AIS ยังคงเดินหน้าอย่างตั้งใจในการเป็นฟันเฟืองสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตและการดูแลสุขภาพคนไทย ซึ่งในฐานะ Digital Life Service Provider ได้นำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาสนับสนุนภาคสาธารณสุข โดยได้ร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ผ่านแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ เพื่อเป็นตัวช่วยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม.ในการปฏิบัติงานรับมือกับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในไทย สร้างมาตรฐานใหม่ในด้านสาธารณสุขพื้นฐานอย่างเท่าเทียม ให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้นด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่เข้ามาช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้อย่างเท่าเทียม และที่สำคัญเป็นการสร้าความตื่นตัวในการป้องกันโรคดังกล่าวในอนาคต
นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า “AIS มีความเชื่อว่าเทคโนโลยีดิจิทัลจะเข้ามาช่วยลดความเลื่อมล้ำในสังคมได้ โดยการนำเทคโนโลยีไปการสร้างการเรียนรู้ให้กับเจ้าหน้าที่ผ่านแอปพลิเคชัน อสม. ออนไลน์ เพื่อให้เกิดการเข้าถึงข้อมูลและการเข้าถึงการให้บริการในทุกภาคส่วน โดย AIS ได้มีการพัฒนาแอปพลิเคชันมาเป็นเวลา 7 ปี พร้อมมีทีม AIS อาสาซึ่งเป็นพนักงาน AIS ลงพื้นที่สอนเจ้าหน้าที่ อสม. ในการใช้แอปพลิเคชัน ซึ่งออกแบบให้ใช้งานง่าย พร้อมกับพัฒนาฟีเจอร์ต่างๆ ตอบโจทย์การทำงานมากขึ้น และได้มีการเพิ่มฟีเจอร์สำรวจลูกน้ำยุงลาย เนื่องจากเล็งเห็นถึงโรคดังกล่าวที่มีความเสี่ยงสูง วันนี้ฟีเจอร์ดังกล่าวได้เข้าถึงการสำรวจแหล่งพาหะได้อย่างแม่นยำและเรียลไทม์ พร้อมนำข้อมูลเข้าสู่ระบบออนไลน์เกิดการประสานงานต่อไปยัง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและสาธารณสุขจังหวัดได้อย่างรวดเร็วทันต่อการเฝ้าระวัง ป้องกัน และรักษาผู้ป่วยในพื้นที่”
ดร.พญ.ฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กล่าวว่า “ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนให้ อสม. มีการปรับตัวสู่การเป็นดิจิทัลไลฟ์มากขึ้น โดยแอปพลิเคชันนี้จึงสอดคล้องกับแนวทางในการทำงานอย่างยิ่ง ผ่านการทำงานของ 3 หมอ เริ่มจากหมอคนที่ 1 อย่าง อสม ด้วยการรายงานผลผ่านแอปพลิเคชัน ทำลายแหล่งที่อยู่ของยุงลายซึ่งเป็นพาหะ จากนั้นส่งต่อสู่หมอคนที่ 2 คือ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่โรงพยาบาลสงเสริมสุขภาพตำบลในการประเมินอาการหากมีอาการหนัก ก่อนจะส่งต่อสู่หมอคนที่ 3 ในการรักษาคนไข้อย่างทันท่วงทีเพื่อลดการเสียชีวิต ตามการบริหารงานภายใต้นโยบายของรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ด้วยความสำคัญดังกล่าวเราได้ทำงานร่วมกับ AIS ในการนำ แอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ผ่านฟีเจอร์สำรวจลูกน้ำยุงลายเข้ามาปรับใช้เพื่อให้บุคลากรด้านสาธารณสุขสามารถดูแลประชาชนได้ทันเวลามากขึ้น ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากในการช่วยควบคุมโรคไข้เลือดออก
ดร.พญ.ฉันทนา กล่าวเสริมต่อไปว่า “สำหรับในประเทศไทยโรคไข้เลือดออกเป็นโรคติดต่อที่ระบาดอย่างต่อเนื่องมากว่า 70 ปี ด้านสถานการณ์โรคไข้เลือดออกของประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 8 มิถุนายน 2565 พบว่ามีผู้ป่วยสะสม 3,386 ราย ซึ่งเมื่อเทียบในช่วงเดียวกันกับในปี 2564 พบว่ายอดผู้ป่วยสะสมลดลง 21% โดยวันนี้ฟีเจอร์สำรวจลูกน้ำยุงลายเข้ามาสร้างประโยชน์ในแง่ของการนำข้อมูลไปวิเคราะห์ร่วมกับจำนวนผู้ป่วยในพื้นที่ เพื่อคาดการณ์การเกิดการระบาดในพื้นที่ เพื่อแบ่งพื้นที่เสี่ยงสูง เสี่ยงปานกลาง และเสี่ยงต่ำ และนำไปใช้ในการเฝ้าระวังรวมทั้งประเมินปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดต่อ”
“ทั้งนี้ในวันที่ 15 มิถุนายนของทุกปี ถือเป็นวันไข้เลือดออกอาเซียน” (ASEAN Dengue Day) ทางกรมควบคุมโรคอยากขอเชิญชวนให้ประชาชนหันมาดูสุขลักษณะภายในบ้านเพื่อร่วมกันป้องกันการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว อย่างไรก็ดีในอนาคตทางกรมฯ ได้วางแผนที่จะใช้ข้อมูลผลสำรวจลูกน้ำยุงลายจากแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ ไปวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา เช่น ปริมาณน้ำฝน ความชื้น เป็นต้น เพื่อใช้ในการชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงของโรคไข้เลือดออกที่แม่นยำมากขึ้น” ดร.พญ.ฉันทนา
“ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาฟีเจอร์สำรวจลูกน้ำยุงลาย ได้กลายเป็นหนึ่งเครื่องมือสำคัญในการรับมือกับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกไทยมากกว่า 1 ร้อยล้านครั้ง จากจำนวน อสม. ทั่วประเทศกว่าล้านคน มีผู้ใช้แอปพลิเคชันในการทำงานประมาณ 500,000 คน ซึ่งขอชื่นชมในส่วนนี้ที่เป็นบทพิสูจน์การเข้าถึงอย่างแท้จริง โดยไม่เพียงแต่สร้างการมีส่วนร่วมเพียงแค่ในระดับครัวเรือนเท่านั้น แต่ยังขยายไปสู่ระดับคอมมูนิตี้ AIS ยังคงยืนยันที่พร้อมจะทำงานกับบุคลากรสาธารณสุขทุกภาคส่วนที่ต้องทำงานในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อสม. ให้สามารถมีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมาช่วยให้ภารกิจดูแลสุขภาพคนไทย อีกทั้งยังพร้อมสนับสนุนในด้านสาธารณสุขอื่นๆ เพื่อร่วมยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนด้านสาธารณสุขให้ดีขึ้นด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและจะก้าวเดินต่อไปอย่างดีที่สุด” นางสายชล กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา: โพลีพลัส พีอาร์