ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตไทยเติบโตมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จาก 16 ล้านคนในปี 2012 เป็น 54.5 ล้านคน ในปี 2022[1] สะท้อนให้เห็นว่า เทคโนโลยีดิจิทัลและดิจิทัลแพลตฟอร์มได้เข้ามาแทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันและมีบทบาทกับสังคมไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในการสร้างโอกาสใหม่ ๆ ในการทำธุรกิจให้กับผู้ประกอบการรายย่อย การพัฒนาการเรียนการสอน รวมถึงการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนหลากหลายกลุ่มในสังคมของเรา
ในขณะเดียวกัน Sea ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์มชั้นนำ ได้แก่ การีนา (Garena) ช้อปปี้ (Shopee) และซีมันนี่ (SeaMoney) ได้เข้ามาดำเนินธุรกิจและเติบโตควบคู่กับเศรษฐกิจดิจิทัลและสังคมไทยมาตลอด 10 ปี ด้วยความตั้งใจในการยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยด้วยเทคโนโลยี พร้อมจับมือกับพันธมิตรมากมายเพื่อผสานความเชี่ยวชาญหลากหลายในการพัฒนาสังคมไทยให้ทั่วถึงและครอบคลุมยิ่งขึ้น
เมื่อเร็ว ๆ นี้ Sea (ประเทศไทย) ได้จัดงาน Sea Story 2022: Digital Technology for All เผยเรื่องราวความสำเร็จและฉายภาพอนาคตของ Sea (ประเทศไทย) พร้อมเปิดตัวแพลตฟอร์ม Sea Academy เสริมทักษะดิจิทัลให้คนไทยเดินหน้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างยั่งยืน
นางสาวมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) กล่าวว่า “ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา Sea (ประเทศไทย) ได้เข้าไปมีส่วนในการเติมเต็มชีวิตประจำวันของผู้บริโภคและส่งเสริมการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการรายย่อยด้วยเทคโนโลยี ปัจจุบันบริการของเราเข้าถึงคนไทยหลายล้านคนทั่วประเทศ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง”
ภายในงานยังมีการเสวนาในหัวข้อ “Inclusive World with Technology” นำโดย ดร. ศรุต วานิชพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส Sea (ประเทศไทย) พร้อมด้วยพาร์ทเนอร์ทั้ง 3 ท่าน ได้แก่ คุณประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ คุณชลิพา ดุลยากร Co-Founder, insKru และคุณธนากร พรหมยศ CEO และ Co-Founder บริษัท ยังแฮปปี้ จำกัด ซึ่งมาร่วมให้มุมมองการพัฒนาสังคมไทยจากความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันไปในแต่ละด้าน รวมถึงความท้าทายและโอกาสที่เกิดจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัล
หนุนคนไทยเข้าถึงประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างทั่วถึง
ดร. ศรุต วานิชพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส Sea (ประเทศไทย) ได้ให้มุมมองในฐานะบริษัทเทคโนโลยีที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปสนับสนุนสังคมไทยแต่ละด้านให้เปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาเทคโนโลยีได้สร้างความเปลี่ยนแปลงมากมาย อินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทกับทุกภาคส่วนและกับผู้คนทุกวัย การใช้งานไม่ได้มีจุดประสงค์เพียงเพื่อความบันเทิงหรือพักผ่อนหย่อนใจเท่านั้น แต่ยังขยายไปถึงการใช้งานหลากหลายด้านในชีวิตประจำวัน เช่น การซื้อของออนไลน์ การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านออนไลน์ การเรียนและการทำงาน เป็นต้น
“ถ้าพูดถึง Inclusive World with Technology ต้องทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง สิ่งสำคัญ คือ คำว่า ‘ทั่วถึง’ หมายถึง ทุกคน จากทุกคอมมูนิตี้และทุกภาคส่วนในสังคม เราต้องสนับสนุนให้เขาสามารถนำเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา Sea (ประเทศไทย) ได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทยด้วยแพลตฟอร์มต่าง ๆ ของเรา เช่น การใช้แพลตฟอร์ม Shopee เป็นเครื่องมือพา SMEs ไทย ไปเจอกับตลาดใหม่ ๆ โดยไม่มีข้อจำกัดด้านระยะทาง กระตุ้นการซื้อขายสินค้าข้ามภูมิภาค ทำให้เกิดการกระจายรายได้มากขึ้น ล่าสุดเพิ่งเปิดโครงการ SIP (Shopee International Program) เพื่อช่วยเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้ SMEs ไทย นำสินค้าไปขายในตลาดต่างประเทศได้ โดย Shopee ช่วยสนับสนุนการจัดการร้านค้าและการจัดส่งสินค้าไปต่างประเทศ ปัจจุบันเริ่มแล้วที่ประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ส่วนในด้านบริการการเงินดิจิทัล เราก็มุ่งสนับสนุนคนกลุ่ม Unserved และ Underserved ให้เข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น ผ่าน ShopeePay ซึ่งเป็น Mobile Wallet และบริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล ทั้งสำหรับบุคคลทั่วไปและผู้ประกอบการรายย่อย” ดร. ศรุต กล่าว
“การเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจให้ผู้คนสามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และถูกต้อง ก็เป็นอีกสิ่งที่ Sea (ประเทศไทย) ให้ความสำคัญ เราจึงมีการจัดทำโครงการสร้างเสริมทักษะดิจิทัลออกมามากมาย โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลากหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย กลุ่มเยาวชน-คุณครู และกลุ่มวัยเก๋าที่อาจมีปัญหาในการปรับตัวเข้าสู่โลกยุคดิจิทัล นอกจากนี้ เรายังร่วมมือกับพันธมิตรมากมาย ในการนำความรู้ไปสู่ผู้คนแต่ละกลุ่ม เช่น โครงการ Digital Opportunities for Talents (DOTs) ที่ทำงานร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อนำความรู้ด้านการบริหารจัดการทางการเงินไปสู่กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย โครงการ Learning Arena ภายใต้ความร่วมมือกับ insKru ที่มุ่งเทรนด์คุณครูให้สามารถนำ Gamification และ Game-based Learning ไปเพิ่มประสิทธิภาพให้การเรียนการสอนได้ หรือการจับมือกับ YoungHappy และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เพื่อจัดทำ “Happy Learn – ช้อปง่ายขายคล่องที่ช้อปปี้ ฉบับวัยเก๋า” หลักสูตรอีคอมเมิร์ซครั้งแรกสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ เป็นต้น” ดร. ศรุต กล่าวเสริม
ในโอกาสนี้ Sea (ประเทศไทย) ยังได้เปิดตัว Sea Academy ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมความรู้หลากหลายด้านจากโครงการต่าง ๆ ที่ Sea ทำ ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกิจในยุคออนไลน์ การเงินดิจิทัล และทักษะสำหรับอาชีพในวงการเกมและอีสปอร์ต ซึ่งทุกคนสามารถเข้าถึงความรู้ต่าง ๆ ได้อย่างอิสระผ่าน www.seaacademy.co
บทบาทของเทคโนโลยีในการขยายโอกาสสำหรับ SMEs
คุณประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ กล่าวว่า “วันนี้โลกหมุนเร็วและมีความแรง ส่งผลกระทบค่อนข้างมาก ทั้งด้านบวกและด้านลบ ทำให้เราทุกคนต้องปรับตัวอยู่เสมอ การเกิดขึ้นของวิกฤตโควิด-19 ทำให้หลายบริษัทพยายามปรับตัวด้านเทคโนโลยีมากขึ้น สรุปได้เป็น 3 ส่วน คือ 1. Digitization คือ การเปลี่ยนจากอนาล็อกไปสู่ดิจิทัล 2. Digitalization การเอาข้อมูลที่เป็นดิจิทัลไปใช้ประโยชน์ เช่น การทำ CRM หรือระบบ ERP เพื่อทำให้กระบวนการทำธุรกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น และ 3. Digital Transformation เพราะฉะนั้น เราต้องนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและคว้าโอกาสการเติบโตใหม่ ๆ ขณะเดียวกัน ต้องทำความเข้าใจกับเหตุการณ์รอบตัวทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่สามารถส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและเศรษฐกิจโดยรวมได้ เพื่อให้พร้อมรับมือกับปัจจัยภายนอกที่จะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นทั้งความเสี่ยงและโอกาส”
บทบาทของเทคโนโลยีในการเชื่อมโยงครูสู่ไอเดียพัฒนาการเรียนการสอน
คุณชลิพา ดุลยากร Co-Founder ‘insKru’ แพลตฟอร์มหรือคอมมูนิตี้ที่มีคุณครูกว่า 100,000 คน จากทั่วประเทศไทยมารวมตัวกันพัฒนาห้องเรียนที่ตอบโจทย์ทั้งเรื่องประสิทธิภาพและความสุขของผู้เรียน ได้ให้มุมมองว่า “สมัยก่อนครูมีบทบาทในการมอบความรู้ให้กับนักเรียนแต่ปัจจุบัน ช่องทางออนไลน์กลายเป็นอีกช่องทางที่สามารถมอบความรู้ให้กับนักเรียน ครูจึงต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง ครูยุคใหม่ต้องเป็นครูที่มีวิธีการจัดการที่หลากหลาย พร้อมเปิดโอกาสให้เด็กสามารถเรียนรู้ตามสไตล์ของตัวเอง แบบ Anytime, Anywhere ซึ่งเราได้นำเทคโนโลยีในรูปแบบแพลตฟอร์มนี้มาช่วยครูในการสร้างสรรค์คอนเทนต์การเรียนรู้ให้กับนักเรียน และจะเชื่อมโลกของการศึกษาให้กว้างขึ้น เราเชื่อว่าครูไทยมีศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ เมื่อทุกคนมารวมตัวกันจะเกิดนวัตกรรมการเรียนการสอนใหม่ ๆ ออกมาได้ ทั้งยังสามารถแบ่งปันไอเดียที่เป็น Best Practice ของตนให้กับเพื่อนครูอีกแสนคน เพื่อนำไปใช้ต่อในห้องเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศไทยด้วย”
บทบาทของเทคโนโลยีในการช่วยให้วัยเก๋าใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและมีคุณภาพยิ่งขึ้น
คุณธนากร พรหมยศ CEO และ Co-Founder บริษัท YoungHappy แพลตฟอร์มที่มุ่งส่งเสริมคุณภาพชีวิตของ Active Senior ไทย กล่าวว่า หากมองภาพใหญ่ในจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมด 14 ล้านคน มี 80% ที่ เรียกว่ากลุ่ม Active Senior ที่เหลือคือกลุ่มติดบ้านและติดเตียง เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่ที่เป็นผู้สูงวัย คือ คนที่ยังมีศักยภาพและกระตือรือร้นที่จะทำสิ่งต่าง ๆ อยู่เสมอ เพียงแต่ว่าบางคนอาจตามไม่ทันโลกที่เปลี่ยนแปลงไปและถูกทิ้งไว้ข้างหลัง สิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ของคนกลุ่มนี้ คือ ความเหงา และการเข้าถึงความรู้ ดังนั้น YoungHappy จึงต้องการสร้างคอมมูนิตี้ให้กับผู้สูงอายุ เพื่อให้เขาแอคทีฟตลอดเวลาและป้องกันไม่ให้พวกเขารู้สึกซึมเศร้าหรือไม่มีคุณค่า ปัจจุบัน สมาชิกของ YoungHappy ทั่วประเทศมีอยู่ 30,000 ท่าน พวกเขาสามารถเชื่อมโยงกันและเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ผ่านแอปพลิเคชัน และการมาพบปะกันผ่านกิจกรรมและเวิร์กช็อปต่าง ๆ ตามความสนใจของตนเอง
“การใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อสนับสนุนคุณภาพชีวิตของกลุ่ม Active Senior ในแบบของยังแฮปปี้ อยู่ภายใต้แนวคิดเปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง เพื่อให้ผู้สูงอายุสนุก มีคุณค่า พึ่งพาตัวเองได้ ครอบคลุมทั้งรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ โดยล่าสุดเราร่วมกับ Sea (ประเทศไทย) ปั้นผู้ประกอบการวัยเก๋า ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมาก และมีการต่อยอดโครงการนี้เป็นปีที่ 2 แล้ว” คุณธนากรกล่าว
ในขณะที่เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้ชีวิตประจำวันของเรามีความสะดวกสบาย ใช้ชีวิตได้ง่ายยิ่งขึ้น และตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์หลาย ๆ ด้านมากขึ้น แต่โลกของเทคโนโลยีก็เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ดังนั้น ทุกคนจึงจำเป็นต้องปรับตัวและเรียนรู้พัฒนาอยู่ตลอด เพื่อให้เท่าทันกับยุคดิจิทัลที่ไม่มีวันหยุดนิ่ง และได้รับผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นควบคู่กับการพัฒนาของเทคโนโลยี นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นในโลกยุคดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ที่มา: บีโอดับเบิลยู