เมื่อการผลิตแบบดั้งเดิมไม่สามารถตอบสนองความต้องการของธุรกิจการพิมพ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบงานพิมพ์ติดตั้งเครื่องพิมพ์ดิจิทัลระบบอิงก์เจ็ตแบบป้อนม้วนความเร็วสูงรุ่น Canon ColorStream 6700 Chroma โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานเปิดใช้งานเครื่องพิมพ์อย่างเป็นทางการ โดยมี คุณฮิโรชิ โยโกตะ ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด ร่วมแสดงความยินดี และคณะผู้บริหารร่วมเป็นสักขีพยาน โดยมีความเชื่อมั่นว่าเครื่องพิมพ์ดิจิทัลระบบอิงก์เจ็ตรุ่นใหม่จะช่วยเสริมประสิทธิภาพการพิมพ์ ลดต้นทุนทั้งในด้านขั้นตอนการทำงานและกำลังคน ตลอดจนช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้สำนักพิมพ์ฯ สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะงานพิมพ์ตามสั่ง (On demand) ที่ยอดพิมพ์ขั้นต่ำไม่สูงมาก เช่น งานพิมพ์หนังสือ รวมถึงงานพิมพ์ข้อสอบ และสิ่งพิมพ์รูปแบบเฉพาะอื่น ๆ
ศาสตราจารย์ ดร.อรัญ หาญสืบสาย ที่ปรึกษา สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ก่อนหน้านี้ทางสำนักพิมพ์ฯ ต้องพบความท้าทายในหลายๆ ด้าน เช่นด้านกำลังคน โดยในอีก 5 ปีข้างหน้า พนักงานฝ่ายผลิตจะเกษียณมากกว่า 10 คน และคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยสนใจการทำงานกับเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับการผลิตงานพิมพ์แบบดั้งเดิมเท่าใดนัก รวมถึงการส่งมอบงานพิมพ์ที่ล่าช้า ไม่ตรงตามกำหนดเวลา เนื่องจากกระบวนการผลิตแบบเดิมนี้มีการปฏิบัติงานหลายขั้นตอนและใช้เวลานาน และยังมีปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้อีกหลายอย่าง ทำให้ในปีที่ผ่านมาสำนักพิมพ์ฯ ผลิตงานและส่งมอบงานทันตามกำหนดได้เพียงร้อยละ 60 เท่านั้น”
“ความท้าทายทางธุรกิจที่มองข้ามไม่ได้คือ สัดส่วนงานที่รับเข้ามาต้องการพิมพ์จำนวนน้อย (Short Run) มีเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี โดยเฉพาะงานพิมพ์หนังสือตำราทางวิชาการจากทั่วประเทศ พบว่าจำนวนหัวเรื่อง (Title) ไม่ได้ลดลง แต่จำนวนการพิมพ์ต่องานลดลงเหลือเหลือเพียงเฉลี่ยประมาณ 800 เล่มต่องานเท่านั้น อาจจะไม่คุ้มในการลงทุนถ้ายังพิมพ์ด้วยระบบดั้งเดิม เพราะทำให้ต้นทุนและราคาต่อเล่มสูงขึ้น” ศาสตราจารย์ ดร.อรัญ กล่าว
การเอาชนะความท้าทายเหล่านี้ จึงเป็นที่มาของโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบงานพิมพ์ ลดคนและต้นทุน โดยทางสำนักพิมพ์ฯ ได้ตั้งหลักเกณฑ์การเลือกเครื่องพิมพ์ดิจิทัลที่สามารถเชื่อมต่องานกับหน่วยตัด (Cut Sheet) และเก็บเรียง (Stacking) เพื่อให้ได้ปึกเนื้อในหนังสือพร้อมผ่านกระบวนการเข้าเล่มได้ทันที เป็นการตัดขั้นตอนการพับและเก็บเรียงในระบบการผลิตแบบเดิมออกไป นอกจากนี้ ยังต้องเป็นระบบพิมพ์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าต่ำ ไม่มีการสูญเสียกระดาษระหว่างพิมพ์ ไม่ต้องใช้สารโซลเวนต์ในการล้างหมึก สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สารไอระเหยง่าย (VOCs) และของเสีย ได้อย่างเป็นรูปธรรมตามหลักเกณฑ์เข้าสู่ธุรกิจยั่งยืน (Sustainable Business)
แคนนอนจึงได้นำเสนอเครื่องพิมพ์อิงก์เจ็ตสีดิจิทัลความเร็วสูงแบบป้อนม้วนรุ่น Canon ColorStream 6700 Chroma ซึ่งมีความเร็วในการพิมพ์งานสูงสุดถึง 10 ล้านฟุตต่อเดือน โดยสามารถเชื่อมต่อกับระบบหลังพิมพ์เพื่อให้งานพิมพ์ถูกตัดและจัดเรียงเป็นตั้ง พร้อมสำหรับการเข้าเล่มได้ทันที อีกทั้งยังเป็นเทคโนโลยีที่สามารถเริ่มพิมพ์งานหน้าแรกได้ทันทีเมื่อเครื่องเริ่มทำงาน ซึ่งเป็นคุณสมบัติเฉพาะของแคนนอนเท่านั้น รวมถึงเทคโนโลยี Oce? Digi Dot ที่ช่วยในการพิมพ์ไล่เฉดสีสันได้อย่างสวยงาม เครื่องพิมพ์รุ่นนี้จึงตอบสนองความต้องการทั้งด้านระยะเวลาการผลิต คุณภาพงานพิมพ์ ต้นทุนการพิมพ์ (รวมถึงต้นทุนแฝง) ได้อย่างดีเยี่ยม
นางอรทัย นันทนาดิศัย กรรมการผู้จัดการ สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “สำนักพิมพ์จุฬาฯ มีการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อดิจิทัล และสื่อในรูปแบบอื่นโดยเน้นคุณภาพและคุณค่าทางวิชาการ ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม ทันสมัย มีประสิทธิภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการของมหาวิทยาลัย หน่วยงานภายนอก และหน่วยงานอื่น ๆ นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับนิสิตนักศึกษาจากสถาบันต่าง ๆ อีกด้วย การดำเนินงานของเราจึงต้องปรับตัวอยู่เสมอ จึงได้นำเสนอโครงการดิจิทัลทรานฟอร์เมชั่น ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมบริหารสำนักพิมพ์จุฬาฯ เปลี่ยนการปฏิบัติงานด้วยระบบดั้งเดิมมาเป็นระบบดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกำลังการผลิต ลดขั้นตอนในการทำงาน ลดเวลา ลดจำนวนผู้ปฏิบัติงาน เพิ่มความหลากหลายของงานพิมพ์และรองรับงานพิมพ์จำนวนน้อย ซึ่งระบบพิมพ์อิงก์เจ็ตป้อนม้วนความเร็วสูงของแคนนอนจะตอบโจทย์ในโครงการนี้ได้ สำนักพิมพ์ได้เริ่มปรับพื้นที่เพื่อรองรับเครื่องพิมพ์แคนนอน รุ่น Canon ColorStream 6700 Chroma นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 ติดตั้งปลายเดือนมกราคม 2565 และเริ่มผลิตงานจริงในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา 4 เดือนได้ผลิตงานไปแล้วกว่า 336 รายการ จำนวนพิมพ์ทั้งสิ้น 182,085 เล่ม จำนวนคลิ๊กชาร์ททั้งหมด 15,837,819 คลิ๊กชาร์ท”
นายณัฐพล รุ่งสมบูรณ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด กลุ่มผลิตภัณฑ์ โปรเฟสชั่นแนล พริ้นติ้ง บริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า “เราได้ทำงานร่วมกับสำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอย่างใกล้ชิดเพื่อออกแบบระบบให้ตอบโจทย์ได้อย่างสมบูรณ์ นอกจากคุณภาพของงานพิมพ์และประสิทธิภาพของเครื่องแล้ว ความแข็งแรงทนทานยังเป็นคุณสมบัติเด่นของเครื่องพิมพ์แคนนอนที่เราภูมิใจมากที่สุด ทั้งนี้การที่แคนนอนได้ควบรวมธุรกิจเครื่องพิมพ์กับโอเซ่ (Oce?) และมีฐานการผลิตเครื่องพิมพ์โปรเฟสชั่นแนลพรินติ้งทั้งหมดในประเทศเยอรมนี ทำให้แคนนอนก้าวขึ้นสู่การเป็นแบรนด์ผู้นำในตลาดเครื่องพิมพ์อิงก์เจ็ตโปรเฟสชั่นแนลพรินติ้งของโลก และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งในด้านมาตรฐานความแข็งแกร่ง ทนทานและความเสถียรในการทำงาน รวมถึงยังเป็นเครื่องพิมพ์ที่มีอัตราการสูญเสียทรัพยากรน้อยที่สุดอีกด้วย”
“แคนนอน รู้สึกยินดี และภาคภูมิใจมากที่สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมอบความไว้วางใจเลือกใช้ระบบพิมพ์ของแคนนอน โครงการนี้ถือเป็นต้นแบบการติดตั้งเครื่องพิมพ์ระบบป้อนม้วนอย่างสมบูรณ์แบบ สำหรับกลุ่มลูกค้าแคนนอนที่เป็นสถาบันการศึกษาของไทยโครงการแรก ซึ่งแตกต่างจากโครงการอื่นๆ ที่เป็นความร่วมมือในเชิงภาคอุตสาหกรรมระหว่างโรงพิมพ์และแบรนด์ ดังนั้น การส่งมอบและติดตั้งเครื่องพิมพ์รุ่น Canon ColorStream 6700 Chroma ที่สำนักพิมพ์จุฬาฯ จึงถือเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือครั้งสำคัญของแคนนอนเลยทีเดียว”
“หัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจของแคนนอน คือเราไม่ได้มองว่าผู้ซื้อสินค้าเป็นเพียงแค่ลูกค้าเท่านั้น แต่เป็นพันธมิตรธุรกิจที่จะเติบโตไปด้วยกัน รายได้หลักของแคนนอนไม่ได้มาจากการจำหน่ายอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ แต่รวมถึงการบริการที่เรามอบให้ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง การเป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำในระยะยาว รวมถึงการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ให้กับลูกค้าในอนาคต” นายณัฐพล รุ่งสมบูรณ์ กล่าว
ในยุคที่ทุกคนมองว่าวงการสิ่งพิมพ์ รวมถึงสื่อสิ่งพิมพ์สำหรับสถาบันการศึกษากำลังอยู่ในช่วงขาลงอย่างต่อเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของ E-book โดยทางสำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพิจารณาว่าหนังสือในแวดวงการศึกษาจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ กลุ่มหนังสือความรู้ทั่วไป และอีกกลุ่มคือหนังสือวิชาการขั้นสูง (High Academy) ซึ่งได้จากคณาจารย์ นักวิจัยและนักวิชาการทั่วประเทศ
“หลายคนตั้งคำถามว่าหากในอนาคต สถาบันหรือคณะต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยหันมาใช้แท็บเล็ตและ E-book ในการเรียนการสอนมากขึ้น จะส่งผลต่อยอดพิมพ์ตำราเรียนหรือไม่นั้น เรากลับมองว่าในความเป็นจริงแล้ว แท็บเล็ตจะถูกใช้ในการสืบค้นข้อมูลแบบสั้นๆ ที่ต้องการความรวดเร็วมากกว่า แต่ถ้าพูดถึงการศึกษาหาความรู้แบบที่ต้องอ่านต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ แล้ว หนังสือเล่มยังคงเป็นคำตอบอยู่ ประกอบกับศูนย์หนังสือจุฬาฯ ก็ยังให้ข้อมูลว่าหนังสือกลุ่มวิชาการขั้นสูงยังคงจำหน่ายได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เราเชื่อว่าระบบการพิมพ์หนังสือในแวดวงการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยยังคงไปต่อได้อีกนาน” ศาสตราจารย์ ดร.อรัญ กล่าวปิดท้าย
การติดตั้งเครื่องพิมพ์ดิจิทัลระบบอิงก์เจ็ตแบบป้อนม้วนความเร็วสูงนี้ นอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาและลดความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ แล้ว ยังช่วยเสริมศักยภาพระบบการพิมพ์ของสำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สามารถนำเสนอบริการอื่น ๆ ได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งทางสำนักพิมพ์ฯ กำลังพิจารณาการนำเสนอบริการสิ่งพิมพ์แบบ Security Printing หรือสิ่งพิมพ์ปลอดการปลอมแปลง ตลอดจนแบบฟอร์มทางธุรกิจ งานเอกสารเชิงพาณิชย์ สิ่งพิมพ์ประเภทข้อมูลแปรเปลี่ยน อาทิ ฉลาก คูปอง และอื่น ๆ รวมถึงงานพิมพ์ข้อสอบ ซึ่งจะสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว สะดวกสบายยิ่งขึ้น และสามารถรักษาความลับได้ดียิ่งขึ้นด้วย ซึ่งนั่นจะเปลี่ยนโฉมหน้าของสำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในอนาคตไปอย่างสิ้นเชิง
ที่มา: วิวาลดี้ อินทิเกรเต็ด พับลิค รีเลชั่นส์