AIS 5G จับมือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ ในการนำขีดความสามารถขององค์กร ทักษะความเชี่ยวชาญของบุคลากร และโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลอย่างโครงข่ายอัจฉริยะ AIS 5G เข้ามาเชื่อมต่อ ส่งเสริมการเรียนรู้ การศึกษาวิจัยของนักศึกษาและบุคลากร เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านดิจิทัลเทคโนโลยี แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ สร้างพื้นที่สร้างสรรค์ของการทำงานด้านนวัตกรรมแห่งใหม่ของภาคอีสาน ที่จะทำให้งานวิจัยและนวัตกรรมดิจิทัลถูกนำมาทดสอบจริงบนโครงข่าย AIS 5G จนนำไปสู่การสร้างบริการดิจิทัลเซอร์วิสที่สามารถให้บริการได้ในเชิงพาณิชย์ได้ในอนาคต
นายมหัณณพ อภินันทนพงศ์ หัวหน้างานปฏิบัติการภูมิภาค-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ AIS กล่าวว่า “AIS มีเป้าหมายในการนำเทคโนโลยี 5G มาพัฒนาเพื่อยกระดับประสบการณ์ดิจิทัล และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของทุกภาคส่วนในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการศึกษา ที่นับว่าเป็นรากฐานสำคัญต่อการเติบโตของประเทศในอนาคต จึงทำให้ที่ผ่านมา AIS ทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาชั้นนำทั่วประเทศเพื่อเป็นการส่งต่อองค์ความรู้ และนำศักยภาพด้านดิจิทัลเทคโนโลยีของเราขยายผลให้เกิดการต่อยอดจากผลงานหรืองานวิจัยของบรรดานักศึกษาและบุคลากร และครั้งนี้เราได้ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ที่มี 5 วิทยาเขตกระจายอยู่ทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้สร้างสรรค์ด้านเทคโนโลยี บ่มเพาะขีดความสามารถของนักศึกษา บุคลากรของมหาวิทยาลัยให้มีทักษะและลงมือทำจริงกับทีมงานของ AIS ที่พร้อมแบ่งปันองค์ความรู้เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ก่อให้เกิดการพัฒนาร่วมกันได้อย่างยั่งยืน
ด้าน รศ.ดร.ณรงค์ศักดิ์ ธรรมโชติ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน กล่าวว่า “จากการที่ทหาวิทยาลัยฯ ได้ประกาศตัวเป็นมหาวิทยาลัยด้านดิจิทัลนั้น แน่นอนว่าเรื่องของเทคโนโลยี นวัตกรรม ทางด้านของโครงข่าย 5G มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยส่งเสริมให้การพัฒนามหาวิทยาลัยสู่ดิจิทัลเกิดความสมบูรณ์ได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งการได้ทำความร่วมมือกับบริษัท AIS ครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมวิจัย งานบริการวิชาการ ด้านการจัดการเรียนการสอน การจัดการสารสนเทศองค์กร รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ของทั้งบุคลากรและนักศึกษา ทั้งยังส่งเสริมด้านการฝึกงานฝึกสหกิจศึกษาของนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคงอีสานอีกด้วย”
นายมหัณณพ กล่าวในช่วงท้ายว่า “การทำงานร่วมกับภาคการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจของ AIS ที่มุ่งทำงานเพื่อนำโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลมาสร้างประโยชน์กับภาคส่วนต่างๆ เชื่อมต่อการทำงานเพื่อส่งเสริมศักยภาพของภาคการศึกษาทำให้นักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยได้เห็นประสิทธิภาพการทำงานของโครงข่ายอัจฉริยะ AIS 5G ที่สามารถต่อยอดจากไอเดียสร้างสรรค์หรือผลงานวิจัยให้เกิดขึ้นจริงได้ เราเชื่อว่าความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญต่อการวางรากฐานด้านการศึกษาให้สอดรับต่อบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดยั้ง”
ที่มา: เอไอเอส