เจ เวนเจอร์ส นำ JNFT จับมือคอมมูนิตี้ NFT ประเทศไทย ร่วมสร้างสรรค์ “แสตมป์ NFT แรกของอาเซียน” ของไปรษณีย์ไทย

เจ เวนเจอร์ส นำ JNFT จับมือคอมมูนิตี้ NFT ประเทศไทย ร่วมสร้างสรรค์ “แสตมป์ NFT แรกของอาเซียน” ของไปรษณีย์ไทย สร้างปรากฏการณ์เชื่อมโยงแสตมป์สู่โลกดิจิทัล

บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด ผู้พัฒนา JNFT Marketplace แพลตฟอร์ม NFT สัญชาติไทย ดึงเหล่า NFT Creator เมืองไทย สร้างสรรค์เชื่อมโยงแสตมป์สู่โลกดิจิทัล ร่วมฉลองวาระการก้าวสู่ปีที่ 140 ของไปรษณีย์ไทย กับแสตมป์ชุด “คริปโทแสตมป์” นับเป็นแสตมป์ NFT (Non-Fungible Token) ครั้งแรกของอาเซียน

นายวรพจน์ ธาราศิริสกุล Chief of Technology บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวถึงการเป็นผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม JNFT เพื่อสร้างสรรค์ NFT Stamp ให้กับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ภายใต้แสตมป์ชุด “คริปโทแสตมป์” นี้ว่า “เจ เวนเจอร์สในฐานะที่เป็นผู้สร้างระบบ infrastructure ด้าน NFT เรามีความพร้อมทั้งในระบบบล็อกเชนที่ได้พัฒนาขึ้นมา คือ JFIN Chain และมี JNFT Marketplace ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มซื้อ-ขาย NFT ด้วยเทคโนโลยีที่เรามีทำให้เราได้รับความไว้วางใจให้ออกแบบระบบการใช้งาน สำหรับบุคคลทั่วไปที่สนใจสะสมแสตมป์ NFT หรือแม้กระทั่งผู้ใช้งานคริปโทเองก็สามารถเข้าถึงบล็อกเชนเทคโนโลยีได้สะดวก ด้วยการเชื่อมต่อกับกระเป๋าคริปโทอย่าง Metamask เพื่อรับ-ส่ง หรือซื้อ-ขาย NFT ดังกล่าว อีกทั้งเรายังได้พาร์ตเนอร์ที่แข็งแกร่ง ชุมชนคริปโท และนักสร้างสรรค์งาน NFT เมืองไทยที่มีชื่อเสียงไปไกลถึงระดับโลกจำนวนมากมาร่วมสร้างสรรค์งานในครั้งนี้ด้วย”

โดย Crypto Influencer และ นักสร้างสรรค์ NFT  ที่เข้าร่วมสร้างปรากฏการณ์ “1st NFT Stamp in ASEAN with Thailand NFT Communities” ฉลองเข้าสู่ 140 ปี กิจการไปรษณีย์ไทย ได้แก่ BitToon, Stocker Day, พ่อบ้านคริปโต, I Learn A Lot, เทรดเดอร์หน้าหมีแต่ชอบหมา, Naga Dao, MetaWarden, PunkKub, ApeKub, Zmile MonkeyZ Club, Moo Monster, Munins, Hotel de Mentia, Lazyman, Jaybird, Jiger, Apetimism, และ The Save Planet ซึ่งต่างก็ได้นำเอาคาแรกเตอร์อันมีเอกลักษณ์ของแต่ละคอมมูนิตี้มาออกแบบสร้างสรรค์บนแผ่นแสตมป์ของไปรษณีย์ไทยที่มีองค์ประกอบโดดเด่นด้วยสีแดง ลายเส้นตู้ไปรษณีย์ และตราสัญลักษณ์  สื่อถึงความร่วมมือระหว่างไปรษณีย์ไทยกับคอมมูนิตี้ NFT ประเทศ ไทย ในรูปแบบการสร้างงาน NFT Art เกิดเป็นชิ้นงาน NFT ที่ไม่ซ้ำกันจำนวนถึง 50,000 ชิ้น ด้วยความแตกต่างของแต่ละชิ้นงาน จึงนับได้ว่าเป็นผลงานที่เพียงชิ้นเดียวในโลก 

นอกจากนี้ ความพิเศษของแสตมป์ชุด “คริปโทแสตมป์” ถือเป็นครั้งแรกของการเปิดโลกคู่ขนานแสตมป์ไทยที่เป็นแบบ Physical สู่ชิ้นงาน NFT ซึ่งทุกชิ้นถูกเก็บอยู่ในบล็อกเชนของ JFIN Chain ทำให้มูลค่าซื้อขายแลกเปลี่ยนไม่ต่างจากการสะสมแสตมป์แบบดั้งเดิม

สำหรับแสตมป์ชุดพิเศษนี้มีจำนวนจำกัดเพียง 50,000 ชุดเท่านั้น ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปจองแสตมป์ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ Thailandpostmart ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปในราคา 140 บาทต่อชุด และจัดส่งแสตมป์ รอบแรกในวันที่ 14 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป

ที่มา: ชมฉวีวรรณ