุคดิจิทัล และมีมาตรฐานที่สามารถตอบสนองกับความหลากหลายของทุกกลุ่มอายุและทุกกลุ่มอาชีพในปัจจุบัน โดยสามารถนำมาใช้รับรองความรู้ความสามารถในการใช้คอมพิวเตอร์พื้นฐานซึ่งเป็นทักษะที่มีความจำเป็น เพื่อปูทางสำหรับการสอบใบประกาศนียบัตรเฉพาะด้านในระดับสูงต่อไป”
การสอบมาตรฐานสมรรถนะความสามารถด้านการใช้ดิจิทัล (Digital Literacy) ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 11, 16 และ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2565 เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานภายใต้เฟส 2 ของ ‘โครงการพัฒนาทักษะดิจิทัลเพื่อการจ้างงาน’ โดย สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) จะให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมทดสอบมูลค่า 500-600 บาทต่อคน แก่กลุ่มบุคคลทั่วไปและกลุ่มนักเรียนและนักศึกษาที่เพิ่งจบการศึกษาไม่เกินสองปีเป็นจำนวนทั้งหมด 1,000 คน โดยผู้ที่สนใจ จะมีค่าใช้จ่ายแค่เพียงในส่วนของการสมัครสอบ 150 บาทต่อคน สำหรับการทดสอบสมรรถนะความสามารถด้านการใช้ดิจิทัล (Digital Literacy) ในระดับ 2 ซึ่งครอบคลุมเรื่องการใช้โปรแกรมประมวลผลคำ การใช้โปรแกรมตารางคำนวณ การใช้โปรแกรมนำเสนอ การใช้งานคอมพิวเตอร์ การใช้งานอินเทอร์เน็ต และการใช้งานเพื่อความมั่นคงปลอดภัย โดยผู้ที่ผ่านการทดสอบดังกล่าวจะได้รับใบประกาศนียบัตรเพื่อรับรองสมรรถนะความสามารถด้านการใช้ดิจิทัล เพื่อเพิ่มโอกาสในการจ้างงานในยุคที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล สำหรับผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2565 ได้ที่นี่
นับตั้งแต่สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรของ ‘โครงการพัฒนาทักษะดิจิทัลเพื่อการจ้างงาน’ ในปี พ.ศ. 2564 จนถึงปัจจุบัน ทางสถาบันฯได้นำเนื้อหาการฝึกอบรมแบบออนไลน์ที่ไมโครซอฟท์ได้จัดทำขึ้นทั้งหมด 11 หลักสูตร ไปใช้พัฒนาทักษะเชิงดิจิทัลของประชาชนทั่วไปผ่านระบบการเรียนรู้สมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาฃีพและคุณวุฒิวิชาชีพอิเล็กทรอนิกส์ (TPQI E-Training) โดยในปัจจุบัน มีผู้เข้าเรียนหลักสูตรต่าง ๆ เป็นจำนวน 6,859 ครั้ง และสำเร็จการฝึกอบรม 3,594 ครั้ง โดยผู้ที่สนใจสามารถเรียนรู้หลักสูตรเพิ่มเติมได้ที่นี่ และยังสามารถเรียนหลักสูตรเพิ่มเติมจากภาคีอื่นๆ ที่ร่วมโครงการพัฒนาทักษะดิจิทัลเพื่อการจ้างงานได้ดังต่อไปนี้
- สถาบันพัฒนาบุคลากรดิจิทัล กระทรวงแรงงาน: ฝึกทักษะออนไลน์หมวดโปรแกรมคอมพิวเตอร์และทักษะดิจิทัล
- JobsDB: https://cloud.th.jobsdbmail.com/up-level-vdo
- สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa): https://www.youtube.com/depaThailand และwww.hackathailand.com
- ยูเนสโก: https://lll-olc.net/th/
- มูลนิธิกองทุนไทย: https://thaingo.org/content/detail/5664
ที่มา: ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทิจีส์ ประเทศไทย